วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

จับตานาทีทอง พรรคฝ่ายค้าน

ที่มา ข่าวสด


สถานการณ์ช่วงนี้ถือเป็น"นาทีทอง"ของพรรคฝ่ายค้าน

เนื่องจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังระส่ำจากสารพัดปัญหารุมเร้าทั้งภายในและภายนอก

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามปลุกปั้นให้เป็นผลงานชิ้นโบแดง

เอาเข้าจริงก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.16 แสนล้านผ่านสภาไปแล้วแต่ยังต้องรอไปจนถึงเดือนหน้าเป็นอย่างน้อย กว่าเม็ดเงินจะกระจายลงไปสู่ระดับชาวบ้าน

ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะพัฒนาขีดขั้นความรุนแรงอีกมากน้อยแค่ไหน

แต่เท่าที่เห็นตอนนี้คือเสียงเชียร์จากภาคนักธุรกิจที่เคยดังเจี๊ยวจ๊าว ในช่วงประชาธิปัตย์เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล

ผ่านไปยังไม่ครบ 2 เดือน ปรากฏว่าเบาลงไปเยอะ

นอกจากนี้รัฐบาลยังออกอาการสะดุดขาตัวเองหลายเรื่อง

เริ่มตั้งแต่ปัญหาปลากระป๋องเน่า ที่ลุกลามจนต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีผู้ดูแลรับผิดชอบ

ที่ยังมีเรื่องร้องเรียนติดตัว รอการชี้ขาดจากองค์กรอิสระก็อีกหลายคน อาทิ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และนายสุเทพ เทือกสุวรรณ รองนายกฯ เป็นต้น

การโยกย้ายข้าราชการ-ตำรวจแบบล้างบางทีใครทีมัน ถูกโจมตีว่าเป็นการกระทำสวนทางกับนโยบายสร้างความสมานฉันท์โดยสิ้นเชิง

ล่าสุดกรณีเงินบริจาค 250 ล้านบาท ที่ฝ่ายค้านนำมาเปิดโปง

ถึงจะเป็นเรื่องเก่าเกิดขึ้นมาหลายปี แต่ก็สร้างความกระสับกระส่ายให้พรรคประชาธิปัตย์พอสมควร

และที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียเครดิตไปไม่น้อย

คือเรื่อง กกต.มีมติแจกใบแดงให้ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส.ของพรรคในเขต 1 สมุทรปราการ

อีกทั้งสดๆ ร้อนๆ กับการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ที่พบว่ามีรัฐมนตรี 3 คนเข้าข่ายถือหุ้นเกินร้อยละ 5

ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งได้

ปมอื้อฉาวที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดนี้

ทำให้เริ่มมีการตั้งข้อสงสัยกันบ้างแล้ว ว่ารัฐบาลกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงภาวะ"ขาลง"เร็วกว่าที่คาดคิดหรือไม่

แน่นอนว่าการที่รัฐบาลออกอาการไม่ค่อยดีแบบนี้ ผลดีย่อมตกอยู่กับฝ่ายค้าน

พรรคเพื่อไทยนั้นสืบสายพันธุ์จากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ผูกขาดเป็นรัฐบาลมายาวนานถึง 8 ปี ก่อนจะมาเป็นฝ่ายค้าน

บทบาทใหม่นี้จึงท้าทายความสามารถอย่างมาก

ถึงจะมี"ม็อบเสื้อแดง"เป็นกองกำลังคู่ขนาน คอยเคลื่อนไหวก่อกวนรัฐบาลอยู่นอกสภา

แต่การเมืองในยามปกติ รัฐบาล-ฝ่ายค้านต้องต่อสู้หักโค่นกันในสภาเท่านั้น ประชาชนถึงจะยอมรับ

ในจังหวะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เผลอทำการ์ดตก เผยจุดอ่อนให้ฝ่ายค้านเห็นเต็มไปหมดเช่นนี้

จึงอยู่ที่ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยจะฉวยโอกาสปล่อยหมัดเด็ดได้เข้าเป้าจังๆหรือไม่

อาวุธหนักและอันตรายของฝ่ายค้านที่ใช้ต่อสู้กับรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย

คือการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

จากสภาพของพรรคเพื่อไทยขณะนี้ สมาชิกที่ได้ชื่อว่าเจนจัดในเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากที่สุดก็คือร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

และร.ต.อ.เฉลิมก็ไม่ทำให้พรรคผิดหวัง จากข้อมูลที่ได้มาเรื่องเงินบริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ 250 ล้าน

ร.ต.อ.เฉลิมแสดงความพร้อมที่จะยื่นญัตติเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 11 มี.ค.

แต่ปัญหาคือกติกาในการยื่นเปิดอภิปรายตัวนายกฯ กำหนดให้ฝ่ายค้านต้องเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกฯเข้าไปด้วย ซึ่งตามหลักการแล้วควรจะเป็นหัวหน้าพรรค

แต่เพราะนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคปัจจุบันไม่ได้เป็นส.ส. จึงเป็นนายกฯไม่ได้

พรรคเพื่อไทยจึงต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่เป็นส.ส. มาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน และสำหรับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ เพื่อให้การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ สมบูรณ์มากขึ้น

ตรงนี้เองที่ทำให้พรรคเพื่อไทยขัดแย้งกันเอง

การที่พรรคเพื่อไทยตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ จนกระทบต่อแผนการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ที่อาจต้องหยุดพักไว้ก่อน

เนื่องจากในพรรคมีผู้เสนอตัวเข้าช่วงชิงตำแหน่งหลายคน

นอกจากร.ต.อ.เฉลิม ที่ได้รับเสียงหนุนจากส.ส.ภาคอีสานจำนวนหนึ่ง

ยังมีพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ที่แสดงความพร้อมจะทิ้งเก้าอี้รองประธานสภา เพื่อมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านเสียเอง

ขณะเดียวกันชื่อนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่เงียบหายไปนานก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง

หลังการประชุมพรรคล่าสุด ร.ต.อ.เฉลิมออกมาให้ข่าวว่า พรรคมีความพร้อมจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ วันที่ 11 มี.ค.นี้

แต่ปรากฏว่ามีส.ส.และแกนนำหลายคนออกมาปฏิเสธ

ยืนยันพรรคยังไม่ได้มีมติกำหนดวันตายตัว ว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อไหร่ เพราะต้องรอตกลงกันให้ได้เสียก่อนว่าจะเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรค

เพราะทั้งสองเรื่องมีผลเชื่อมโยงถึงกัน

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ถึงแม้ว่าร.ต.อ.เฉลิมจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างดุดัน แต่การจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ช่วงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลุดจากเก้าอี้นายกฯ แล้วมีการพยายามเสนอชื่อบุคคลที่สังคมไม่ยอมรับขึ้นมาเป็นนายกฯแทน

จนทำให้พรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้นไม่ยอมรับไปด้วย และได้แปรพักตร์หันมาจับขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์

ผลักดันนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกฯ

ครั้งนั้นนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์เลยได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ

ครั้งนี้จึงต้องจับตาดูกันต่อไป ว่าความขัดแย้งในการช่วงชิงอำนาจการนำในพรรคเพื่อไทย จะทำให้รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ได้รับประโยชน์ซ้ำสอง

หลุดรอดจากการถูกตรวจสอบหรือไม่