วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ธุรกิจไร้สีในม็อบแดง ไอติมผ้าเย็นขายดี

ที่มา ไทยรัฐ

ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุกลางม็อบเสื้อแดง เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ รถเข็นไอศกรีมตักคันเล็กถูกห้อมล้อมไปด้วยลูกค้าสวมเสื้อแดง

ม็อบคนเยอะ วันแรกที่มาชุมนุม...แป๊บเดียวก็เกลี้ยงถัง กลับบ้านตั้งแต่ 5 โมงกว่าๆ

อำนาจ สุริโย อายุ 38 ปี สวมเสื้อสีเทา เจ้าของรถเข็น ว่า

อำนาจออกมาจากโรงงานไอศกรีมตลาดมหานาค 7 โมงเช้า เข็นมาเรื่อยๆ พอขายได้ประปราย มาถึงกำแพงทำเนียบรัฐบาลราว 4 โมงเช้า คนยังไม่เยอะ ก็รอดูสถานการณ์ไปพลางก่อน...ไม่นานนักก็ปักหลักขายอยู่ริมสะพานชมัยมรุเชฐ

โดนเหมาอยู่ตรงนี้ ไม่ต้องเข็นไปไหนเลยอำนาจ ว่า คนมุงแบบตักไม่ทัน หลายคนก็เหมาเอาไปแจกกันในกลุ่มที่มาชุมนุม

ไม่ถึงสองชั่วโมงไอติมในถังก็หมด ไม่คิดว่าจะขายดีขนาดนี้ ตอนแรกก็ตัดสินใจมาขายไปอย่างนั้น เป็นประสบการณ์ประทับใจในวงม็อบที่รู้สึกติดใจ

ผ่านมาวันที่สอง อำนาจยังรู้สึกดีใจไม่หาย ก็เข็นมาขายอีก มาถึงเวลาเดิมเป๊ะๆ บ่ายสองโมง ชะโงกหน้าดูถังไอศกรีมเกือบจะหมดแล้ว คงเหลือไม่ถึง 10 ถ้วย

อำนาจ บอกว่า ถ้าเป็นวันปกติจะเข็นขายอยู่แถวตลาดสี่ย่าน กว่าจะหมดก็ทุ่ม...สองทุ่ม ถึงบ้านเกือบสามทุ่ม วันไหนลูกค้าน้อย 6 โมงเย็นก็เตรียมเก็บของกลับบ้านแล้ว

ไอศกรีมตักของอำนาจ สนนราคาถ้วยละ 10 บาท จะใส่เครื่อง ไม่ใส่เครื่อง ใส่นม ใส่ถั่ว ก็ขายราคานี้ราคาเดียว

แต่ละวันขายหมดถังเดียวก็เลิก ได้เงิน 1,400 บาท เหลือกำไร 500-600 บาท

กำไรที่ได้ นอกจากเก็บเป็นค่ากินค่าใช้แล้ว ยังต้องเก็บไว้จ่ายค่าเช่าที่พักในโรงงาน วันละ 10 บาท

ต้นทุนไอติมถังละ 750 บาท วันไหนขายเหลือ ก็เป็นของเราทั้งหมด เรามีหน้าที่ขายให้หมด เพื่อให้คืนทั้งทุน...ได้ทั้งกำไร

ถามถึงบรรยากาศขายไอศกรีมในม็อบเสื้อเหลือง อำนาจบอกว่า ไม่ได้มาขาย เพราะยังทำนาอยู่ที่ร้อยเอ็ด

อำนาจจึงได้ชื่อว่าเป็นน้องใหม่ เพิ่งเข้าวงการขายของในม็อบเมื่อตอนเสร็จหน้านาเดือน 9...เดือน 10 ปีที่แล้วนี่เอง

เหตุผลที่เลือกขายไอศกรีม? อำนาจไม่อายที่จะบอกว่า เพราะความรู้น้อย จะหันหน้าไปทำอาชีพอื่นก็ลำบาก

ทางเลือกมีน้อยเหลือเกิน คิดว่าอากาศร้อนๆอย่างนี้ ยังไงไอติม ก็คงขายพอได้

บรรยากาศม็อบ การเมืองร้อนแรง อำนาจบอกว่า ไม่ได้ติดตามเท่าไหร่นัก...

