วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552

ยื้อไม่ยื่นขอถอดถอน ป.ป.ช.

ที่มา ไทยรัฐ

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่สโมสรตำรวจ พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ นายกสมาคมตำรวจจัดการอภิปรายเชิงวิชาการเรื่อง “องค์กรตามรัฐธรรมนูญกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ” ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความคึกคัก มีข้าราชการตำรวจ และประชาชน กว่า 2,000 คน มาลงชื่อร่วมงาน และมีการถ่ายเอกสารสำเนาบัตรไว้ด้วยจนล้นสถานที่ มีผู้เข้าร่วมอภิปราย ประกอบด้วย พล.ต.อ.สุพาสน์ จีระพันธ์ อดีตนายกสมาคมตำรวจ และอดีต ก.ตร. นายพนา ทองมีอาคม คณบดีนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ นายพนม ปีย์เจริญ ประธาน กรรมการบริหารบริษัทเนเจอร์ไลฟ์ จำกัด และ พล.ต.อ. สุวรรณ สุวรรณเวโช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ อภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายม็อบวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่า ตำรวจไม่ได้รับความเป็นธรรม ตกเป็นจำเลยของสังคม ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายประชาชน ทั้งที่ตลอดการชุมนุมประท้วงตำรวจต้องอดทนอดกลั้นมาตลอด ตำรวจสมควรน่าจะได้รับดอกไม้ ไม่ใช่ก้อนหิน เป็นเรื่องที่ต้องฟังความเห็นของตำรวจและประชาชน ทั้งนี้ พล.ต.อ.วิสุทธิ์ เผยภายหลังอภิปรายว่า ยังไม่ตัดสินใจจะส่งรายชื่อเพื่อยื่นถอดถอน ป.ป.ช. แม้จะมีตำรวจและ ประชาชนนำรายชื่อมามอบให้ก็ตาม ขอดูพยานหลักฐานและเหตุผลที่มาประกอบก่อน ไม่ใช่แค่นำสำเนาบัตรประชาชนมาให้อย่างเดียว

ป.ป.ช.เย้ย ตร.อย่าวิตกล่วงหน้า

วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนเหตุการณ์สลายม็อบวันที่ 7 ต.ค. 2551 บริเวณรัฐสภา ให้สัมภาษณ์กรณีตำรวจเข้าชื่อถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 248 ว่า เป็นสิทธิของตำรวจที่สามารถยื่นได้ ขึ้นอยู่กับวุฒิสภาจะลงความเห็นว่าอย่างไร แต่ยืนยันว่า การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในคดีนี้ไม่มีการเร่งรัดตามที่ถูกกล่าวหา แต่เห็นว่าเป็นคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงนำขึ้นมาพิจารณาก่อน ไม่มีวาระซ่อนเร้น และการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนก็ยังไม่มีการชี้มูลความผิด อย่าไปวิตกอะไรล่วงหน้า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะไม่ตัดสินคดีจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือยึดกระแสสังคม แต่จะตัดสินตามหลักนิติธรรมและกฎหมาย ส่วนกรณีคุณสมบัติของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมนั้น มองว่าไม่น่าจะขัดคุณสมบัติต่อการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เพราะไม่ใช่การไปแสวงหากำไร หากจะได้ค่าตอบแทนก็เป็นเพียงเล็กน้อย ไม่คุ้มค่าน้ำมันรถ เป็นประเด็นที่ไม่น่าหยิบยกขึ้นมา เป็นผู้ใหญ่กันแล้วเรื่องนี้มันนอนเซ้นส์

ยันไม่ได้เร่งไต่สวนคดีสลายม็อบ

ด้าน น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์ว่า การยื่นถอดถอนดูแล้วไม่มีเหตุผล สมควร เพราะ ป.ป.ช.ทำตามหน้าที่ไม่ได้เลือกปฏิบัติ กรณี การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเหตุการณ์สลายม็อบหน้ารัฐสภาวันที่ 7 ต.ค. 2551 นั้น ไม่มีการเร่งพิจารณาไต่สวน ส่วนใหญ่ ป.ป.ช.จะพิจารณาคดีต่างๆตามลำดับ แต่คดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ป.ป.ช. สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ ส่วนที่ฝ่ายตำรวจมองว่าการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ของ ป.ป.ช. เป็นการชี้นำสังคมให้เข้าใจผิดว่าตำรวจมีส่วนร่วมในการสลายม็อบจนมีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น คงเป็นการเข้าใจผิดของตำรวจ เพราะการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย เมื่อมีการกล่าวหาก็ต้องตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ไม่ได้หมายความว่าการตั้งคณะอนุกรรมการจะต้องมีความผิดและถูกลงโทษเสมอไป ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะดำเนินการอย่าง มีเหตุผล ไม่ได้เร่งรีบ โดยจะนำเรื่องที่ฝ่ายตำรวจเข้าชื่อเสนอถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าหารือในที่ประชุม ป.ป.ช.วันที่ 20 ม.ค.นี้

“กล้านรงค์” ยัน ป.ป.ช.ทำงานไร้อคติ

ทางด้านนายกล้านรงค์ จันทิก โฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่า การที่ตำรวจและประชาชนเข้าชื่อถอดถอน ป.ป.ช. สามารถกระทำได้ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.พร้อมให้ทุกฝ่ายตรวจสอบ เชื่อว่าการถูกยื่นถอดถอนนี้ไม่ใช่เกมการเมือง หรือการเข้าไปตรวจสอบการทุจริตของ ป.ป.ช. แต่เป็นความคิดเห็นที่ต่างกัน หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ถูกถอดออกจากตำแหน่งจริง ก็คงจะกลับไปทำงานของตนเองและการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจถอดถอนครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดี เพราะ ป.ป.ช.ก็ทำหน้าที่โดยปราศจากอคติเช่นเดิม ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ยืนยัน ป.ป.ช.ไม่ได้ทำคดีอย่างรีบเร่งผิดปกติเนื่องจากการตรวจสอบจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับหลักฐาน