วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

เปิดงบการเงิน ปชป .ตามล่า 23 ล้านปริศนา จ้างเมซไซอะฯทำป้ายหาเสียง จริงหรือเท็จ ?

ที่มา มติชนออนไลน์

ยังเป็นปริศนากรณีเงิน 23 ล้านบาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการจัดสรรจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองและทางพรรคนำไปว่าจ้างบริษัทเมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ด้วยเช็คจำนวน 8 ฉบับเพื่อจ้างทำป้ายโฆษณาหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2548


แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(อีเอสไอ)อ้างว่า จากการสืบสวนสอบสวน ไม่พบว่า มีการทำป้ายโฆษณาหาเสียงจริง กลับมีการถอนเงินสดออกมาหิ้วไปให้ผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ทำให้ดีเอสไอส่งเรื่องดังกล่าวไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ตรวจสอบเพราะ ถ้าไม่มีการนำเงินจากกองทุนเพื่อพัฒนาการเมืองไปใช้ทำป้ายหาเสียงจริงหรือ"ป้ายลม" ก็เข้าข่าย ผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 82 (ปัจจุบันใช้ปี 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติที่เหมือนกัน) ซึ่งกำหนดว่า การใช้เงินจากกองทุนดังกล่าวต้องไปตามที่กฎหมายกำหนดโดยพรรคการเมืองต้องจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินดังกล่าว (มาตรา 77) และต้องจัดทำรายการการใช้เงินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงยื่นต่อ กกต.ภายในเดือนมีนาคมของเดือนถัด


ทั้งนี้ โทษของการฝ่าฝืนมาตราดังกล่าว ถึงขั้นยุบพรรคประกอบ( มาตรา 93 ) ที่ระบุว่า พรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 82 ให้ยุบพรรคการเมืองนั้นโดยให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่ความปรากฏต่อนายทะเบียน


แต่เป็นเรื่องน่าแปลก เพราะถ้าข้อมูลของดีเอสไอ เป็นความจริง ทำไม จนบัดนี้ กกต.จึงยังไม่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเหมือนกับกรณีอื่นๆซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญอะไร เพราะการใช้เงินถึง 23 ล้านบาทว่าจ้งทำป้ายโฆษณาตรวจสอบได้จากเอกสารต่างๆอยู่แล้ว เช่น สัญญาจ้างระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับบริษัทเมซไซอะฯ หรือแม้แต่ใบกำกับภาษีที่ดีเอสไออ้างว่ าเป็นใบกำกับภาษีปลอม


อย่างไรก็ตามเพื่อให้ข้อมูลเรื่องนี้แก่สาธารณชน "มติชนออนไลน์" จึงตรวจสอบงบการเงินประจำ 2548 ของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เววชาชีวะ หัวหน้าพรรค(รับช่วงต่อมาจากนายบัญญัติ บรรทัดฐาน)และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เหรัญญิกพรรคเป็นผู้ลงนามและนำส่งให้แก่ กกต.เพื่อดูว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองเท่าไหร่และนำไปใช้อะไรบ้าง


ในปี 2548 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินสนับสนุนจาก กกต. 68,558,340.05 บาท ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์กำหนดว่า จะนำไปใช้ในแผนงานต่างๆ 18 รายการ เช่น สนับสนุนระบบไอที 2 ล้านบาท จัดพิมพ์นโยบายพรรค 1.5 ล้านบาท อบรมพัฒนาบุคคลากร 1 ล้านบาท จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีสาขา 5.6 ล้านบาท ประชุมใหญ่สามัญภายในพรรค 2.6 ล้านบาท


อบรมสมาชิกและหาสมาชิกเพิ่ม 2 ล้านบาท สนับสนุนสื่อสิงพิมพ์นโยบายผลงานพรรค 4.798 ล้านบาท อบรมและสัมมนาประชาธิปัตย์เพื่อประชาชน 4 แสนบาท ให้ความรู้ทางการเมืองแก่สมาชิกและประชาชน 5 แสนบาท ฯลฯ


แต่ที่เป็นงบก้อนใหญ่ที่สุดจัดทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์(ขนาดใหญ่-บิล บอร์ด) 10 ล้านบาท และทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์(ขนาดเล็ก-ฟิวเจอร์บอร์ด) 19 ล้านบาท รวมแล้ว 29 ล้านบาท มากว่า 23 ล้านบาทตามที่เป็นข่าว


อย่างไรก็ตาม เงิน 29 ล้านบาทที่ระบุว่า จัดทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่มีรายละเอียดว่า จ้างบริษัทใดบ้าง แต่รายละเอียดน่าจะอยู่ที่รายงานการใช้เงินกองทุนฯซึ่งพรรคต้องยื่นกับ กกต.


แต่น่าเสียดายที่ระบบสารสนเทศการและเปิดเผยข้อมูลของ กกต.ในด้านนี้ยังล้าหลังแบบที่ไดโนเสาร์เรียกพี่ ไม่ยอมให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ทั้งๆที่เงินก้อนดังกล่าว เป็นเงินจากภาษีอากรของประชาชน


ปริศนาเงิน 23 ล้านบาท จึงยังไม่สามารถไขให้กระจ่างได้ในขณะนี้ แม้นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองเลขาธิการพรคประชาธิปัตย์ จะยืนยันว่า ได้ตรวจสอบดูเอกสารต่างๆแล้วถูกต้องตามกฎหมายและพร้อมชี้แจงต่อไป


ดังนั้นต้องรอดูผลการสืบสวนสอบสวนของ กกต.ว่า จะเป็นอย่างไร


คดีในส่วนนี้ดีเอสไอส่งข้อมูลและพยานหลักฐานให้แก่ กกต.แล้ว ขึ้นอยู่กับ กกต.จะสืบสวนสอบสวนเพราะอยู่ในอำนาจของ กกต.โดยตรง

จึงต้องรอดูว่า กกต.จะสืบสวนสอบสวนว่า เป็นไปตามข้อกล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ยื่นงบการเงินและรายงานการใช้จ่ายเงินจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองเป็นเท็จหรือไม่


นอกจากพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ เช่น สัญญาว่าจ้างบริษัทเมซไซอะฯในการทำป้ายโฆษณาหาเสียงแล้ว


นายประจวบ สังขาว กรรมการผู้จัดการบริษัท เมซไซอะฯก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขความลับทั้งหมดซึ่งขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่า นายประจวบกบดานหรือถูกเก็บตัวอยู่ที่ไหน


เพราะหวั่นว่า ชะตากรรมของนายประจวบ อาจคล้ายกับนายกรเทพ วิริยะหรือ"ชิปปิ้งหมู"