ที่มา ข่าวสด
ออกจากจุดสตาร์ตได้แค่เดือนเดียว
รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี "เทพประทาน" ที่แบกความหวังของคนไทยทั้งประเทศไว้
ก็เริ่มออกอาการเครื่องรวน
เรื่องปลากระป๋องเน่า"ของนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมฯ กับเรื่องการแจกเงินหลวงแนบนามบัตรส่วนตัวของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาด ไทย
กลายเป็นวาระแทรกซ้อนไม่คาดฝัน
ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะนายกฯ จะต้องหาทาง "ตัดไฟแต่ต้นลม" โดยด่วน ก่อนจะขยายวงลุกลามไหม้วอดกันทั้งรัฐบาล
ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลชุดนี้เกิดขึ้นมาท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ
ภาวะเศรษฐกิจทรุดต่ำลงอย่างน่าใจหาย การเมืองขัดแย้งแตกแยกรุนแรง ส่งผลให้สังคมเกิดความร้าวฉานแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามไปด้วย
การที่ประชาชนในสังคมส่วนใหญ่พยา ยามเอาหูไปนาเอาตาไปไร่
มองข้ามการดิ้นรนเข้ามาเป็นรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ค่อยสง่างาม
รวมถึงการเลือกเฟ้นคนเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรี บนเงื่อนไขต่างตอบ แทนกลุ่มคน 3-4 กลุ่ม ทำให้หน้าตารัฐมนตรีไม่ได้"ขี้เหร่"น้อยไปกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วมาเท่าใดนัก
ด้วยเพราะเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะเข้ามายุติปัญหา นำพาบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้
นายอภิสิทธิ์ประเดิมความเป็น"ผู้นำ" ด้วยการประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อ เพื่อควบคุมการทำงานของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีองค์ประกอบจากหลายพรรค
เนื้อหาหลักๆ คือเน้นย้ำเรื่องการปฏิ บัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด
การทำงานต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ ถึงจะเป็นรัฐบาลผสมแต่ต้องไม่แบ่งพรรค ต้องเป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบร่วมกัน
ทั้งต้องพร้อมรับการตรวจสอบ ทั้งเชิงนโยบายหรืออื่นๆ
รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเหนือประชาชนคนอื่นในแง่การปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้น
จะต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย
สังคมกำลังจับตา ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะหาทางออกจากมลภาวะ"สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ"นี้อย่างไร
การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งต่อกรณีนายวิฑูรย์ นามบุตร และนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากฎเหล็ก 9 ข้อที่วางไว้
เป็นจริงในทางปฏิบัติมากน้อยขนาดไหน
โดยเฉพาะที่ว่าความรับผิดชอบทางการเมือง ต้องอยู่เหนือความรับผิดชอบทางกฎหมาย
พรรคประชาธิปัตย์เองในสมัยเป็นฝ่ายค้าน ก็ใช้มาตรฐานดังกล่าวเป็นหลักยึดมั่นในการตรวจสอบฝ่ายบริหารมาโดยตลอด
สำหรับพรรคเพื่อไทยถึงจะเป็นมือใหม่หัดค้าน แต่ก็มองออกว่ารัฐบาลกำลังเดินสะดุดขาตัวเอง และแน่นอนว่าในฐานะพรรคฝ่ายค้าน
ย่อมไม่ยอมพลาดโอกาสงามๆ เช่นนี้
หากนายกฯ ยังลังเลไม่ยอมจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที
เชื่อว่าชื่อของนายวิฑูรย์และนายบุญจง จะถูกนำมาใส่ไว้เป็นชื่อต้นๆ ในบัญชีอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน
สำคัญกว่านั้นตัวนายกฯ เองยังอาจจะพลอยติดร่างแหไปด้วย หากเป็นอย่างนั้นก็จะเท่ากับว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ
กรณี"ปลากระป๋องเน่า"ของนายวิฑูรย์
น่าจะหมดสิทธิ์ไปเรียกร้องเอาอะไรจากเจ้าตัว ที่กล่าวยืนยันทั้งในสภาและนอกสภา ว่าจะรอผลชี้มูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. ก่อน
เช่นเดียวกับการแจกเงินแถมนามบัตรของนายบุญจง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะได้ข้อสรุป
คำถามที่ตามมาคือระหว่างนี้ นายอภิสิทธิ์จะฝ่าแรงเสียดทานทั้งในสภาและจากสังคมภายนอกไปได้ด้วยวิธีใด และที่สำคัญคือจะต้องเป็นทางออก
ที่ไม่สร้างความผิดหวังให้กับประชาชนด้วย
เนื่องจากนายวิฑูรย์ เป็นรมว.การพัฒนาสังคมฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของนายอภิสิทธิ์ ทั้งในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าพรรค
ส่วนนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ นั้นถึงจะเป็นรมช.มหาดไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน พรรคภูมิใจไทย แต่ในกฎเหล็กของนายอภิสิทธิ์ก็ระบุไว้ชัด
ว่าถึงจะเป็นรัฐบาลผสมแต่ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ขณะที่ประเทศกำลังประสบวิกฤตรุมเร้าหลายด้าน ความซื่อสัตย์สุจริตของคณะผู้บริหารประเทศ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลนำออกมาใช้
สภาเพิ่งจะผ่านพ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมกลางปีแสนกว่าล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายประชานิยม ที่เน้นการลด แลก แจก แถมสารพัด
ทั้งการแจกเงิน 2,000 บาท การแจกจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่จะต้องมีการแจกชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน ฯลฯ
กรณีการแจกจ่ายถุงยังชีพบรรจุปลากระป๋องเน่า ให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วม จ.พัทลุง และการแจกเงินช่วยคนจนแถมนามบัตรรัฐมนตรี ที่จ.นครราชสีมา
ถึงจะเป็นการฉวยโอกาสเล็กๆ น้อยๆ แต่กลับสร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลอย่างใหญ่หลวง
แถมยังเป็นการจุดชนวนความหวาดระแวง ให้สังคมต้องจับตาถึงการกระจายงบประมาณกลางปีระดับหมื่นล้านแสนล้าน ว่าเอาเข้าจริงแล้ว
จะเหลือตกถึงมือประชาชนมากน้อยเท่าไหร่ จะกลายเป็น"แท่งไอติม"ที่เหลือแค่ไม้ไอติมให้ชาวบ้านหรือไม่
บทเรียนเรื่องส.ป.ก.4-01 เมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่นายกฯและรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้น พยายามปกป้องพวกเดียวกันเองจนทำให้รัฐบาลพังคามือ
ไม่ใช่บทเรียนล้าสมัย
ถ้าหากนายอภิสิทธิ์ ศึกษาบทเรียนนี้จนเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง
ก็น่าจะพบคำตอบสุดท้าย
ว่าจะหาทางออกจากปัญหาของรัฐ บาลในขณะนี้อย่างไร