วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552

บทบาทเปลี่ยนไป

ที่มา ไทยรัฐ

จากพรรคไทยรักไทยกลายเป็นพรรคพลังประชาชน จากพลังประชาชนกลายเป็นพรรคเพื่อไทย

ขุนพลรุ่นหนึ่งถูกฆ่าล้างสต๊อกรอบแรก 111 คน!!

ผ่านไปไม่ถึงปีขุนพลรุ่น 2 ถูกสังหารหมู่รอบสองไปอีก 37 คน!!

นี่คือวิบากกรรมการเมืองที่เครือข่ายทักษิณต้องเผชิญ

บัดนี้ เหลือขุนพลรุ่นที่ 3 ที่รอด ชีวิตจากการฆ่ายกครัวแค่หยิบมือเดียว พรรคเพื่อไทยย่อมเกิดความระส่ำระสายเป็นธรรมดา

แถมการที่เคยเป็นรัฐบาลมานานถึง 8 ปี เมื่อต้องย้ายขั้วเป็นฝ่ายค้านบทบาทก็ต้องเปลี่ยนไป

ข้อสำคัญ การพลิกบทมาเป็นฝ่ายค้าน จำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ให้ดี

นั่นคือรู้จักอดทนรอคอยให้เงื่อนไข ปัจจัยเป็นตัวกำหนดเกม

“แม่ลูกจันทร์” จึงไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้ วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะทันทีที่สภาฯเปิดเทอม วันที่ 21 มกราคม

เพราะรัฐมนตรีใหม่เพิ่งเริ่มต้นทำงานไม่ถึงเดือน ยังมองไม่เห็นจุดอ่อน? จุดแข็ง? แผลสด? แผลเปื่อย? ของรัฐบาลอย่างชัดเจน

การเร่งรีบเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะทำให้ประเด็นที่จะซักฟอกรัฐมนตรีไม่เข้มข้นเท่าที่ควร

การเปิดอภิปรายเร็วเกินจึงไม่ใช่ ยุทธศาสตร์ที่ดีฉะนี้แล

“แม่ลูกจันทร์” เห็นว่า ในช่วงที่ รัฐมนตรีชุดใหม่เริ่มทำงาน ฝ่ายค้านก็ต้องตั้งทีมติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรีเจาะลึกเป็นรายกระทรวง

จับตาดูพฤติกรรมของรัฐมนตรีแต่ละคนว่ามีความบกพร่องผิดพลาดอย่างไร?

มีการอนุมัติโครงการอะไรบ้างที่ไม่ชอบมาพากล?

โดยเฉพาะเป้าใหญ่ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงไอซีที กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน

นี่คือ 8 กระทรวงสำคัญที่ฝ่ายค้านต้องล็อกเป้าไม่ให้คลาดสายตา

ตรวจสอบละเอียดยิบยิ่งกว่าเครื่องเอกซเรย์

ค่อยๆเก็บข้อมูลสะสมไปเรื่อยๆ สามเดือนหกเดือนก็ยังไม่สายเกินเพล

รอให้มีประเด็นร้อนๆมีหลักฐาน เจ๋งเป้งเสียก่อน แล้วค่อยยื่นญัตติอภิปราย ไม่ไว้วางใจรัฐบาล!!

อย่างไรก็ตาม ก่อนผ่อนสายป่าน ให้รัฐบาลได้เริ่มทำงาน ฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้เสียเวลาไปฟรีๆ

“แม่ลูกจันทร์” กระชุ่นพรรคเพื่อไทยให้ใช้ช่วงเวลานี้เร่งจัดทัพปรับทีมยกเครื่อง โครงสร้างพรรคให้อยู่ในสภาพพร้อมลุย

จัดแถวแกนนำพรรค จัดโครงสร้างการบริหารพรรค และแบ่งความรับผิดชอบ ควบคุม ดูแล ส.ส.ลูกพรรคให้เป็นระบบครบวงจร

การขับเคลื่อนการเมืองของฝ่ายค้าน ก็จะเป็นเอกภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างพูด ต่างคนต่างทำไปคนละทางสองทาง

ข้อสำคัญ ผลกระทบจากการถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ตัดสิทธิ กก. บริหารพรรค 2 ครั้ง 2 ครา ทำให้พรรคเพื่อไทย ขาดบุคลากรระดับขุนพลไปถึง 148 คน

ฉะนั้น ถ้าพรรคเพื่อไทยยังหวังจะพลิกขั้วเป็นรัฐบาล

ยังต้องการรักษาสถานะเป็นขั้วการเมืองในระยะยาว

ก็ต้องเร่งติดต่อทาบทามคนเก่งคนดังจากวงการต่างๆเข้ามาเสริมทีม

ระดมคลื่นลูกใหม่เลือดดีไฟแรง เพื่อทดแทนขุนพลรุ่น 1 และขุนพลรุ่น 2 ที่ถูกกวาดตกเวที

นี่คือประเด็นด่วนที่ฝ่ายค้านต้อง เร่งดำเนินการ

ส่วนศึกซักฟอกรัฐบาล ขอให้อดเปรี้ยวไว้รอกินหวานก่อนเถอะโยม.

“แม่ลูกจันทร์”