วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

แฉแหลก'ฮั้ว'นมร.ร. ล็อกสเปก โกงพันล้าน

ที่มา ไทยรัฐ

ปัญหาเรื่องนมไม่ได้คุณภาพ ที่นำไปแจกเด็กนักเรียนและถูกเปิดโปงขึ้นที่จังหวัดชุมพร ได้สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของคณะกรรมการตรวจรับนม ความมักได้และมักง่ายของบริษัทจำหน่ายนม รวมทั้งผู้ร่วมขบวนการ “โกง” ที่หากินได้แม้กระทั่งเด็กตาดำๆ โดยไม่เกรงกลัวบาปกรรม หลังจากเรื่องนมไม่ได้ คุณภาพ เป็นข่าวแพร่กระจายออกไป ได้มีผู้แจ้งเบาะแสถึงนมไม่ได้คุณภาพ ที่นำไปแจกนักเรียนอีกหลายจังหวัดมาที่กระทรวงศึกษาธิการ

นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยเมื่อ 18 ก.พ. ว่า ตลอดทั้งวันที่ 17 ก.พ. มีผู้ ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนมไม่ได้คุณภาพเข้ามายังสายด่วน 1579 รวม 11 เรื่อง จากจังหวัดนครราชสีมา สมุทรสาคร อุตรดิตถ์ อยุธยา ปราจีนบุรี ปทุมธานี ชัยนาท ลำปาง นครนายก ชุมพรและกำแพงเพชร เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงที่รับผิดชอบในพื้นที่ 11 จังหวัดที่มีการร้องเรียน ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง คาดว่าจะทราบผลได้ภายในวันที่ 23 ก.พ.นี้

ขณะที่นายธีระชาติ ปางวิรุฬรักษ์ ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ได้รับนมตัวอย่างเพิ่มเติมอีก 3 โหล เป็นนมพาสเจอส์ไรส์ บรรจุถุงจากพื้นที่ อ.พะโต๊ะ และอำเภอใกล้เคียง เพื่อส่งมอบให้นายภูมิสรรค์ เสรีวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับไปดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมโดยใช้เวลาตรวจไม่เกินสัปดาห์ก็จะรู้ผล ขณะที่ ผวจ.ชุมพรก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ โดยนายสมพงศ์ มากมณี นอภ.ทุ่งตะโก ได้รับคำสั่งให้ตั้งกรรมการสอบบริษัท นำศรีชล 96 จำกัด ซึ่งได้จดทะเบียนขึ้นเป็นผู้ประกอบการในการบรรจุและจัดส่งนมใน จ.ชุมพร เบื้องต้นทราบว่าเจ้าของบริษัทดังกล่าวเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร เป็นบริษัทหนึ่งในโซน 2 ที่สามารถบรรจุและส่งนมในภาคใต้และภาคตะวันตกได้

นายธีระชาติกล่าวด้วยว่า ส่วนการแถลงของนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ส่วนตัวเห็นว่าคณะกรรมาธิการที่น่าจะเกี่ยวข้องในการร่วมกันตรวจสอบถึงความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับโครงการนมโรงเรียนคือ 1. กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ 2. กมธ.การปกครองส่วนท้องถิ่น 3. กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค 4. กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ แม้จะยังไม่ได้ตัวประธาน แต่ กมธ.ชุดนี้มีอำนาจที่จะเชิญอธิบดีกรมปศุสัตว์ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) มาให้ข้อมูลว่าเหตุใดเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องนำนมมาเททิ้ง แต่นมให้นักเรียนดื่มจากภาครัฐกลับเป็นนมไม่มีคุณภาพ กมธ.ชุดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง หากมีข้อมูลหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับกรณีโครงการนมโรงเรียน ขอความกรุณาส่งสำเนาข้อมูลหลักฐานมาให้ กมธ.ทั้ง 4 ชุดที่มีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินการตรวจสอบ และติดตามผลรายงานต่อสังคมให้ได้รับทราบต่อไป วันเดียวกัน นายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงกรณีได้ให้สัมภาษณ์ ระบุว่าหากพ้นจากเก้าอี้อธิบดี จะออกมาแฉเรื่องเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิด เรื่องเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ไม่เกี่ยวกับเรื่องนมที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ตนไม่มีความประสงค์ที่จะสร้างปัญหาให้กับใครทั้งนั้น แต่ข้อเท็จจริงคือ เม็ดเงินที่อุดหนุนกรมนั้น มีจำนวนมากถึงแสนกว่าล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นมีจำนวนมากถึง 7,853 แห่ง อีกทั้งโครงการต่างๆของ อปท. มีจำนวนมากที่จะต้องให้สวัสดิการแก่ประชาชนนับล้านคน เรื่องที่ตนต้องการให้จับตานั้น คือเรื่องการจัดซื้อหนังสือเรียน เครื่องแบบนักเรียน การแจกเบี้ยผู้สูงอายุ รวมทั้งเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ 1.2 หมื่นล้านบาท เพราะอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้น ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับกรณีนม ปัญหาของนมที่ขาดคุณภาพ เป็นอุทาหรณ์ที่เกิดจากความบกพร่องของกรรมการตรวจรับพัสดุ ที่จะต้องเร่งดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง

