วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

"ยุวรัตน์"ฟันธง! "มติข้างมาก"ทำกกต.ติดลบ

ที่มา มติชน

สัมภาณ์พิเศษ

โดย พนัสชัย คงศิริขันธ์




การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ทั้งการพิจารณาคำร้องเรียนเลือกตั้งและเขียนคำวินิจฉัยล่าช้า เกิดปัญหาถูกตั้งข้อหาเรื่อง "ความไม่เป็นกลาง" เอนเอียงเข้าข้างพรรคนั้นพรรคนี้

"ยุวรัตน์ กมลเวชช" อดีต กกต.ชุดแรก ที่ได้เครดิตจากการเป็น "มือปราบนักเลือกตั้ง" สั่งใบแดง-แจกใบเหลืองกับนักการเมืองเป็นว่าเล่น จนบางจังหวัดกว่าจะได้ ส.ส.หรือ ส.ว.ครบจำนวน ก็ต้องหย่อนบัตรไป 5-6 ครั้ง ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับการทำงานของ "กกต.รุ่นน้อง" ผ่าน "มติชน" ไว้ว่า...

"ผมมองว่ารัฐธรรมนูญจะทำให้ กกต.เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และคิดว่าเคยติติงเอาไว้แล้ว ผมมอง 3 ข้อที่อยากเปลี่ยนแปลง 1.การลงมติของ กกต.ไม่ควรเป็นมติเสียงข้างมาก 4 ใน 5 ควรเป็นมติเอกฉันท์เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ผมคิดว่าหากยังทำความเข้าใจกับ กกต.ทุกคนไม่ได้ มันก็ไม่ควรลงโทษเขา 2.เปิดโอกาสให้ทำความเข้าใจกันให้ได้ก่อน จะไม่ใช่ใช้วิธีลงมติแบบรวบรัดเพื่อตัดปัญหา เมื่อก่อนตีหนึ่งตีสองยังประชุมไม่เลิกเลยหากยังไม่เข้าใจตรงกัน และ 3.กกต.ต้องช่วยกันปิดปากเมื่อลงมติเสร็จแล้ว หากจะพูดก็ต้องให้สอดคล้องกัน คำตัดสินขององค์กรก็จะยังคงความศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีความแตกแยก ไม่เป็นจุดอ่อนทำให้เสียรูปคดี

"หลักของผมมีอยู่ว่า 1.คุณต้องคิดว่าความเห็นของคุณผิด ความเห็นคนอื่นถูก คุณถึงมีใจฟัง และผมก็จะเถียงกับใครไม่มาก และการทำงาน กกต.ชุดแรกมีเอกภาพมีการลดการโต้เถียงกัน และ 2.มีความอดทนมากทั้ง กกต.ชุดแรกถึงรักกัน หากจะโกรธก็เดี๋ยวเดียว เมื่อมติเอกฉันท์ การฟ้องร้อง กกต.ทั้ง 5 ต่างเป็นจำเลยหมด แต่เมื่อเป็นมติ 4 ใน 5 คนที่ไม่เห็นด้วยอาจไม่ถูกฟ้อง ทำให้ขาดความรับผิดชอบต่อองค์กร เรื่องคุณสมบัติของ กกต.ก็ควรมีการแยกตามสาขางานที่ กกต.ต้องทำ ต้องหาคนที่เชี่ยวชาญมาทำ ที่สำคัญตอนนี้นักการเมืองเขาไม่กลับใบเหลืองแล้ว แต่กลัวใบแดง ทำให้การทุจริตเลือกตั้งยังมีอยู่"

- คิดว่าโครงสร้างการทำงานของ กกต.ชุดแรกกับชุดปัจจุบันเป็นอย่างไร

ต่างกันนิดเดียว คือการลงมติโดยใช้เสียง 4 ใน 5 กับการลงมติเอกฉันท์ คิดว่าเสียงเอกฉันท์มีความยุติธรรมมากกว่า 4 ใน 5 เพราะการลงมติเอกฉันท์ คุณจะไม่ลงคะแนนต้องบอกเหตุผล

