วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พรรคร่วมหงุดหงิด พรรคแกนกินรวบ

ที่มา ไทยรัฐ

เปิดฉาก ตีปี๊บ รัวกลอง นโยบายประชานิยม

มาตั้งแต่เริ่มต้นที่พลิกขั้วเข้ามาเป็นรัฐบาล

เปลี่ยนภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยถูกกระแนะกระแหนว่าทำงานเชื่องช้า มาเป็นการทำงานที่รวดเร็วทันใจ

ล่าสุด รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปี 2552

วงเงินงบประมาณจำนวน 116,700 ล้านบาท

สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น จำนวน 97,560 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 19,139 ล้านบาท

โดยรัฐบาลระบุว่า มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน เพื่อเร่งรัดฟื้นฟูเศรษฐกิจ และกระจายไปสู่ระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และภาคธุรกิจ ลดค่าครองชีพและเพิ่มรายได้ ดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในชนบท

สำหรับการตั้งงบประมาณ ค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ 97,560 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ

1. ค่าใช้จ่ายตามมาตรการช่วยเหลือการครองชีพของบุคลากรภาครัฐ เป็นเงิน 2,652 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชนบท เป็นเงิน 6,900 ล้านบาท

3. เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงิน 4,090 ล้านบาท

4. เงินเพิ่มจัดสรรตามแผนงานฟื้นฟูและเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและแผนงานเสริมสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านสังคมของหน่วยงานต่างๆ เป็นเงิน 83,918 ล้านบาท

โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในวาระแรก ขั้นรับหลักการ ตามที่รัฐบาลเสนอ

สำหรับกระบวนการต่อจากนี้ ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่จะแปรญัตติ และเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2-3 ในสภาฯ และต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ก่อนเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตั้งเป้าว่า จะพยายามให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมหรืองบฯกลางปี ผ่านวุฒิสภาปลายเดือนกุมภาพันธ์ และทันทีที่มีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย เงินงบประมาณจะเริ่มลงไปสู่ระบบได้ในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

นั่นก็หมายความว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านโครงการประชานิยมสารพัดรูปแบบ อาทิ

การแจกเงิน 2,000 บาท ให้ผู้ประกันตนและข้าราชการที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรมแรงงาน โครงการเรียนฟรี

จะเริ่มทยอยถึงมือชาวบ้านตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนนี้เป็นต้นไป

พูดง่ายๆ ช่วงสงกรานต์ปีนี้ชาวบ้านจะได้สัมผัสอภิมหาประชานิยม อย่างเป็นรูปธรรม

กระจายเงินไปทั่วตั้งแต่ผู้ใช้แรงงานยันข้าราชการ อัดฉีดเงินช่วยเด็กๆยันคนแก่

แจกสะบัดครบเครื่อง หวังให้มีความสุขกันถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม นโยบายอภิมหาประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะผ่านไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ ยังต้องเจอกับอุปสรรคอีกหลายประการ

อันดับแรกเลย ก็คือ อุปสรรคในระบบรัฐสภา

ก็อย่างที่เห็นๆ ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ในวาระแรก ขั้นรับหลักการ ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น

ตรวจสอบละเอียดยิบทั้งด้านเนื้อหา และอภิปรายโจมตีไปถึงความเหมาะสมของรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ รวมไปถึงการเล่นเกมนับองค์ประชุม ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องหัวหมุน ระดมคนเข้าห้องประชุมกันจ้าละหวั่นวันละหลายรอบ

เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ก็แน่นอนว่า จะต้องมีการตรวจสอบ รวมทั้งการต่อรองเกี่ยวกับการใช้งบประมาณลงพื้นที่ อย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน

และที่ยังตายใจไม่ได้ ก็คือ ส่วนผสมของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

เพราะในการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 116,700 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้

เมื่อจำแนกออกมาแล้ว ปรากฏว่า กระทรวงที่คนของพรรคประชาธิปัตย์กำกับดูแล อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี

กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปทั้งสิ้น จำนวน 74,100 ล้านบาท

กระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยในซีกของกลุ่มเพื่อนเนวิน กำกับดูแลคือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ได้รับงบฯ 14,000 ล้านบาท กลุ่มมัชฌิมาธิปไตยเดิม กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ ได้รับการจัดสรรงบฯ 1,000 ล้านบาท

กระทรวงที่พรรคชาติไทยพัฒนา กำกับดูแล ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับงบฯรวม 2,500 ล้านบาท

กระทรวงที่พรรคเพื่อแผ่นดิน กำกับดูแล คือกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการจัดสรรงบฯ 300 กว่าล้านบาท

กระทรวงที่พรรคกิจสังคม กำกับดูแล คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับงบฯ 750 ล้านบาท

