วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ช่างน่าขำ ศักดินาอำมาตย์ ต้องการหยุดสังคมไทยไว้ที่ปลายยุคเกษตรกรรม

ที่มา thaifreenews

บทความโดย..ลูกชาวนาไทย

ผมได้ศึกษาประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐกิจและการเมืองมาพอสมควรทีเดียว จนได้ข้อสรุปจากประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศยุโรปว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านจากยุคเกษตรกรรมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม คนชั้นล่างที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจะต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อบวกเข้ากับลัทธิระบอบประชาธิปไตย ที่เน้นการเข้าสู่อำนาจรัฐโดยวิธีการเลือกตั้ง ในที่สุดแล้ว คนชั้นล่างที่มีจำนวนมากกว่า และเกิด "จิตสำนึกทางการเมือง" ขึ้น พวกเขาจะใช้สิทธิในการโหวต ลงคะแนนออกเสียงเลือกพรรคที่ให้ประโยชน์แก่พวกเขามากที่สุด และจะเลือกผู้แทนของเขาอย่างเป็นกลุ่มก้อน เพื่อให้มีพลังในการดำเนินนโยบายต่างๆ ตามที่คนรากหญ้าต้องการ ซึ่งก็คือนโยบายที่โปรคนรากหญ้าต่างๆ เช่น นโยบายประชานิยม หรือ นโยบายพวก Social Safety Net ต่าง ๆ ซึ่งเราก็ได้เห็นในประเทศตะวันตกต่างๆ

คนชั้นล่างในช่วงแรกจะออกเสียงลงคะแนนตามระบบอุปถัมภ์คือ เลือกตัวบุคคลมากกว่าเลือกพรรคเพราะในยุคเกษตรกรรม คนชั้นล่างมีความผูกพันกับระบบอุปถัมป์มาแต่เดิมในสังคมเกษตรกรรม ความต้องการในชุมชนยังคงมีเพียงพวกโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน โรงเรียน ไฟฟ้าเป็นต้น นโยบายรัฐบาลยังไม่มีผลกระทบต่อคนรากหญ้ามากเท่าใดนั้น หากฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำไร่ไถ่นาได้ คนก็ไม่เดือดร้อนเท่าใดนัก สส.ที่สามารถนำความเจริญเข้าหมู่บ้าน ชุมชนได้ ชาวบ้านจะเลือกเข้าไปเพื่อทำสิ่งเหล่านี้

400

แต่เมื่อสังคมพัฒนาไปมากขึ้น ประเทศเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ลูกหลานของชาวนาเหล่านี้อพยพเข้ามาทำงานในเมือง ในช่วงแรกๆ ก็เป็นการเข้ามาหางานทำตามฤดูกาล พอถึงฤดูทำนา ลูกหลานคนชนบทเหล่านี้ก็กลับไปทำนากับพ่อแม่ พ้นหน้านา ก็เข้าเมือง เป็นอยู่อย่างนี้ จนเกิด Generation ที่สองคือลูกของคนเหล่านี้ที่มักเกิดขึ้นในเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ไม่กลับไปทำนาอีกแล้ว โครงสร้างสังคมก็เปลี่ยนไป

เมื่อประเทศเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น คนเดินทางไปมาระหว่างชนบทกับเมือง ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมป์เดิมเสื่อมลงไป คนกึ่งชนบทกึ่งเมืองเหล่านี้ไม่ได้ผูกพันอยู่กับระบบเดิมอีกต่อไป

ดังนั้น พวกเขาก็จะเกิดการเรียนรู้ว่า การเลือกตั้งนั้นมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา พวกเขาก็จะค่อยๆ ออกเสียงเลือกระบบพรรคมากกว่าเลือกตัวบุคคล เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง สมมุติว่าเป็น X ปี พฤติกรรมการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อสังคม สัดส่วนของคนที่เลือกพรรคมีมากกว่าเลือกบุคคลในระบบอุปถัมป์ สุดท้ายระบบการเมืองแบบพรรคใหญ่จะเกิดขึ้น

คนชนบทต้องการนโยบายที่เราเรียกกันว่าแนวทางเสรีนิยมหรือ Liberal ซึ่งสุดท้ายพรรคการเมืองแนว Liberal ที่เน้นให้คนชั้นล่างเข้ามามีส่วนทางสังคม มีรัฐสวัสดิการ หรืออื่นๆ เป็นต้น ก็จะชนะเลือกตั้งจนได้

ในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน คนชั้นนำที่เคยมีอำนาจในสังคมเดิม จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายอาจเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ในหลายประเทศ เช่นเหมือนอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ที่เรียกว่า Glory Revolution ซึ่งในยุคของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ที่ตั้งตัวเป็น Lord Protector of England (สมัยนั้นยังไม่มีระบอบประธานาธิบดี) จนยุคนั้นอังกฤษว่างกษัตริย์ถึง 5 ปี ทีเดียว นั้นคือ สงครามการเปลี่ยนผ่านของสังคมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ซึ่งในที่สุดมันก็ไม่มีใครสามารถต่อต้านการเปลี่ยนแปลงได้ พรรคแนวทางเสรีนิยม ก็ต้องเข้ามาแทนที่กลุ่มอำนาจเดิมอยู่ดี มันคือพัฒนาการทางสังคม

บางประเทศก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ได้ดี เพราะ “คนชั้นนำ” รู้จักปรับตัวและเข้าใจ “สัจธรรม” การเปลี่ยนแปลงของสังคม และไม่ต่อต้าน ซึ่งประเทศแบบนี้ก็จะโชคดีไม่เกิดสงครามกลางเมือง เพราะไม่ว่าจะอย่างไร คนส่วนใหญ่ก็ต้องชนะอยู่วันยังค่ำ คนชั้นนำ อาจต้านทานได้ชั่วเวลาหนึ่ง แต่มันเป็นแค่ปัญหาของเวลาเท่านั้น แต่พวกเขาหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ประเทศต่างๆ ในยุโรปก็เผชิญสภาพเช่นนี้เหมือนกัน คือ สังคมมันเปลี่ยนผ่านระบบเลือกตั้ง ทำให้อำนาจไปตกอยู่ในมือประชาชน ในช่วงแรกประชาชนยังไม่มีการเรียนรู้ ก็จะขายสิทธินี้ของตน เกิดระบบการซื้อเสียงเป็นต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป X ปี สุดท้ายก็เกิดการเรียนรู้จนได้

เมืองไทย "คนรากหญ้าของไทย" ได้เรียนรู้ไปแล้ว โดยใช้เวลาตั้งแต่ปี 2475-2540 ในการพัฒนาการเรียนรู้ และสุดท้ายในยุคทักษิณที่คนรากหญ้าตระหนักในอำนาจของตนก็มาถึง
แม้ว่าจะมี "อำนาจทางจารีต" ที่บังเอิญค่อนข้างแข็งในเมืองไทย มากกว่าอังกฤษช่วงนั้น ทำให้เกิดปฏิกิริยาย้อนกลับ ในช่วงปี 2549

แต่ผมไม่เชื่อว่า "ปฏิกิริยาย้อนกลับ" นี้จะสามารถ หยุดยั้งวิวัฒนาการได้ อย่างมากก็ย้อนกลับได้ชั่วคราว ผมไม่เชื่อว่าสังคมไทยที่ "เรียนรู้ไปแล้ว" จะหยุดนิ่งอยู่ที่ปี 2551 ได้

ผมคิดแล้วช่างน่าขำจริงๆ ที่พวกเขาจะหยุด "สังคมไทยไว้ที่ปลายยุคเกษตรกรรม” ตลอดไป ซึ่งก็คือการต่อต้านทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคมอย่างแท้จริง ผมมั่นใจว่า อย่างมากก็หยุดได้ "เท่ากับเวลาที่เหลืออยู่ของอำนาจทางจารีต" นั่นแหละครับ เหลือไม่กี่ปีหรอกครับ

การมองข้ามพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ปลายขอบฟ้า แล้วเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม นั่นคือผู้นำที่มีอัจฉริยะภาพสูงส่ง ประเทศไทยเผชิญปัญหาวิกฤติเช่นนี้มาแล้วนาสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ที่สังคมในระดับโลกและภูมิภาคเริ่มเปลี่ยนแปลง แต่สังคมไทยยังตกอยู่ในสังคมแบบจารีต โครงสร้างสังคมยังเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งก็คือยุคกลางหรือยุค Medieval ของยุโรปแบบที่เราเห็นในหนังเรื่อง Brave heart นั่นเอง

แต่โชคดี รัชกาลที่ 4 ไม่ได้ครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 2 ต้องหนีราชภัยไปบวช 27 ปี ช่วงที่บวชอยู่นั้น ท่านได้ติดต่อแลกเปลี่ยนกับฝรั่งมิชชันนารีและเรียนภาษาอังกฤษและวิทยาการตะวันตก ทำให้โลกทรรศน์ของท่านเปลี่ยนไป “หลุดพ้นจากยุคกลางโดยสิ้นเชิง” ท่านมองเห็นพายุการเปลี่ยนแปลงที่ปลายขอบฟ้า และเตรียมตัวปรับเปลี่ยนประเทศไทยทันทีที่ท่านมีอำนาจและปลูกฝังให้ ร.5 ดำเนินการปรับเปลี่ยนสังคมไทยต่อมา

เราไม่เห็น “อัจฉริยภาพ” ของคนที่มองข้ามไปที่ปลายขอบฟ้าได้อีกแล้วในยุคนี้

พวกเขากับทำแบบสมัยปลายรัชกาลที่ 3 คือพยายามต่อต้านการเปลี่ยนแปลงรักษาสังคมเดิมไว้ สุดท้ายก็ไม่ต่างจากประเทศต่างๆ รอบประเทศไทย คือ โดนยึดเป็นเมืองขึ้น ราชวงศ์สูญสลายไปหมดสิ้น

ผมรู้สึกว่าทักษิณ ชินวัตร คือคนหนึ่งที่สามารถมองข้ามปลายขอบฟ้าไปได้ แต่เขาไม่มีพลังเพียงพอที่จะนำสังคมรับกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จนถูกอำนาจทางจารีตทำร้ายเอาอย่างรุนแรง แต่ในที่สุดแล้ว เชื่อเถอะว่า สังคมต้องหมุนข้ามจุดนี้ไปจนได้ และทักษิณหากไม่ตายไปก่อนก็จะชนะในที่สุด

450