ต่อไป ส่วนกรณีที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย จะให้ตนชี้แจ้งในเรื่องนี้ ตนก็พร้อมที่จะชี้แจง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ประกอบการ ที่ได้รับการอนุมัติให้ขายนมให้กับโรงเรียนทั้ง 68 แห่งนั้น ในโซนที่ 1 ภาคเหนือ มีผู้ประกอบการ 18 แห่ง ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการซ้ำกัน 2 แห่ง คือสหกรณ์โคนมเชียงราย จำกัด ที่อยู่ในลำดับที่ 4 และ 6 ส่วนโซนที่ 2 ภาคตะวันตกและภาคใต้ มีผู้ประกอบการ 18 แห่ง และโซนที่ 3 ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ประกอบการ 40 แห่ง ปรากฏว่าโซนที่ 2 และโซนที่ 3 มีผู้ประกอบการซ้ำกัน 4 แห่ง คือ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด สหกรณ์โคนมกำแพงแสน จำกัด สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด และบริษัท แมรี่แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด ทั้งที่ผู้ประกอบการ 1 แห่ง ควรจะขายนมในโซนเดียวเท่านั้น

นายสุธรรม ทิพย์มโนสิงห์ นายกอบต.ปังหวาน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร กล่าวถึงการจัดซื้อนมโรงเรียนว่า เหมือนเป็นการบังคับให้ซื้อเพียง 2 บริษัทเท่านั้น แม้จะมีรายชื่อ ให้ซื้อได้ถึง 18 บริษัทก็ตาม ในความเป็นจริงอีก 16 บริษัทเหมือนตั้งมาหลอกๆ เพราะไม่เคยมีตัวแทนเดินทางมายื่นซองขายนมโรงเรียนเลย แม้ อปท.จะพยายามติดต่อแต่ จะได้รับคำตอบว่า ได้มีการแบ่งโซนกันแล้ว อีกทั้งบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ได้ตกลงแบ่งโซน ก็มักเป็นหน่วยงานของทาง ราชการ ที่ไม่มีความสามารถด้านการบริหารจัดการส่งนมไปยังพื้นที่ และเมื่อถึงเวลาประมูลงาน ก็จะได้โรงเรียนเพียง 1-2 โรง ในบางอำเภอเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งยังได้รับคำพูดเชิงข่มขู่เยาะเย้ยอีกว่า ให้ ดิ้นรนไปหาบริษัทไหนก็ไม่มีใครสนใจ เพราะแบ่งเค้กกันเรียบร้อยแล้ว ทำให้จนใจที่จะดิ้นรนหานมที่มีคุณภาพดีมาให้นักเรียน มั่นใจว่าไม่มี อปท.ไหนได้เปอร์เซ็นต์หรือคอมมิชชั่นจากบริษัทส่งนม เนื่องจากเป็นการล็อกสเปกมาจากเบื้องบนแล้ว อปท.ในอ.พะโต๊ะ ยืนยันว่าไม่เคยมีเงินเปอร์เซ็นต์แม้แต่บาทเดียวจากบริษัทส่งนมโรงเรียน ส่วนใครจะได้ต้องให้หน่วยงานอื่นที่มีอำนาจสูง มาตรวจสอบ

นายสุธรรมกล่าวด้วยว่าเคยคุยกับผู้บริหารโรงเรียนหลายโรงเรียน ในพื้นที่ชุมพร เขต 2 ทราบว่า ในสมัยแรกๆ ที่ให้พื้นที่เป็นผู้จัดซื้อเอง สามารถบริหารการแจกนม ทำ ให้ได้นมมีคุณภาพ เด็กนักเรียนชอบดื่มและได้ราคาถูกกว่าท้องตลาด จนทำให้มีเงินงบประมาณเหลือเทอมละ 1-2 แสนบาทต่อโรงเรียน แต่ละ อบต.มีโรงเรียนอย่างน้อย 4-5 แห่ง เมื่อรวมเงินที่เหลือจากการบริหารจัดการที่ดี อบต.หนึ่ง ๆ จะมีเงินเหลือถึง อบต.ละ 1 ล้านบาท ถามว่าวันนี้เงินส่วนนี้หายไปไหน เมื่อคิดยอดรวมทั้งประเทศ น่าจะเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท อีกทั้งวันนี้ราคานมโรงเรียนที่บริษัทส่ง ถูกกว่าท้องตลาดในชนิดและปริมาณเท่ากันเพียงไม่กี่สตางค์เท่านั้น ถูกกว่าไม่ถึง 1 บาท แต่ คุณภาพกลับแตกต่างกันมาก เมื่อคิดจากงบประมาณหมื่นกว่าล้านบาทและผู้ที่ได้โควตาในการส่งที่เป็นกลุ่มเดียวกันแล้ว คาดว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังน่าจะมีรายได้นับพันล้านบาท แต่เด็กนักเรียนอนาคตของชาติ กลับไม่ได้ ประโยชน์จากการดื่มนมเท่าที่ควร