- ในการสรรหา กกต.นั้น คิดว่ารัฐธรรมนูญให้น้ำหนักไปศาลยุติธรรมมากเกินไปหรือไม่

มาจากศาลมากก็ไม่เป็นไร เพราะของชุดผม มีศาลมา 3 คน (นายจิระ บุญพจนสุนทร นายสวัสดิ์ โชติพานิช และนายธีรศักดิ์ กรรณสูต) ซึ่งทั้ง 3 คนก็ถนัดไม่เหมือนกัน ท่านธีรศักดิ์มาจากศาลแพ่ง เป็นประธาน กกต. ได้ควบคุมเรื่องเงินทอง อาจารย์สวัสดิ์เก่งด้านวินิจฉัย ก็จัดให้ลงจุดที่เหมาะ และหากงานไม่ตรงกับตัวคนก็จะติดขัดได้ สำหรับเรื่องคุณสมบัตินั้น ผมอยากให้เลือกความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญที่สุด มากกว่าผู้เชี่ยวชาญของสาขา แต่ถ้าคำนึงความแตกต่างซึ่งกันและกันเพื่อมาดูงานก็ควรพิจารณาด้วย ซึ่งงานของ กกต.มันเป็นงานที่มีคนมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

- กกต.ชุดท่านแจกใบเหลืองใบแดงชนิดไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม แต่ชุดนี้ถูกมองกันว่าไม่กล้าฟันนักการเมือง

(หัวเราะ) ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ คงเป็นในลักษณะเหมือนการจราจร ที่ในระยะที่มีกล้องจับจ้องคนอาจจะไม่กล้าฝ่าไฟแดงคนเลยอาจจะกลัว

- จะต้องมีการปรับระบบการสืบสวนสอบสวนของ กกต.ใหม่อย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกวิจารณ์มาก

พูดกันจริงๆ ก็คงต้องบอกว่า กกต.ชุดปัจจุบัน ท่านเสียเปรียบเพราะคนทำงานให้ท่าน (พนักงาน) ท่านไม่ได้เลือกมารองรับงานที่ท่านจะทำ เนื่องจากมีการบรรจุข้าราชการไว้อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ชุดพวกผมไปเลือกไปเฟ้นกันมา ผมได้แต่เพียงว่าเอาพนักงานออกมันเหนื่อยกว่าเอาเข้า

- เรื่องนี้ก็เลยเป็นที่มาว่า กกต.ถูกลองของหรือหมกเม็ดจากพนักงานอยู่เรื่อยๆ

(พยักหน้า) ครับ มันเหนื่อยตรงนั้น เพราะท่านไม่ใช่เป็นคนเลือก สมัยผมเลือกคนมาช่วยได้หมด ผมคิดว่าความไว้วางใจที่ กกต.จะมอบให้พนักงานระดับล่าง 1- % คงไม่มี เพราะยังไม่ค่อยเชื่อใจเท่าไร ยังหวาดผวาอยู่

- ในฐานะขององค์กรอิสระ ทำอย่างไรจะได้ชื่อว่าเป็น "องค์กรอิสระ" มีความใสสะอาดโปร่งใสเสียที

อย่าไปพูดว่าใสสะอาด เพราะเขาใสสะอาดอยู่แล้ว เพียงแต่เกิดความรู้สึกจากคนข้างนอก แต่ผมไม่อยากเปรียบเทียบกับชุดเก่า เพราะพวกผมจะลงมติในทิศทางเดียวกันได้ต้องใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง

- ชุดปัจจุบันในการลงมติเกิดกรณีเสียงแตกออกเป็น 2 กลุ่ม

ก็ 5 คนนี่นะ พูดมากทั้ง 5 คน และเถียงกันโดยไม่ต้องไปคอยเจอใคร (หัวเราะ) และ กกต.ทุกคนเถียงกันหมด

- แล้วท่านมองคดีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 6 ที่ถูก กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญาเมื่อครั้งไม่ได้รับเลือกตั้งอย่างไร

พูดตามความจริงของมติเสียงข้างมากนั้น มีภาพให้เห็นชัดเจนแล้วในสภา มันทำให้คนรวมกลุ่มกัน แต่ถ้าคุณเอามติเอกฉันท์ คุณจะไม่มีการแบ่งแยกฝ่ายเลย เรื่องนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ชอบเสียงข้างมาก เพราะจะทำให้มีการรวมกลุ่มเพื่อควบคุมองค์กรเหมือนสภา

- แต่ก็มองจุดดีของการลงมติของ กกต.ปัจจุบันว่าเป็นอิสระจากกัน เพราะไม่มีการปรึกษาหารือกันก่อนลงมติ

เรื่องนี้ไม่ใช่ทำแบบตัวใครตัวมัน จะทำกันเป็นกลุ่ม ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นคนนี้ไม่ต้องไปพูด เหมือนฝ่ายค้านเราไม่ต้องไปพูดกับมัน เอาฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียวเดี๋ยวมันก็ผ่าน

- มีการพูดกันว่า กกต.ปัจจุบันอยู่ข้างพรรคประชาธิปัตย์ และอยู่กับฝ่ายทหาร

ผมว่า 5 ท่านชุดปัจจุบันโดนด่าน้อยกว่าชุดผมเสียอีก ยุคแรกโดนด่ามากและผมโดนหนักสุด เรื่องนี้เกี่ยวกับการลงมติ หากเป็นมติเอกฉันท์มันก็ไม่ทำให้คนภายนอกมององค์กรว่ามีความแตกแยกไม่เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน เสียงเอกฉันท์มันจะบังคับให้คุณต้องเห็นด้วยไปในตัว

- แล้วจะทำอย่างไรกับความล่าช้าในการพิจารณาสำนวนร้องเรียนของ กกต.

จะว่าไปแล้วพวกผมเป็น กกต.ที่เลขาธิการ กกต.ไม่อยากได้มากที่สุด เพราะลงไปทำงานเอง (หัวเราะ) แต่ที่ผมต้องทำงานเองเพราะเป็นคนวางรากฐานตั้งแต่ต้น แต่ กกต.ตอนนี้อาจจะมองว่าหากลงไปยุ่งก็หาว่าล้วงลึก ดังนั้นต้องเห็นใจท่านด้วย ก็อยู่ที่ท่านจะตัดสินใจอย่างไร เราบอกไม่ได้หรอก ผมพูดทั้งหมดแค่เป็นตัวเลือกว่าจะเลือกตรงไหน อย่างประกาศผลหรือลงมติประชุมเสร็จแถลงเลย ไม่ต้องรอ เรื่องใบเหลืองใบแดง สมัยก่อนต้องส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษดูด้วย ส่วนใหญ่ก็ยืนตามมติของ กกต. แต่ตอนนี้ไม่เหมือนเดิม ต้องรับงานเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย

- ถ้าตั้งศาลเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นมาดูแลเรื่องร้องเรียนเลือกตั้งท้องถิ่นจะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่

ก็อาจเป็นรูปหนึ่งที่จะต้องมี ผมอยากให้เป็นเหมือนเป็นศาลแขวง เป็นการฟ้องปากเปล่า ใช้วิธีพิจารณาแบบไต่สวน อาจมีการแต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบมาช่วยดูด้วย คดีจะได้ไว

- นักการเมืองไทยไม่รู้จักแพ้-ชนะ พอเลือกตั้งเสร็จถ้าแพ้ก็ร้องคัดค้าน

การร้องคัดค้านไม่เป็นปัญหา อยู่ที่ตัวเรา (กกต.) เหมือนการเลือกตั้ง ส.ว. 2- คน ที่พวกผมสอยไป 60 คน ขณะที่เลือกตั้ง ส.ส.กลับโดนตั้งเยอะ แต่พอมีกฎ 30 วันต้องรับรองผลก็เลยโดนกันไม่รู้กี่คน