วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แนวร่วมนิสิต-นักศึกษา รวมพลังเดินสายค้าน ‘ม.นอกระบบ’

ที่มา ประชาไท

กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เดินสายรณรงค์ใน “ม.ขอนแก่น” แสดงจุดยืนไม่ให้ “มหาวิทยาลัย” กลายเป็น “บริษัท มหาวิทยาลัย จำกัด” เผยอยากมีชีวิตที่สวยงามในมหาวิทยาลัยที่รับใช้ประชาชน

วันนี้ (11 ธ.ค.54) กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายนักศึกษาจาก 11 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 80 คน รวมพลังแสดงจุดยืนคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยเคลื่อนขบวนไปที่ตึกอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อส่งสารถึงอธิการบดีฯ คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสถาบันการศึกษาของรัฐ ออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ออกนอกระบบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าตึกอธิการบดีฯ กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาฯ ได้นำป้ายผ้ามาปูเพื่อเปิดให้นักศึกษาเขียนข้อความส่งถึงอธิการบดีฯ และให้กำลังใจกลุ่มเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกมาเครื่องไหวในเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อีกทั้งมีการพับจรวดกระดาษเพื่อเป็นการทวงถามถึงการเดินทางมายื่นหนังสือต่อ อธิการบดีเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่าเสียงของเหล่านักศึกษาจะดังไปถึงอธิการบดีฯ หรือไม่ อย่างไรก็ตามในวันนี้เป็นวันหยุดของมหาวิทยาลัย จึงไม่มีการออกมารับข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาฯ
จากนั้น กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาฯ ได้นำป้ายผ้าที่เขียนเสร็จเคลื่อนขบวนไปยังศูนย์อาหารและบริการมหาวิทยาลัย ขอนแก่น เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ข้อมูลกับนักศึกษาและประชาชนทั่วไปให้ในรับ ทราบถึงจุดยืนของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนต่อไปยังบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำการติดป้ายผ้า “หยุด บริษัท ม.ขอนแก่น จำกัด” ที่ป้ายมหาวิทยาลัย พร้อมติดสติ๊กเกอร์สีชมพูไว้ที่ป้ายมหาวิทยาลัยด้วย
นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว หนึ่งในกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาฯ กล่าวว่า การติดสติ๊กเกอร์สีชมพูนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเรามีความคาดหวังในการเรียนรู้และมีชีวิตที่สวยงามใน มหาวิทยาลัยที่รับใช้ประชาชน เราอยากมองโลกที่สดใส แม้ในตอนนี้จะยังทำอะไรไม่ได้มากมาย แต่สิ่งที่ทำได้คือการออกมาร่วมกันทำกิจกรรมตรงนี้เพื่อแสดงพลัง
นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงการออกมาร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า ส่วนตัวเขาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาตั้งแต่ปี 2551 และถึงปัจจุบันผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เป็นจริงตามที่เคยคาดการณ์ไว้ เช่นในเรื่องค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นมาก ขณะที่สภาพแวดล้อมทางการศึกษากลับไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนมากขึ้น กว่าเดิมดังที่เคยมีการกล่าวอ้างก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นยังพบว่าการกำหนดนโยบายและอัตราค่าจ้างของมหาวิทยาลัยก็ไปขึ้นกับ สภามหาวิทยาลัยที่มีองค์ประกอบเป็นคนคณะอาจารย์และบุคคลภายนอก โดยมีอธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
จากกรณีตัวอย่างที่มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพานำมาบอกเล่าให้กับ เพื่อนในเครือข่ายถึงการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทำให้เห็นปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้น อีกทั้ง ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของมหาวิทยาลัยบูรพา ยังระบุถึงการตั้งบริษัทของมหาวิทยาลัยเพื่อนำเงินมาใช้บริหารจัดการ ทำให้เกิดเป็นคำถามต่ออุดมการณ์ที่แท้จริงของสถาบันการศึกษา
นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวในวันนี้เป็นกิจกรรมต่อจาก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ได้เข้ายื่นหนังสือระบุข้อเรียกร้องต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (คลิกอ่าน) ซึ่งเมื่อครบกำหนด 7 วัน ตามที่ระบุไว้ภายในหนังสือข้อเรียกร้อง ทางเครือข่ายคงต้องออกมาทำกิจกรรมกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในส่วนของเพื่อนกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาฯ ได้มีการพูดคุยกันว่า หลังจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยต่อไปคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจะมีการกระจายข่าวสารผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ในเฟซบุ๊ก
ทั้งนี้ เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อคัด ค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เขียนชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกรณีไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบการยื่น หนังสือข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักศึกษาในท้ายข่าวดังกล่าวของเว็บไซต์ ประชาไท
“ผมได้ชี้แจงประเด็นคำถามที่นักศึกษาถามทุกคำถามจนนักศึกษาที่มาไม่มี ประเด็นจะสอบถามเพิ่มเติมแล้วจึงได้เดินทางกลับ การที่ผมไม่เซ็นรับเอกสารเพราะไม่ใช่หน้าที่ของผม แม้หนังสือจากรัฐบาลที่ส่งมาก็มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ แล้ว และผมก็ได้ชี้แจงแล้วว่าคนที่จะรับจดหมายคือกองกลาง สำนักงานอธิการบดี” คำชี้แจงระบุ
อนึ่ง กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ประกอบด้วยเครือข่ายจาก 11 มหาวิทยาลัย ดังนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยมหิดล