วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เดินหน้าฝ่าคลื่นลม หรือ ล่มปากอ่าว

ที่มา ไทยรัฐ

ภาคปฎิบิติหลังแถลงนโยบาย "ท้าทาย" ภาวะผู้นำ "อภิสิทธิ์"

ส่งท้ายปีเก่า สำหรับรัฐบาลใหม่

ภายใต้สภาวการณ์การเมืองที่เต็มไปด้วยสารพัดวิกฤติ และความแตกแยกในสังคม

มีปัญหาที่รอต้อนรับรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อยู่เต็มไปหมด

เริ่มจากวันนี้ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นัดรวมพลคนเสื้อแดง ที่ท้องสนามหลวง

ประกาศจุดยืนต่อต้านรัฐบาลเต็มที่ ขู่ยกพลไปชุมนุมประท้วงหน้ารัฐสภาในวันแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 29 ธันวาคม

ขณะเดียวกัน ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา วันที่ 29-30 ธันวาคมนี้

ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ก็เตรียมพร้อมที่จะอภิปรายชำแหละนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ในช่วงส่งท้ายปีเก่า 2551 รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์จะต้องเผชิญศึกจากทั้งนอกสภาและในสภาไปพร้อมๆกัน

สำหรับศึกนอกสภา

กลุ่มม็อบเสื้อแดงที่ไม่พอใจกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ปฏิบัติ การพลิกขั้วการเมือง

โดยผนึกเสียง ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ได้แก่ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคกิจสังคม และกลุ่มเพื่อนเนวิน จัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค 1 กลุ่ม

ผลักให้พรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชาชนเดิม ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน

แน่นอน เมื่อแกนนำกลุ่ม นปช.ส่วนใหญ่ เป็นนักการเมืองอยู่ ในเครือข่ายพรรคเพื่อไทย ก็ต้องแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน ระดมพลคน เสื้อแดงออกมาขวางรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นค่ายการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม การที่ม็อบเสื้อแดงประกาศรวมพลที่ท้องสนามหลวง และจะเคลื่อนพลไปชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันแถลงนโยบายรัฐบาล วันที่ 29 ธันวาคมนี้

ทำให้สังคมรู้สึกไม่สบายใจ

เพราะหวั่นวิตกว่าอาจเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายที่จะนำไปสู่ความรุนแรง

เหมือนเมื่อครั้งเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ที่ม็อบเสื้อเหลืองปิดล้อมรัฐสภา ในวันแถลงนโยบายรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ

ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเปิดทางให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าประชุมรัฐสภา ส่งผลให้มีคนตายและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

แม้ในครั้งนี้ทางรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า จะไม่ใช้ ความรุนแรงใดๆกับม็อบเสื้อแดงที่จะมาปิดล้อมรัฐสภา แต่สังคมก็ยังหวาดผวา

เพราะเหตุการณ์เพิ่งผ่านมาหมาดๆ ภาพรอยเลือด คนมือขาด ขาขาด ยังติดตา

ที่สำคัญ แม้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้ กรอบกฎหมาย ถือเป็นสิทธิที่จะทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังเข้าสู่ห้วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

ความรู้สึกของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ ความวุ่นวายทางการเมือง การชุมนุมประท้วงยืดเยื้อของม็อบเสื้อเหลือง ที่บุกยึดทำเนียบฯ ปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ

สอดแทรกด้วยเหตุรุนแรงหลายครั้งหลายหน คนไทยห้ำหั่นกันเอง ปะทะนองเลือด ล้มตาย และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

เครียดจัดกันมาทั้งปี

เมื่อเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เวียนมาถึง ทุกคนก็อยากผ่อนคลาย อยากสัมผัสกับความสุขและความเบิกบานใจให้เต็มที่

โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การเมืองได้คลี่คลายลงไประดับหนึ่งแล้ว ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุตึงเครียดขึ้นมาอีก

