วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552

เอาตัวให้รอด

ที่มา มติชน

บทนำมติชน

เพียงแค่การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม ส.ส.ฝ่ายเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้านเสนอให้นับองค์ประชุมถึง 2 ครั้ง ผลปรากฏว่า เสียง ส.ส.เกินครึ่งมาอย่างเฉียดฉิวไม่ถึง 10 เสียง แต่ก็ยังดีที่ยังครบองค์ประชุม แต่ในการประชุมวันรุ่งขึ้น (22 มกราคม) การนับองค์ประชุมด้วยวิธีขานชื่อกลับไม่ถึงครึ่ง มีเพียง 219 คน ทั้งๆ ที่ครึ่งหนึ่งจะต้องมีถึง 228 เสียง การขาดไป 9 เสียง ส่งผลให้การประชุมต้องยุติลง ปรากฏการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลผสมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกอบไปด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย (กลุ่มเพื่อนเนวิน) พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคกิจสังคม พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เสียง ส.ส.รัฐบาลที่ปริ่มน้ำ เนื่องจากจำนวน ส.ส.เกินครึ่งไปเล็กน้อยกำลังขาดเสถียรภาพ โอกาสที่การประชุมสภาจะต้องสะดุดหยุดลง ไม่สามารถผ่านระเบียบวาระไปได้มีอยู่ตลอดเวลา

นอกจากการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านจะขลุกขลัก ไม่ราบรื่นถึงขนาด ส.ส.รัฐบาลถ้าจะลุกจากที่นั่งไปเข้าห้องน้ำจะต้องกระวีกระวาดทำธุระส่วนตัวให้เสร็จโดยเร็วเพื่อจะได้รีบมาเข้าประชุมแล้ว การเมืองนอกสภายังกดดันรัฐบาลจนเกือบจะแบนเป็นกล้วยทับนั่นคือ คนเสื้อแดงนำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศจะชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง วันที่ 31 มกราคมนี้ พร้อมกันนี้แกนนำ นปช.ยังมีกำหนดการไปยื่นหนังสือต่อทูตอาเซียนประจำประเทศไทยเพื่อแจ้งถึงการไม่ยอมรับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่นำแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาเป็นรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรี รวมถึงการเคลื่อนไหวในวันประชุมผู้นำอาเซียนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่คนเสื้อเหลือง นำโดยพันธมิตรทางแกนนำได้ปราศรัยแสดงความไม่พอใจที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯไม่ให้เกียรติพันธมิตรที่อุตส่าห์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก แต่กลับไปชื่นชมนายเนวิน ชิดชอบ ที่นำ ส.ส.มาสนับสนุนให้ได้เป็นรัฐบาล พันธมิตรจะให้เวลารัฐบาลอีก 3 เดือนถ้าไม่ลงโทษตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการสลายผู้ชุมนุม 7 ตุลาคม พันธมิตรจะเป่านกหวีด นัดชุมนุมประชาชนอย่างแน่นอน

การจะให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เอาใจทั้ง นปช.ด้วยการปลดนายกษิต ภิรมย์ พ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและปลดที่ปรึกษารัฐมนตรีที่เป็นพันธมิตร และเอาใจพันธมิตรด้วยการโยกย้ายนายตำรวจที่ต้องรับผิดชอบในการสลายผู้ชุมนุม 7 ตุลาคมและเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องตามที่พันธมิตรเคยออกแถลงการณ์เป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง ลำพังแค่การถอยตัวเองออกจากพันธมิตรมายืนตรงกลางเพื่อความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองยังทำไม่ได้ เนื่องจากที่มาและการดำรงอยู่ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ปฏิเสธไม่ได้ว่าผูกพันอยู่กับพันธมิตรมาตั้งแต่พันธมิตรเริ่มขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จวบจนถึงปัจจุบัน

ภารกิจของรัฐบาลที่เร่งผลักดันนโยบายประชานิยมลงไปสู่ประชาชนภาคส่วนต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจทำให้คณะรัฐมนตรีไม่มีสมาธิเท่าที่ควร เพราะไหนจะต้องคอยกังวลกับองค์ประชุมที่จะต้องไม่ให้ล่ม ไม่เช่นนั้นสภาจะไม่สามารถผ่านมติสำคัญๆ ไปได้ เช่น กรอบข้อตกลงไทยกับอาเซียน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี เป็นต้น และไหนจะปวดหัวกับการขู่ของพันธมิตร การขับเคลื่อนของคนเสื้อแดง ประกอบกับ พ.ต.ท.ทักษิณยังโฟนอินเข้ามาในประเทศไทยผ่านกลุ่มคนเสื้อแดง ยิ่งทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนแรงยิ่งขึ้น

สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์บริหารประเทศไม่ได้ เพียงแต่ทำให้บริหารงานยากขึ้นเท่านั้น การปรับตัวเพื่อรับมือของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลเป็นความจำเป็น ด้านหนึ่งเพื่อประคับประคองไม่ให้สภาล่มแม้จะถูกฝ่ายค้านใช้เวทีนี้สั่นคลอนรัฐบาลไปเรื่อยๆ อีกด้านเพื่อรอให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ และนโยบายประชานิยมเกิดดอกเกิดผล ซึ่งแน่นอนว่า ถ้ารัฐบาลทำตามนโยบายได้สำเร็จย่อมได้คะแนนนิยมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ถ้าล้มเหลว หรือทำไม่ได้เพราะรัฐบาลอาจจะล้มครืนไปเสียก่อนก็จะเป็นผลดีต่อฝ่ายค้านในการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง รัฐบาลผสมของนายอภิสิทธิ์ควรจะรู้ดีกว่าคนอื่นๆ ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลควรทำแ ละไม่ควรทำอะไร สามารถรักษาสถานะให้อยู่ตรงกลางระหว่างสีแดงกับสีเหลืองได้หรือไม่