ที่พักในโรงงานไอศกรีมก็ไม่มีทีวีให้ดู จะซื้อหนังสือพิมพ์อ่านก็เอาเงินไปกินข้าวดีกว่า

ถึงจะไม่มีความรู้วิเคราะห์เจาะลึกการเมืองได้ แต่พื้นฐานความรู้สึกของอำนาจก็ไม่อยากให้มีม็อบ

ผมความรู้น้อย...แต่ก็รู้ว่าประเทศที่มีม็อบ จะทำให้อนาคตย่ำแย่อำนาจ ย้ำเน้นน้ำเสียงว่า ถึงวันนี้สถานการณ์เฉพาะหน้าจะขายของได้คล่องมือ แต่ในวันหน้าก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรร้ายๆตามมาบ้าง

กำลังคุยกับอำนาจเจ้าของร้านไอศกรีมรถเข็น นม โพธิ อายุ 52 ปี สวมเสื้อสีแดง ก็เดินฝ่ากลุ่มม็อบเข้ามาเร่ขายหนังสือพิมพ์ พร้อมประโยคนำ หนังสือพิมพ์มาแล้วครับ...

นม เร่ขายหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2518 และยึดอาชีพนี้อาชีพเดียว โดยมีพื้นที่เป้าหมายหลักอยู่ตามสี่แยก เรียกว่า...มีรถติดที่ไหนก็ไปขายที่นั่น

สำหรับตลาดเร่ตามม็อบ ถือเป็นงานขายเฉพาะกิจ คนเยอะอย่างนี้แน่นอนว่าลูกค้าก็เยอะตามไปด้วย

แต่ละวันในม็อบ หนังสือพิมพ์เป็นอีกอาชีพที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ นมบอกว่า ขายได้ไม่ต่ำกว่า 200300 ฉบับ...ได้กำไร 300-400 บาท

ไม่ว่าจะม็อบเสื้อเหลือง...ม็อบเสื้อแดงไม่เคยขาด แต่ที่ประหวั่นใจอยู่บ้างก็ช่วงม็อบเสื้อเหลือง บังเอิญว่านมเอาหนังสือพิมพ์หัวหนึ่ง ฉบับเชียร์ฝ่ายตรงข้ามไปขายด้วย ก็เลยโดนทำร้าย ถูกตบเข้าที่หน้า

ไม่รู้ว่าเขาไม่ชอบ แต่เราก็เอาไปขายทุกยี่ห้อ

เมื่อเป็นอย่างนี้ ทรรศนะของนมความต่างระหว่างม็อบเสื้อเหลือง เสื้อแดงคือหัวใจที่เปิดกว้าง... ม็อบเสื้อแดงขายง่ายกว่า เพราะไม่รุนแรง ไม่สนใจว่าเราจะขายหนังสือหัวไหนที่เขาไม่ชอบ...

เสียงนมตะโกนหนังสือพิมพ์มาแล้ว ไปไกลแล้ว...สายตาก็ต้องไปหยุดอยู่กับสมาชิกม็อบเสื้อแดงนับสิบคนที่กำลังมุงอยู่กับถังใส่น้ำแข็งแช่ผ้าเย็น

นอกจากมารับจ้างวิ่งวินแล้ว ยังขายผ้าเย็นเป็นรายได้เสริม

สมเจต โหมดไทย อายุ 38 ปี เจ้าของธุรกิจขายผ้าเย็นกลางม็อบ ในชุดเสื้อวินมอเตอร์ไซค์ บอก

สมเจตรายงานยอดขายว่า เมื่อวานสุดยอด...ขายได้ 100 กว่าผืน ผ้าเย็นผืนบางผืนละ 10 บาท...ถ้าเป็นผืนหนา ผืนละ 15 บาท

กำไรเฉลี่ยอยู่ที่ผืนละ 5 บาท

สำหรับรายได้จากวินเฉพาะกิจ อยู่ที่วันละ 200-300 บาท ลูกค้าทั้งหมดมาจากม็อบ บางคนก็เป็นตำรวจ เรียกให้ไปส่งที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ไปอาบน้ำอาบท่า

ปกติสมเจตจะยึดอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อยู่ที่วินหน้าคุรุสภา แต่เมื่อมีม็อบล้อมทำเนียบ ก็ย้ายมาปักหลักรับผู้โดยสารริมกำแพงสำนักงาน ก.พ.

อาชีพเสริมสำหรับรับลูกค้าม็อบเสื้อแดงในช่วงเวลาที่อากาศแสนจะร้อนระอุขนาดนี้ นอกจากน้ำ ของเย็น คงไม่มีอะไรดีไปกว่าผ้าเย็น

ม็อบวันแรก...เริ่มตัดสินใจตอน 10 โมงเช้า ลงทุน 400-500 บาทเป็นค่าผ้าเย็น...ค่าน้ำแข็ง ส่วนกระติกใบโตที่เห็นแช่ผ้าเย็นอยู่นั้นเอามาจากบ้าน ไม่ได้ซื้อ

ขายผ้าเย็น ถึงจะลงทุนพอสมควร แต่ขายไม่หมดเก็บไว้ขายต่อวันพรุ่งนี้ได้ ผ้าเย็นไม่บูดเน่า

กว่าร้านผ้าเย็นจะพร้อมขาย กินเวลาเกือบบ่ายโมง ไม่น่าเชื่อว่า ผลตอบรับดีเกินคาด ไม่ถึงบ่ายสามโมงก็ขายหมดเกลี้ยง

กำไรจากผ้าเย็น สี่...ห้าร้อยบาท บวกกับวิ่งวินอีก สามร้อย วันนั้นวันเดียวเหลือเงินกลับบ้านเกือบพันบาท

สมเจตมีครอบครัวแล้ว มีลูก 2 คน ที่ต้องดูแล แม้ว่าภรรยาจะเปิดร้านขายของพอจะมีรายได้ทุกวัน แต่รายจ่ายยุคเศรษฐกิจอย่างนี้ก็ทำให้รู้สึกหนักใจ

จะใช้เงินแต่ละบาท...แต่ละสตางค์ ต้องประหยัด...ประหยัดเท่านั้นที่จะรอดไปได้ สมเจต ว่า ถ้าถามว่าอยากให้เมืองไทยมีม็อบหรือเปล่า...เป็นเรื่อง พูดยาก ถ้าไม่มีม็อบแล้ว ก็คงต้องกลับไปปักหลักวิ่งวินหน้าคุรุสภามีรายได้ ไม่เกินวันละ 300 บาทเหมือนเดิม

ห่างสมเจตไม่ถึงครึ่งเมตร โกมินทร์ จิตสุภาพ อายุ 29 ปี พนักงานขับรถสิ่งสินค้าเครื่องนอน Lotus เป็นอีกคนที่ใช้เวลาว่างจากงานประจำมาวิ่งวินเฉพาะกิจ

โกมินทร์ บอกว่า ปกติทำงานประจำเงินเดือน 9,000 บาท รวมเบี้ยเลี้ยง...ค่าเที่ยวก็อยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ หน้าที่หลักคือขับรถส่งของกระจายสินค้าตามสาขาห้างบิ๊กซี

ค่าเที่ยวที่ว่าคือค่าเที่ยวที่วิ่งส่งสินค้า เที่ยวแรก 30 บาท...เที่ยวสอง 40 บาท... เที่ยวที่สาม 50 บาท...เที่ยวที่สี่ 60 บาท...70 บาท...80 บาท ไล่ไปเรื่อยๆ

ปลายปีที่แล้วถึงต้นปียังพอได้วิ่ง สาม...สี่เที่ยว แต่ช่วงนี้ไม่มีเข้ามาเลย

อาชีพหลักไม่มีงานให้วิ่ง แต่อาชีพเสริมทำให้ยิ้มออก

วันแรกที่ม็อบล้อมทำเนียบ วิ่งวินยังไม่ถึงสี่ชั่วโมง...ได้เงินแล้วเกือบ สี่ร้อยบาท วันที่สองมาวิ่งอีก ไม่ถึงสามชั่วโมงได้เงินกว่าสามร้อย

อากาศร้อนๆอย่างนี้ ช่วงเที่ยง...บ่ายพอจะมีคนเรียกใช้บริการบ้าง แต่ถ้าเป็นช่วงเย็นคนจะเยอะ รถยิ่งติดมาก...มอเตอร์ไซค์จะเป็นตัวเลือกสำคัญ

อยู่ในวงม็อบอย่างนี้ ต้องถามเรื่องการเมืองสักหน่อย โกมินทร์ บอกว่า สนใจการเมืองมาก สนใจทั้งสองขั้ว...สองสีแหละครับ

แต่ละฝ่าย มีเหตุผลที่ดี...ฝั่งนี้ก็บอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ฝั่งโน้น ก็บอกว่าสู้เพื่อโน่นเพื่อนี่...สู้เพื่อประเทศชาติ คนกลางอย่างเราฟังแล้วก็สับสน

หากจะสรุปสั้นๆง่ายๆ โกมินทร์ทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้มีม็อบ ไม่ว่าสีไหนทั้งนั้น...อยากให้มันจบๆไป อย่าให้เกิดความวุ่ยวายในบ้านเมืองเป็นดีที่สุด.