อารมณ์ของสังคมตรงนี้ เป็นสิ่งที่ม็อบเสื้อแดงต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน

ถ้าจะเอาแต่ความรู้สึกของตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่สนใจความรู้สึกของสังคม ก็อาจจะนำไปสู่สภาวะขาดแนวร่วม

เพราะสังคมไม่ขานรับ

ส่วนทางด้านศึกในสภา

หลังจากรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้ว ก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดินจะต้องแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา จึงจะได้อำนาจในการบริหารประเทศเต็มสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

โดยวันที่ 29-30 ธันวาคมนี้ นายกฯอภิสิทธิ์จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ให้ครบตามกระบวนการโดยไม่มีการลงมติ

เพื่อที่เริ่มปีใหม่ 2552 รัฐบาลจะได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาของประเทศได้เต็มลูกสูบทันที

เพราะก็อย่างที่เห็นๆกัน ประเทศมีปัญหาสารพัดวิกฤติอยู่ท่วมหัว ดังนั้น รัฐบาลจะต้องทำงานอย่างหนักและรวดเร็ว ให้ทันต่อเหตุการณ์และปัญหาที่รออยู่

ส่วนจะบริหารแก้ไขปัญหาไปได้แค่ไหน ประสบผลสำเร็จหรือไม่ ยังไม่รู้

แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำ

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา แม้รัฐธรรมนูญกำหนดว่าไม่ต้องมีการลงมติ แต่ ส.ส.และ ส.ว.ก็มีสิทธิอภิปรายสนับสนุนหรือตำหนิติติงนโยบายของรัฐบาล

และที่ประกาศจองกฐินเอาไว้ ก็คือ ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้เตรียมจัดทีมอภิปรายไว้หลายคน โดยมอบหมายให้ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง อดีต รมว.สาธารณสุข เป็นหัวหน้าทีม

แน่นอน จากผลของการพลิกขั้วการเมืองที่ทำให้คนที่อยู่ ซีกรัฐบาลเก่า ต้องกลายมาเป็นฝ่ายค้าน ย่อมเป็นแรงบวกให้การอภิปรายเข้มข้นมากขึ้น

และจากร่องรอยที่เห็นชัดเจนว่านอกจากจะมีการอภิปราย เนื้อหาของนโยบายรัฐบาลแล้ว

การอภิปรายนโยบายรัฐบาลครั้งนี้ ฝ่ายค้านยังหมายหัวเตรียมถล่มรัฐมนตรีที่เป็นคนของพรรคแกนนำอย่างน้อย 4 คน

คนแรก นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กรณีที่ไปพูดกับทูตานุทูตและสื่อต่างประเทศ ในทำนองการชุมนุมปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเรื่องสนุก ดนตรีไพเราะ อาหารอร่อย

แน่นอน ปมนี้ถือเป็นเรื่องร้อน เพราะการพูดเช่นนี้ทำให้นานาประเทศที่เคร่งครัดในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และมองว่าสนามบินเป็นผลประโยชน์ร่วมสากล

การชุมนุมประท้วงปิดสนามบินส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งกับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ การค้า การส่งออก ได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล

เรื่องอย่างนี้ต่างประเทศซีเรียสมาก การที่นายกษิตพูดอย่างนั้น ไม่มีใครรับได้

ต้องโดนฝ่ายค้านถล่มในสภาแน่นอน ถือเป็นแต้มลบด้านต่างประเทศ

เป็นประเด็นที่ท้าทายภาวะผู้นำของนายกฯอภิสิทธิ์อย่างยิ่ง

คนที่สอง คือ นายวีระชัย วีระเมธีกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่เป็นคนนอกเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในโควตาพรรคประชาธิปัตย์ จนกลายเป็นปมทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรค

มีการปูดข้อมูล 80 ล้านบาท และ ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์บางคนออกมาประชดประชัน ประกาศจะซื้อธนาณัติเดือนละ 500 บาท ส่งใช้หนี้ 1 แสนปี

พร้อมกับเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นทุนครอบงำการเมือง

แม้ล่าสุด นายวีระชัยได้ออกมาปฏิเสธเรื่องการบริจาคเงินให้พรรคเพื่อแลกกับตำแหน่งรัฐมนตรี และทางคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยืนยันแล้วว่าไม่มีการบริจาค

แต่ปมเรื่องทุนครอบงำพรรค ก็ยังเป็นประเด็นที่ค้างคาใจกันอยู่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องผลงานหรือนโยบาย แต่เป็นเรื่องของจริยธรรมการเมือง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านว่ามีข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ที่จะทำให้สังคมคล้อยตาม

คนที่สาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม รัฐมนตรีคนนอกในโควตาพรรคประชาธิปัตย์

โดนฝ่ายค้านตั้งเป้าถล่มในปมเกี่ยวข้องต่อเนื่องกับผู้นำเหล่าทัพ ที่ฝ่ายค้านตั้งป้อมวิจารณ์ว่าอยู่เบื้องหลังเกมพลิกขั้วการเมือง

แน่นอน ในฐานะผู้นำเหล่าทัพเป็นข้าราชการประจำ ไม่มีหน้าที่มาเกี่ยวข้องกับการเมือง

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า หมวกอีกใบของผู้นำเหล่าทัพ ก็คือ ฝ่ายความมั่นคง มีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาราชบัลลังก์

ท่ามกลางสถานการณ์ที่บ้านเมืองแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้นำเหล่าทัพประกาศชัดไม่ปฏิวัติยึดอำนาจ แถมออกมาประกาศต่อสังคมให้รัฐบาลชุดที่แล้วแก้ปัญหาวิกฤติประเทศด้วยการยุบสภา-ลาออก

การที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาเป็นประเด็นในการอภิปราย ถือเป็นเรื่องนานาจิตตัง

แต่ไม่ได้กระทบต่อภาวะผู้นำของนายกฯอภิสิทธิ์

สำหรับคนที่สี่ ก็คือ ตัวนายกฯอภิสิทธิ์เอง ที่ฝ่ายค้านตั้งป้อมขุดเรื่องเก่าว่าด้วยเรื่องการหนีทหารมาเป็นประเด็นโจมตี

รวมไปถึงเรื่องประเด็นไฮแจ๊คตั้งรัฐบาล การรักษาความสมดุลในการแบ่งโควตารัฐมนตรี ความอ่อนประสบการณ์ในการบริหาร รวมถึงการลอกเลียนแบบนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดที่แล้ว

น้ำหนักการอภิปรายของฝ่ายค้าน กับน้ำหนักในการชี้แจงของนายกฯ สังคมจะเชื่อถือใคร โน้มเอียงไปทางไหน

คงต้องไปวัดกันในวันแถลงนโยบาย

อย่างไรก็ตาม การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในครั้งนี้ ที่สุดแล้วก็คงจะผ่านพ้นไปได้ เพราะไม่ต้องมีการลงมติให้ความเห็นชอบ

รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ได้เดินเครื่องทำงานแน่ๆในปี 2552

พี่น้องประชาชนฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ให้สบายใจ กันได้

แต่สำหรับพฤติกรรมของรัฐมนตรีบางคนที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปราย ก็จะเป็นเรื่องที่ท้าทายภาวะผู้นำของนายกฯอภิสิทธิ์ต่อไป

และจะทำให้แต้มบวกที่เหลือน้อยลงตอนตั้ง ครม. ลดน้อยลงไปอีก

เหนืออื่นใด หลังจากแถลงนโยบายไปแล้ว ถ้ารัฐบาลไม่ สามารถขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เป็นจริงได้

ภาวะผู้นำของ “อภิสิทธิ์” ก็จะหมดไป

และรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องจบไปด้วย.

"ทีมการเมือง"