ต่อมาเวลา 13.30 น. นายวิสาร หทัยธรรม ผอ.สำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ปปท. พร้อมคณะเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านปากเลข หมู่ 10 ต.พะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และโรงเรียนพัฒนศึกษา หมู่ 5 ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ ขอข้อมูลเกี่ยวกับนมโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ นายวิสารกล่าวว่า เดินทางมาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนมโรงเรียน โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับโรงเรียน เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องคุณภาพของนมเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ที่จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้มูลได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ ในเบื้องต้นคาดว่าปัญหาอาจเกิดจากการจัดเก็บหรือเกิดจากการขนส่งที่ไม่ถูกต้อง

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ผลตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างนมโรงเรียนของโรงเรียนปากเลข อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร จำนวน 1 ถุง ผลิตโดยบริษัทนำศรีชล เครื่องดื่ม ที่ได้รับจากสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. พบว่าเป็นนมตกมาตรฐาน จากการตรวจสอบครั้งนี้ถือว่ามีการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร อย่างไรก็ตาม อย.จะรอผลการตรวจคุณภาพนมโรงเรียนอีก 24 ถุง จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะทราบผลในวันที่ 23 ก.พ.นี้ หากผลตรวจพบว่าตกมาตรฐานเหมือนกัน อย.จะดำเนินการทางกฎหมายทันที สันนิษฐานว่า นมไม่ได้มาตรฐานมาจาก 3 ประเด็น คือ 1. กระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน 2. น้ำนมดิบไม่มีคุณภาพ และ 3. ใช้นมผงผสมน้ำ ขณะนี้ทราบว่าบริษัทดังกล่าว ได้หยุดผลิตนมไปแล้ว จึงทำให้ตรวจสอบได้ยาก แต่เบื้องต้น โรงงานแห่งนี้มีใบอนุญาตผลิตเครื่องดื่มถูกต้อง

ขณะที่รัฐบาลกำลังตรวจสอบปัญหานมโรงเรียนบูดและไม่ได้มาตรฐานการผลิต ปรากฏว่ากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมก็ออกมาชุมนุมประท้วงเนื่องจากไม่สามารถขายน้ำนมดิบให้กับโรงงานได้ โดยเมื่อเวลา 16.00 น. กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรีประมาณ 500 คนมาชุมนุมประท้วงที่หน้าสหกรณ์โคนมเขตปฏิรูปที่ดินลำพญากลาง หมู่ 18 ต.ลำพญากลาง อ.มวกเหล็ก เพราะไม่พอใจที่โรงงานไม่ยอมรับซื้อน้ำนมดิบ โดยมีการนำน้ำนมดิบมาเททิ้งประท้วง บ้างก็เอามาอาบแทนน้ำ หรืออย่างรายของนายนิด ฉันงูเหลือม อายุ 42 ปี ประท้วงด้วยการนำน้ำนมดิบมาล้างรถกระบะของตัวเองแทนน้ำประปา ก่อนจะสลายตัวไปชั่วคราว

ด้านนายเชวงศักดิ์ สงวนวงศ์วิจิตร ประธานสหกรณ์ฯ กล่าวถึงการไม่รับซื้อน้ำนมดิบว่า ตามปกติสหกรณ์จะรับซื้อน้ำนมดิบจากสมาชิก 118 ตันต่อวัน แบ่งส่งให้กับโรงงานและผู้ผลิตแล้ว ยังเหลือเก็บไว้วันละ 23 ตัน จนถึงขณะนี้มีน้ำนมดิบในสต๊อกกว่า 380 ตันไม่สามารถรับซื้อได้อีกแล้ว และหากยังมีเกษตรกรนำน้ำนมดิบมาขายอีก ก็อาจจะต้องเททิ้งน้ำนมดิบสต๊อกเก่าวันละ 40 ตัน สร้างความเสียหายเฉลี่ยวันละ 7 แสน บาทเลยทีเดียวเพื่อรับซื้อน้ำนมดิบใหม่เข้ามาเก็บไว้อีก จึงอยากเรียกร้องให้ทาง อสค.รีบเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด