วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2552

‘ฮิวแมนไรท์วอทช์’ เรียกร้องตั้ง กก.สอบ การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยไม่เลือกฝ่าย

ที่มา ประชาไท

เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากลแสดงท่าทีและข้อเรียกร้องต่อกรณีการชุมนุมและการใช้กำลังทหารและอาวุธของรัฐบาลไทยในการสลายการชุมนุม โดยได้ออกเอกสารการแถลงข่าว เผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั่วโลก เช่น ในเว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ หนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟของอังกฤษ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยตั้งคณะกรรมการอิสระสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในช่วงของการประท้วงที่ผ่านมา โดยให้มีดำเนินการโดยทันทีทันใด อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเป็นกลาง เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยคณะกรรมการนี้ควรตรวจสอบการกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นที่เกิดขึ้นในลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงที่รุนแรงก่อนหน้านี้ด้วย รวมทั้งในกรณีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ในขณะนี้การประท้วงจบลงไปแล้ว มันเป็นเวลาที่รัฐบาลและผู้นำการประท้วงต้องสัญญาร่วมกัน เพื่อให้การกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในลักษณะต่างๆ จบสิ้นลง และต้องทำให้มั่นใจได้ว่าผู้กระทำความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ถูกสืบสวนสอบสวนและดำเนินการเอาผิดอย่างเหมาะสม และการบาดเจ็บ ล้มตาย การสูญหายต่างๆ ในช่วงการประท้วงไม่สามารถที่จะถูกลืม หรือถูกละเลยได้อย่างง่ายดาย นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเซีย กล่าวในเอกสารการแถลงข่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่า การต่อสู้กันบนที่เริ่มขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 เมษายน ในเวลาประมาณ 4:30 น. เมื่อผู้ชุมนุมที่ปิดถนนบริเวณแยกดินแดงด้วยรถประจำทางและรถแท็กซี่ได้ตอบโต้กับทหารที่เดินหน้าเข้าหาผู้ชุมนุม โดยใช้อาวุธปืน ระเบิดขวด ระเบิดเพลิง และก้อนหิน โดยที่ทหารใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนปืน เพื่อสลายผู้ประท้วงและเพื่อเปิดการปิดกั้นถนน แต่จากภาพข่าวและพยานในเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่มีการยิงปืนส่วนใหญ่ยิงขึ้นฟ้า แต่ทหารบางคนยิงปืนตรงไปที่ผู้ประท้วง

นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนว่าใครเป็นผู้สั่งการให้ใช้กระสุนปืนกับผู้ชุมนุม และการใช้กระสุนปืนนั้รอยู่ภายใต้ภาวะแวดล้อมใด โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการปกป้องรักษาความปลอดภัยของสาธารณะ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐหน่วยงานต่างๆ มีความภาระผูกพันธ์ที่จะต้องใช้วิธีการที่ถูกกฎหมาย รวมถึงการใช้กำลังที่มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับระดับของการถูกคุกคาม หรือโดยวัตถุประสงค์ที่มีความชอบธรรม

ทั้งนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้อ้างอิงจากหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติในการใช้กำลังและอาวุธโดยการบังคับใช้กฎหมายระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐ, เท่าที่เป็นไปได้มากที่สุด, ต้องใช้วิธีการที่ไม่มีความรุนแรง ก่อนที่จะใช้กำลังและอาวุธอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อใดก็ตาม ที่การใช้กำลังและอาวุธที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องใช้กำลังและอาวุธที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องใช้ความอดกลั้นและมีการกระทำที่ได้สมควรแก่เหตุ หลักการพื้นฐานของสหประชาชาตินี้ยังได้เรียกร้องให้มีการกระบวนการจัดทำรายงานข้อเท็จจริงและการพิจารณารวบรวมข้อเท็จจริง โดยเฉพาะยิ่งในกรณีที่มีการเสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัส

เจ้าหน้าที่รัฐผู้สั่งการในการใช้เพียงกำลังอย่างถูกต้องตามกฎหมายในระหว่างการประท้วงสมควรที่จะได้รับการชมเชย แต่ทหารและตำรวจที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุต้องไม่สามารถหนีรอดไปจากการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินการเอาผิด และรัฐบาลไม่สามารถจะเอาผิดกับแกนนำการประท้วงเพียงอย่างเดียว เพราะรัฐบาลจะทำให้กฎหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์ นายอดัมส์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศสถานการฉุกเฉินที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 12 เมษายน เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ในขอบเขตที่กว้างมากเกินไป ซึ่ง พ.ร.ก. นี้ยังบังคับใช้ในกรุงเทพและจังหวัดโดยรอบ โดยระบุว่า แม้ว่าการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจะใช้ได้ไม่เกิน 30 วัน แต่ไม่มีการจำกัดว่า จะสามารถใช้ได้กี่ครั้ง และมันสามารถขยายการใช้ได้โดยมติคณะรัฐมนตรี

การใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเอื้อให้เกิดการใช้อำนาจเกินขอบเขต มันได้สร้างความเสี่ยงของการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ขาดความเหมาะสม ขาดความชัดเจน คลุมเครือ และเกินขอบเขต ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเรียกร้องให้มีการสืบสวนการใช้ความรุนแรงในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 ซึ่งชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหุ่นเชิดของทักษิณ ชินวัตร ทุจริต ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งระหว่างการประท้วง มีทั้งการปิดสนามบินนานาชาติ และทำเนียบรัฐบาล เกิดการปะทะกับกลุ่ม นปช. ในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมหลายพันคนปิดทางเข้ารัฐสภา เพื่อไม่ให้นายสมชายเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต่อมาตำรวจปราบจราจลและตำรวจตระเวนชายแดนได้ใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อเคลียร์พื้นที่ ซึ่งมีบางกรณีที่แก๊สน้ำตาถูกยิงในระยะประชิดไปยังผู้ชุมนุมโดยตรง

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ได้ตอบโต้โดยการยิงปืน ยิงหนังสติ๊ก ขว้างก้อนอิฐและท่อนเหล็ก และพยายามโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยขับรถชนและแทงด้วยเสาธง โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ระบุว่า มีผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บ 443 ราย ตำรวจบาดเจ็บ 20 นาย ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการสืบสวนที่เป็นอิสระและเป็นกลาง ต่อกรณีความรุนแรงที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงของพันธมิตรฯ

การที่ความรุนแรงในการประท้วงจบลงเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่ความรุนแรงทางการเมืองประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นได้อีกทุกเวลา ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่จะยุติวงจรของความรุนแรงลง โดยหนทางที่จะทำได้สำหรับรัฐบาลไทยคือการทำให้เกิดความรับผิดต่อผู้กระทำไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ฝ่ายการเมืองข้างใด

..........................................

แปลและเรียบเรียงจาก http://www.unhcr.org/refworld/docid/49e6e8221e.html

http://www.hrw.org/en/news/2009/04/15/thailand-end-protests-time-accountability