ที่มา ข่าวสด
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ว่า การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และส่งออก อยู่ในช่วงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัว โดยเห็นได้จากการนำเข้าที่ปรับตัวลดลง 36.5% หรือมีมูลค่า 8,694 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ การจ้างงานในภาคการผลิตยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยแรงงานที่ว่างงานมีประมาณ 538,540 คน เพิ่มขึ้น 16,290 คน ผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับมีจำนวน 570,920 คน เพิ่มขึ้น 10,439 คน ส่วนผู้ว่างงานรอฤดูกาลมีจำนวน 21,240 คน ทั้งนี้ หากคิดเป็นสัดส่วนของกำลังแรงงานทั้งหมดทำให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.4% อัตราการทำงานต่ำกว่าระดับอยู่ที่ 1.5% และอัตราการว่างงานรอฤดูกาลอยู่ที่ 0.1%
สำหรับผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญ เช่น อ้อย และยาง ปรับตัวลดลง ทำให้รายได้เกษตรกรในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัว 8.6% ซึ่งชะลอตัวลงจากเดิมในเดือนธ.ค.51 ขยายตัว 20.3% ขณะที่เงินเฟ้อติดลบ 0.4% ซึ่งเป็นครั้งแรกนับแต่เดือนต.ค.42 ส่วนการส่งออกหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีมูลค่าส่งออกประมาณ 10,382 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 25.3% ขณะที่การท่องเที่ยวปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีจำนวน 1.3 ล้านคน ลดลง 10.5% เป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ ประกอบกับประเทศที่เป็นตลาดท่องเที่ยวหลักของไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิลดลง 19.7% ยกเว้นท่องเที่ยวในภาคใต้ดีขึ้นขยายตัว 20.1% ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,289 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ตัวเลขการส่งออกยังเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ แม้ว่าตัวเลขการนำเข้าจะลดลงจากความต้องการในประเทศที่ลดลง แต่ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลยังสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินได้นิติบุคคลในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 1 จะติดลบมากน้อยแค่ไหนนั้น จะต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ก.พ.นี้ก่อน ว่ามีตัวเลขไหนที่ปรับตัวลดลงบ้างหรือไม่ ซึ่งเห็น ว่าตัวเลขนำเข้าที่ลดลงไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจไม่ดี โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปี"52 ยังชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการเมืองในประเทศ แต่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในบางด้าน เช่น การท่องเที่ยว แม้จะยังหดตัว แต่ดีขึ้นกว่าที่คาดไว้" นางอมรา กล่าว
นอกจากนี้ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบันปรับลดลงอยู่ที่ 36.3 จากเดิมอยู่ระดับ 36.9 เป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อลดลง โดยผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ และการชะลอตัวลงของอุปสงค์จากในประเทศและนอกประเทศ ส่วนดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลง 4.5% จากเดิมอยู่ระดับ 2.4% ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา มีเงินไหลออกสุทธิ 718 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจากการที่นักลงทุนต่างชาติขายคืนพันธบัตรรัฐบาล 44 ล้านเหรียญสหรัฐ การจ่ายเงินมัดจำค่าเครื่องบินของรัฐบาล 14 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการทำธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ส่งออกทองคำของธนาคารพาณิชย์ 744 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเป็นไปตามค่าเงินในภูมิภาคที่อ่อนค่าลง