วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

ปริมณฑลแห่ง "สี"

ที่มา ประชาไท

สุกัญญา สุดบรรทัด ส.ว. สรรหา คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

*บทความนี้ตีพิมพ์รั้งแรกในมติชนรายวัน วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11364

หน้าประวัติศาสตร์ไทยจารึกเหตุการณ์พี่น้องไทยทำร้ายกันเองถึงขั้นนองเลือด

มีคำถามว่า บทบาทของสื่อมวลชนในกรณีเช่นนี้ควรเป็นเช่นใด

มีตัวอย่างที่น่าสะพรึงกลัวมาก่อนหน้านี้แล้ว

เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 1994 เป็นบทเรียนสอนใจผู้รักเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ให้ระมัดระวังการเสนอข่าวที่จะ "จุดไฟเผาเมือง"

เนื่องเพราะในรวันดาขณะนั้น สื่อมวลชนมีบทบาทสูงยิ่งในการ บิดเบือนข่าวสาร สร้างภาพพระเอก ผู้ร้าย

ประชาชนนับล้านคนต้องเซ่นสังเวยชีวิตของตนเองให้กับปลายปากกาและคมเลนส์ของสื่อ ที่สนับสนุนการกระทำรุนแรงของทหารบ้านฝ่ายรัฐบาล โดยการเน้นย้ำวาทกรรม "ฆ่าคนชั่วไม่ผิด"

ข่าวทางเดียวถูกนำเสนอ สีดำถูกป้ายลงไปยังกลุ่มกบฏทุตซีครั้งแล้วครั้งเล่า

จนกระทั่งกลายเป็นผ้าม่านมืดทึบดำสนิทที่ผืนใหญ่พอจะปกปิดความจริงอันอัปลักษณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมชาติ

ม่านฝนที่ดำทะมึนในฤดูสงกรานต์ของประเทศไทย จะต่างอะไรกับฉากสีดำที่รัฐบาลฮูตูแห่งรวันดาได้สร้างขึ้น หากสื่อมวลชนไทยมิได้เสนอความจริงอย่างเป็นธรรมและรอบด้าน

การเซ็นเซอร์ข่าวสารบางอย่าง แม้พอมีเหตุผลอยู่บ้างว่าเป็นความจำเป็นในสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ปัญหามีอยู่ว่า ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนแต่ละครั้ง ความจริงรอบด้านได้ถูกเสนอไปแล้วหรือไม่

หรือที่เสนอนั้นมันเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว

แล้วความจริงครึ่งเดียวนั้นแหละที่มีส่วนไปปลุกความโกรธแค้นและความเกลียดชัง

ที่ยังไม่รู้จะหาน้ำที่ไหนมาดับไฟกองนี้เสียได้

ในท่ามกลางความแตกต่างและแตกแยก เราจะไม่อาจนำนาวาแห่งประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจอันรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้

มีแต่ความแตกต่างที่ร้อยประสานกันอย่างมีเอกภาพ ที่จะสามารถนำนาวาประเทศผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้

โดยมิพักต้องชี้หน้าหาคนผิดเพื่อเอามาเซ่นสังเวย

อิสรภาพและเสรีภาพของสื่อมวลชน มีไว้เพื่อการนำเสนอความจริงที่ถูกกลั่นกรองและตรวจสอบให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิถีทางของตนเอง

และแน่นอนว่า ความจริงที่มีคุณค่าถึงปานนั้น ย่อมไม่ใช่ความจริงที่ถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มเดียวที่สถาปนาตนเองเป็นผู้พิทักษ์ "ความดี"

เพราะ "ความดี" ในระดับโลกียะ เป็น "ความดี" ที่ลื่นไหลได้ เป็น "ความดี" ที่ขึ้นอยู่กับบริบทแห่งภูมิหลังของผู้ตัดสินความดี

ดังนั้น ความถูกต้อง และ "ความดี" จึงอาจมีความหมายที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าเป็นความดีของใคร

"ความดี" ของคนหนึ่งอาจเป็นอย่างหนึ่ง และ "ความดี" ของอีกคนหนึ่งก็อาจจะเป็นอะไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันชนิดตรงกันข้าม

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะยอมรับ "ความดี" ของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไรในเมื่อเห็นไปเสียแล้วว่า สิ่งนั้นคือความชั่วร้าย หาใช่ "ความดี" ที่ว่ากันไม่

การทะเลาะเบาะแว้งจะเกิดขึ้น

การแตกแยกของคนในครัวเรือนเดียวกันจึงเกิดขึ้น

เพื่อนฝูงในวงเหล้าเดียวกันถึงกับลุกขึ้นฆ่ากัน

แล้วความพินาศจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่เคยเกิดกับพวกฮูตูและทุตซี

ความเจริญของสื่อยุคโลกาภิวัตน์ ก้าวไปไกลถึงขั้นเกิดสื่อทางเลือกมากมายหลายสถาน

ข้อมูลข่าวสารที่กระจายไปทั่วโลกในระดับเอ่อล้น ทำให้ผู้คนต้องเลือกเสพรับเฉพาะส่วนที่ตนเองเห็นว่าถูกจริตอัธยาศัย

และในสภาพของการแตกแยกทางความคิด หลายคนอาจถึงขั้นเลือกบริโภคเฉพาะข่าวสารที่รับแล้ว "ไม่เจ็บปวด"

ทัศนะวิสัยของคนสีเหลือง จึงแน่นแทบปริอยู่ในมณฑลของข้อมูลข่าวสารสีเดียวกัน ลักษณะเดียวกันก็เป็นจริงกับคนใส่เสื้อสีแดง

เหลืองยิ่งเหลืองเข้มข้น แดงยิ่งแดงแก่ก่ำ

ดื่มด่ำในอารมณ์ความรู้สึกแห่งสี

เกาะเกี่ยวในมายาคติของคนที่สวมเสื้อสีเดียวกัน

จดจำวาทกรรมของเพื่อนพ้อง

พูดคุยในวาทกรรมของเพื่อนพ้อง

ซึ่งเสริมเติมความเข้มข้นของอัตลักษณ์แห่งสีจนสุกงอม

และพร้อมต่อการปะทะกับผู้แตกต่าง

ปริมณฑลแห่ง "สี" ครั้นเมื่อได้ถูกสร้างขึ้นมาแล้วด้วยน้ำมือของใครต่อใครมากมายนับไม่ถ้วน

มันย่อมสามารถเป็นได้ทั้งแรงบันดาลใจ และอาวุธสังหาร

ขึ้นอยู่กับการบริโภคข้อมูลข่าวสาร ว่าจะส่งเสริมการทำงานของ "สมอง" หรือของ "กล้ามเนื้อ"

ถ้าเสริมการทำงานของสมอง มันจะนำไปสู่ความมีสติ และความละอายต่อบาป

ถ้าเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อ มันจะยั่วยุให้คนเดินออกไปสู่ท้องถนน หรือเข็นรถถังออกมา แล้วทุกคนก็พร้อมต่อการสู้รบ

ฉากต่อมาคือความเสื่อมโทรม และการเดินถอยหลังของประเทศชาติไปอีกนานเท่านาน

เหตุการณ์ ความไม่สงบที่เมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1992 มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างคนผิวขาวและผิวดำ ทำให้เกิดการจลาจลเผาบ้านเผาเมือง เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สร้างความตระหนกตกใจไปทั่วโลก

สื่อมวลชนอเมริกันตีข่าวนี้กันอย่างพร้อมเพรียง บนสติ และความกลัวที่ว่า การเสนอข่าวอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

ข่าว อาจกลายเป็นเชื้อให้ติดไฟอารมณ์แห่งความเกลียดชังคลั่งแค้น

เหตุการณ์รุนแรงในเมืองหนึ่ง อาจพัวพันไปเกิดในอีกเมืองหนึ่ง

เรื่อง "สี" ก็เข้ามาเกี่ยวข้องตรงนี้

ถ้าทำข่าวเอาใจคนผิวดำ คนผิวขาวก็จะโกรธ

ถ้าเอาใจคนขาว คนผิวดำก็จะอาฆาตแค้น

บ้านเราแม้คนจะผิวคล้ายๆ กัน และเชื้อชาติเดียวกัน ก็อุตส่าห์เอาสีเสื้อมาเป็นตัวแบ่งแยก

เรื่องมันเป็นอย่างนี้เสียด้วย

ในบรรดารัฐต่างๆ มิชิแกนเป็นรัฐที่เสี่ยงต่อพฤติกรรมเลียนแบบมากที่สุด

ก่อนหน้านั้น ในปี 1967 ที่เมืองดีทรอยท์ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ และมีคนผิวดำเป็นกรรมการอยู่ที่นั่นจำนวนมาก

คนผิวดำเหล่านี้ได้ลุกฮือขึ้นมาเผาบ้านเผาเมือง ด้วยความเกลียดชังคนผิวขาวซึ่งคนผิวดำเชื่อว่าปฏิบัติต่อตนอย่างไม่ยุติธรรม

ยี่สิบห้าปีผ่านไป ความขมขื่นอันเกิดจากการแบ่งแยกสีผิว ไประเบิดอีกครั้งในต่างเมืองคือ ลอสแองเจลิส

บรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 แห่งดีทรอยท์ เรียกประชุมกองบรรณาธิการเพื่อหาข้อสรุปในการนำเสนอข่าวที่จะสร้างสันติภาพ มากกว่าเป็นบ่อเกิดแห่งสงครามกลางเมือง

ใครๆ ก็รู้ว่า โทรทัศน์มีอิทธิพลต่อผู้ชมมากมายมหาศาล

แน่นอนว่า สถานีโทรทัศน์ช่องนี้ จะต้องเสนอข่าวจลาจล

แม้จะเสี่ยงต่อการปลุกเร้าชาวเมืองดีทรอยท์ ให้โกรธแค้นแทนเพื่อนร่วมผิว แต่บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน ก็คือการเสนอความจริง

เมื่อความจริงปรากฏขึ้นตรงหน้า

จะหลีกเลี่ยงไม่เสนอ แล้วยังจะเรียกว่าเป็นสื่อของมวลชนได้อีกหรือ??

และถ้าเสนอ จะเสนออย่างไร นี่คือเรื่องสำคัญ

ผลสรุปของกองบรรณาธิการในครั้งนั้น ก็คือการเสนอข่าวอย่างรอบด้าน ของคนทั้งสองสีผิว

นักข่าวทั้งผิวขาวผิวดำ ลงไปสัมภาษณ์ชาวเมืองให้พวกเขาได้เล่าถึงความพินาศย่อยยับอันเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบในครั้งนั้น

หลังจากการพร่ำพรรณาถึงความทุกข์และความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของบุตรชายในเหตุการณ์ความไม่สงบ หญิงชราผิวดำก็เริ่มเล่าถึงการเข้ามาช่วยเหลือของสมาคมชาวผิวขาว

และชายหนุ่มผิวขาว ก็เริ่มเล่าถึงเพื่อนผิวสีดำที่ช่วยชีวิตเขาไว้ในเหตุการณ์จลาจล

การรายงานข่าวจลาจลในลอสแองเจลิส ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับภาพการให้สัมภาษณ์ของเพื่อนร่วมชาติต่างผิวในเชิงบวก

ความรัก ความพยายามประสานรอยร้าว ถูกนำมาออกอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หาใช่การเอาภาพแห่งความชั่วร้ายของอีกฝ่ายหนึ่งมาเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่า

และย่อมมิใช่การเสริมเติมให้ฝ่ายหนึ่งดีเลิศประเสริฐศรี แล้วถล่มให้อีกฝ่ายกลายเป็นปีศาจ

หลายเดือนผ่านไป เมฆทะมึนบนท้องฟ้าที่ดีทรอยท์ก็ทุเลาเบาบาง

พร้อมกับการสรรเสริญจากชาวสื่อทั้งมวล

ว่านี่แล้วคือ "วารสารศาสตร์ยอดเยี่ยม"

เอเมอรี่ คิง บรรณาธิการฝ่ายข่าวผิวสีดำโทรทัศน์ช่อง 4 ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเข้ารับรางวัลด้านสื่อว่า

"ผมเพียงแต่ขุดค้นลงไปหาความจริงในชีวิตของผู้คน และนำเสนอมันออกมาผ่านสายตาอันหลากหลาย"

ในชีวิตของความเป็นนักข่าว ย่อมเผชิญกับแรงกดดันมากมายหลายประการ

เพราะภารกิจแห่งความเป็นสื่อนั้นใหญ่หลวงนัก

ถ้าจะว่าไปแล้ว ปริมณฑลแห่งสีผิวนั้นขึงตึงเครียดยิ่งนัก เพราะมันเป็นสิ่งที่ติดตัวมาโดยกำเนิดอันไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าจะว่าไปแล้ว ปริมณฑลแห่งเผ่าพันธุ์เชื้อชาติที่แตกต่างระหว่างฮูตู และทุตซี ใหญ่โตและขึงตึงเครียดยิ่งนัก เพราะมันเป็นสิ่งที่ติดตัวมาโดยกำเนิดไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

แล้วสีเหลือง สีแดง อันเป็นสิ่งที่มนุษย์เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

มันจะกระไรกันนักหนา

นี่ถึงกับจะฆ่าจะแกงกันเชียวหรือไร??

คงไม่มีใครรู้รายละเอียดแห่งเรื่องราวตั้งแต่การปฏิวัติ 2549 จนถึงปัจจุบันได้ดีกว่าสื่อมวลชนไทย

ในท่ามกลางข้อจำกัดแห่งการเสนอข่าว

ยังมีความรอบด้านในปริมณฑลแห่งสื่อ พอให้สรรเสริญแซ่ซ้องบ้างหรือไม่

คำตอบคือตัวตัดสินศักดิ์ศรีแห่งสื่อมวลชนนั่นเอง