วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552

หา 'แพะ'มารับแทน ปลาป๋องเน่า โบ้ยบริษัทรับสัมปทาน

ที่มา ไทยรัฐ

ยังคงเป็นประเด็นปริศนากรณีความไม่ชอบมาพากล ของปลากระป๋องเน่ายี่ห้อ “ชาวดอย” ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำไปบริจาคชาวบ้านตำบลชัยบุรี จังหวัดพัทลุง ทั้งที่ฉลากบนกระป๋องระบุผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีระยะเวลาหมดอายุอีก 3 ปี โดย อย. ยังพบพิรุธไร้ตัวตนบริษัทผู้จัดจำหน่ายและบริษัทผู้ผลิต ตามที่อยู่ซึ่งระบุบนกระป๋อง ขณะที่นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ออกโรงแก้เกี้ยวว่า เป็นเพราะบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานจัดซื้อจัดจ้างส่งของเน่าแจกชาวบ้านผิดสเปกที่เสนอกระทรวง และขอเวลาจะชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 19 ม.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 ม.ค. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เปิดแถลงความคืบหน้าการสอบสวนเรื่องปลากระป๋องเน่า ว่า นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนที่จังหวัดพัทลุง กรณีปลากระป๋องไม่ได้คุณภาพให้รับทราบแล้ว หลังจากที่ได้สั่งการให้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 14 ม.ค. โดยอ้างว่า ถุงยังชีพดังกล่าวเป็นของที่สำนักงานปลัดกระทรวง ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาที่ชื่อนายวิเชน สมมาต อดีตรองเลขาธิการสมาคมชาวจังหวัดพัทลุง และประกอบธุรกิจหลายอย่าง ที่แจ้งจะบริจาคถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบความเดือดร้อนจังหวัดพัทลุง จำนวน 5,000 ชุด โดยนายวิเชนเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งให้กับประชาชนผู้เดือดร้อนเอง ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวง เป็นเพียงผู้ประสานไปยังพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุงทราบ เพื่อดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค เบื้องต้นได้มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนจังหวัดพัทลุงไปแล้ว 1,500 ชุด และเกิดปัญหา ทั้งนี้ในช่วงปีงบประมาณ 2552 สำนักงานปลัดกระทรวง ยังไม่มีการจัดซื้อถุงยังชีพแต่อย่างใด

นายวิฑูรย์ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้สั่งการให้ตั้งคณะ กรรมการตรวจสอบคุณภาพสิ่งของบริจาคที่จะมอบให้กับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างสิ่งของ เพื่อนำไปบริจาคจะต้องมีการปฏิบัติตามระเบียบและดำเนินการจัดซื้อเท่าที่จำเป็น และต้องคำนึงถึงคุณภาพ เนื่องจากชาวบ้านเดือดร้อนอยู่แล้ว ไม่ควรไปซ้ำเติม

นอกจากนี้ นายวิฑูรย์ยังกล่าวไปถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี สั่งให้ตรวจสอบสิ่งของบริจาคต่างๆ รวมถึงผ้าห่ม ที่พบว่าไม่ได้คุณภาพเช่นกันว่า ในส่วนของผ้าห่มนั้น มีหลายหน่วยงานบริจาค ทั้งสภากาชาดไทย หรือท้องถิ่นจัดซื้อเพื่อบริจาคเอง และส่วนใหญ่เป็นของที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบริจาค ที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดซื้อผ้าห่มแจกให้กับประชาชนที่เดือดร้อนไปบ้าง แต่จำนวนไม่มาก เท่าที่ทราบขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีการจัดซื้อไม่ตรงสเปก แต่หากมีข้อมูลการจัดซื้อสิ่งของไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งมาที่ตนได้โดยตรง

ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลที่นายวิเชนไม่ไปบริจาคช่วยเหลือประชาชนโดยตรง ทั้งที่เป็นคนจังหวัดพัทลุงเช่นเดียวกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากอุทกภัย นายวิฑูรย์ ตอบแทนนายวิเชนว่า ปัจจุบันนายวิเชนมีที่อยู่อาศัยใน กทม. และเข้าใจว่าสาเหตุที่นายวิเชนบริจาคผ่านกระทรวงเพราะอยากได้เครดิต

ผู้สื่อข่าวจึงถามต่ออีกว่า นายวิเชนจะต้องเป็นผู้ รับผิดชอบกรณีทำให้ชาวบ้านเสียหายหรือไม่ ก็ได้รับ คำตอบจาก รมว.พม.ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประสานงานไปยังนายวิเชนแล้ว แต่อยากให้เข้าใจด้วยว่า บางครั้งผู้บริจาคมีความปรารถนาดี โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งของที่นำมาบริจาคไม่มีคุณภาพ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย เมื่อถามอีกว่า แล้วกระทรวงจะฟ้องร้องแทนประชาชนหรือไม่ นายวิฑูรย์ตอบว่า เรื่องนี้จะต้องพยายามหาต้นตอร่วมกัน ซึ่งกระทรวงเองจะตั้งคณะกรรมการติดตามเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการแถลงข่าวชี้แจงครั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหมือนจัดฉาก เพราะราวกับ หนังคนละม้วนหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ตัวนายวิฑูรย์เองเคยแถลงว่าเป็นความผิดของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่ได้รับสัมปทานจัดซื้อจัดจ้าง ส่งของไม่ตรงสเปกที่เสนอกระทรวง ปรากฏว่านายวิฑูรย์ถึงกับมีอาการเลิ่กลั่ก และอ้ำอึ้งก่อนตอบว่า ขอยืนยันว่าไม่มีการจัดฉาก การแถลงเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

จากนั้นนายวิฑูรย์ก็ได้ให้เบอร์โทรศัพท์ของนายวิเชน เบอร์ 08-7135-2201 กับสื่อมวลชน โดยกล่าวว่า หากไม่เชื่อก็โทร.ไปถามได้ ซึ่งผู้สื่อข่าวจึงกดโทรศัพท์ตามเบอร์ ที่ได้รับทันที เพื่อสอบถามว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรแน่ และมีผู้รับปลายสายบอกว่าคือ นายวิเชน สมมาต คนที่นายวิฑูรย์อ้างถึงว่าเป็นผู้บริจาคปลากระป๋องเน่า และได้ตอบยืนยันมาว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าปลากระป๋องที่นำไปช่วยเหลือประชาชนจะเน่าเสีย เพราะได้สั่งการให้ลูกน้องเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ ส่วนสาเหตุที่ตนบริจาคของผ่านทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เนื่องจากไม่มีกำลังพอจะจัดส่งสิ่งของไปเอง ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีการฟ้องร้องผู้บริจาคนั้น หากฟ้องร้องจริง ต่อไปก็คงไม่มีใครกล้าบริจาคสิ่งของอีกแล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามไปว่า ได้ติดต่อขอบริจาคมาตั้งแต่ เมื่อไหร่ นายวิเชนตอบว่าเป็นผู้ประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯเอง เมื่อต้น ม.ค. แต่เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามซักถามอีก นายวิเชนก็ตัดบทอ้างว่ากำลังติดประชุมอยู่ และวางสายไป ต่อมามีสื่อมวลชนจากสำนักอื่นๆ โทรศัพท์ กลับไปสัมภาษณ์อีกหลายครั้ง จนนายวิเชนได้ปิดมือถือในที่สุด

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนางถนอมศรี กุลวชิรา ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง พม. ว่าในการบริจาคสิ่งของทางระเบียบราชการจะมีการจัดซื้อทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น สำหรับกรณีนี้ นายวิเชนเป็นผู้ติดต่อมาเพื่อขอบริจาคและแจ้งความจำนงจะเป็นผู้จัดส่งของเอง ดังนั้น การบริจาคครั้งนี้ ทางกระทรวงฯไม่ได้ใช้ งบประมาณใดๆ ทั้งสิ้น โดยทางส่วนกลางรับเรื่องประมาณเดือนมกราคมว่านายวิเชนจะบริจาค

กระนั้นเมื่อผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบที่ศูนย์รับบริจาคเพื่อการสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเป็นหน่วยลงทะเบียนผู้บริจาคสิ่งของช่วยเหลือประชาชน ปรากฏว่าตั้งแต่เดือน ธ.ค.2551 จนถึงวันที่ 19 ม.ค. 2552 ไม่ปรากฏผู้บริจาคที่ชื่อนายวิเชน สมมาต แต่อย่างใด ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯยังชี้แจงว่าผู้บริจาคทุกคนหากมาบริจาคสิ่งของให้กระทรวงฯ จะต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จออกให้ทุกราย นอกจากนี้ จากการตรวจสอบชื่อสมาคมชาวจังหวัดพัทลุง หรือสมาคมชาวพัทลุง ผ่านระบบสืบค้นหาผ่านอินเตอร์เน็ต ก็ไม่ปรากฏชื่อนายวิเชนสมมาต แต่อย่างใด