ชัดเจน งบประมาณส่วนใหญ่อยู่ในกระทรวงที่พรรคประชาธิปัตย์ กำกับดูแล ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ กลายเป็นลูกเมียน้อย

งบฯกระจุก ไม่กระจาย

ทั้งที่กระทรวงบางกระทรวงมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ของพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องเร่งหาตลาดส่งออก หรือกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ต้องเร่งฟื้นฟูเรื่องการท่องเที่ยวหาเงินเข้าประเทศ

แต่กลับได้รับการจัดสรรงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยมาก

ทั้งนี้ หากจะมองในแง่ที่พรรคแกนนำรัฐบาลกลัวจะเกิดปัญหาการถลุงงบฯ ก็มองได้ หรือจะมองในแง่พรรคแกนนำรัฐบาลต้องการรวบงบฯไว้เสียเอง ก็มองได้เช่นกัน

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ผลจากการจัดสรรงบฯกระจุกตัวในครั้งนี้ ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคเกิดความไม่พอใจ คุ

กรุ่น

จนอาจลามกลายเป็นสนิมเนื้อใน ไม่เป็นผลดีกับการเป็นรัฐบาลผสม

เพราะความไม่พอใจของพรรคร่วมรัฐบาล ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงเสียงสนับสนุนในสภาฯ

แน่นอน ฝ่ายค้านอาจสร้างความปั˜นป่วนทำให้การประชุมสภาฯสะดุด ด้วยการนับองค์ประชุม แต่สุดท้ายก็คงผ่านไปได้ ถ้ารัฐบาลคุมเสียงได้แน่นหนา ไม่แตกแยกกันเอง

นี่คือสิ่งที่แฝงอยู่ในงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

สำหรับอุปสรรคนอกสภา ชัดเจนว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเจอแน่ๆ ก็คือ

การเคลื่อนไหวต่อต้านจากม็อบเสื้อแดง โดย เฉพาะหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โฟนอินประกาศลั่น

จะตามหาความเป็นธรรมไม่ว่าอยู่ในสวรรค์หรือในนรก

ม็อบเสื้อแดงรับลูกนัดรวมพลครั้งใหญ่วันที่ 31 มกราคม ประกาศเคลื่อนขบวนปิดล้อมทำเนียบฯ ความรุนแรงจะลุกลามไปถึงขั้นไหนยังไม่รู้

แต่เมื่อมีการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้าน ต้องมีผลกระทบต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแน่

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีงานสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นจากนานาชาติรออยู่ นั่นก็คือ การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนซัมมิตในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

โดยล่าสุด รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเอกสารสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือกรอบอาเซียนและประเทศคู่ค้า ที่เป็นเรื่องหลักๆ 19 กรอบ

มีเพียงกรอบการเจรจายกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน และกรอบการเจรจาประเด็นกฎหมายภายใต้กฎบัตรอาเซียน ที่ต้องรอการพิจารณาศึกษาในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

รัฐสภาไฟเขียว รัฐบาลเตรียมเดินหน้าจัดประชุมอาเซียนซัมมิต ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เต็มลูกสูบ

แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มม็อบเสื้อแดง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ก็มีการขยับเคลื่อนไหว คัดค้านการประชุมอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

ด้วยการเดิน สายไปยื่นหนังสือ

คัดค้านการประชุมดังกล่าว ต่อสถานเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ

พร้อมทั้งส่งเสียงขู่จะเดินทางไปชุมนุมประท้วงคัดค้านการประชุมอาเซียนซัมมิตที่หัวหิน ปลายเดือนกุมภาพันธ์

เพื่อกดดันให้รัฐบาลปลดนายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ กรณีร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และกดดันให้ยุบสภา

แน่นอน ถ้ามีการชุมนุมประท้วง จนเป็นเหตุให้การประชุมอาเซียนซัมมิตที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ต้องสะดุดหยุดลงความเชื่อมั่นของประเทศไทยก็คงรูดไปด้วย

เพราะนอกจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่ค้าที่เข้าร่วมประชุมแล้ว นานาชาติต่างก็ให้ความสนใจจับตามอง

โดยเฉพาะในภาวะที่ทุกประเทศต้องการความร่วมมือในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่จ่อคอหอยอยู่

หากการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหนนี้ ต้องสะดุดอีก หลังจากเลื่อนมาจากปลายปีที่แล้ว

สมาชิกอาเซียนคงสุดทน นานาชาติก็คงสุดเอือม

ที่สำคัญ ถ้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมีปัญหาสะดุด ในขณะที่การสร้างความเชื่อมั่นบนเวทีต่างประเทศล้มเหลว

หากสถานการณ์ไหลไปถึงจุดนั้นจริงๆ อาจจะถึงขั้นต้องปิดประเทศกันเลย.

ทีมการเมือง