วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

ได้เวลารื้อคุกเป็นสวนสาธารณะกลางเมือง

ที่มา ประชาไท

ธเนศวร์ เจริญเมือง

เชียงใหม่เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของประเทศ ที่ไม่เพียงแต่นำไปโฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว หากเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน สมควรที่คนของเมืองนี้ ตลอดจน ผู้บริหารหน่วยงานทั้งหลายและรัฐบาลจะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ

การที่มีศิลาจารึกกำเนิดวันเดือนปีเกิดของเมืองอย่างชัดเจนอาจมีคนแย้งว่าเป็นศิลาจารึกที่เขียนภายหลัง แน่นอน ศิลาจารึกที่วัดเชียงหมั้นที่ระบุวันเดือนปีเกิดของเมืองเชียงใหม่จัดทำขึ้นเกือบ 200 ปีหลังจากพ.ศ.1839 อันเป็นปีที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่หากบอกว่าใครก็สร้างศิลาจารึกได้ภายหลัง คำถามมีว่า แล้วเหตุใดเมืองอื่นๆ ส่วนใหญ่จึงไม่มีศิลาจารึกเช่นนั้นบ้าง

เชียงใหม่เคยเป็นศูนย์อำนาจสำคัญในหุบเขาของภาคเหนือ เป็นเมืองหลวงของรัฐอิสระ มีกษัตริย์ปกครองสถาปนาราชวงศ์ยาวนานถึง 262 ปี (พ.ศ. 1839-2101) ต่อจากนั้น ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและสยามนานรวมกันถึง 341 ปี (พ.ศ. 2101-2442) ก่อนจะถูกผนวกและลดฐานะ

ก็เพราะเหตุนี้เอง ใครๆจึงยกย่องเมืองนี้ให้เป็นเมืองแห่งอารยธรรม ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภาคเหนือ เมืองแห่งวัฒนธรรม เมืองแห่งประเพณี

แต่พอใครมาเห็นจริงๆ ก็ไม่เห็นเหมือนคำเล่าลือหรือไม่เหมือนในแผ่นพับหรือโปสเตอร์ของการท่องเที่ยว เพราะเมืองเต็มไปด้วยความแออัด รถติดทั้งวัน อาคารสูงระเกะระกะไปทั่ว ระบบขนส่งมวลชนไร้ประสิทธิภาพ จะข้ามถนนแต่ละครั้ง ก็ยากนักที่จะมีรถคันไหนหยุดให้

ที่เป็นปัญหาค้างคาใจนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ ก็คือที่ว่าเป็นเมืองเก่านั้น นอกจากกำแพงเมืองและคูเมืองแล้ว มีตรงไหนบ้างที่ถือว่าเก่าแก่ เพราะแต่ละวัดที่ว่าเก่าแก่ก็ล้วนปรับปรุงและตกแต่งจนใหม่เอี่ยมอ่อง ถ่ายรูปแทบจะนำไปบอกใครที่ไหนได้ว่า นี่คือวัดเก่าแก่ 700 ปี

นอกจากนั้น เมืองอันเก่าแก่ เคยมีราชวงศ์ปกครองยาวนาน กลับไม่มีพระราชวังสักหลัง ภายในกำแพงเมือง มีแต่สถานที่ราชการและร้านค้า จำนวนโรงแรมและเกสต์เฮ้าส์มีแต่เพิ่มขึ้น มีแม้กระทั่งสถานโบลิ่ง ส่วนสถาบันการศึกษาก็คิดจะเพิ่มจำนวนอาคารและนักเรียน

ที่น่าตกใจคือ บริเวณที่เป็นเขตพระราชวังเก่ากลับมีแต่คุกขนาดใหญ่ พร้อมกับบ้านพักข้าราชการและบ้านของเอกชน ไม่มีอะไรบอกเลยว่านี่หรือเมืองเก่าแก่ 700 ปีเศษ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมาที่ชาวเมืองบางส่วนตื่นตัวเรียกร้องให้ฉลองวันเกิดเมืองครบรอบ 700 ปีอย่างมีความหมาย หนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญก็คือ ให้ย้ายคุกออกไปรอบนอก ด้วยเหตุผลสำคัญ 4-5 ข้อ คือ 1.นั่นเป็นพื้นที่มงคล เป็นพื้นที่ของผู้นำ การนำ การบริหารเมืองและการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเมือง

2. ที่นั่นย่อมมีสิ่งก่อสร้างและเศษซากอารยธรรมล้ำค่าต่างๆตั้งแต่ พ.ศ. 1839 เป็นต้นมา แม้ว่าจะมีการรื้ออาคารต่างๆมากมายเพียงใดไม่ว่ากี่ร้อยปีมานี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ทำลายได้ก็คือ สิ่งที่ฝังอยู่ในพื้นดิน นั่นแหละที่เขาเรียกว่าประวัติศาสตร์ที่พูดได้ อดีตไม่ว่าจะเก่าแก่เพียงใด ก็บอกคนรุ่นหลังได้เพราะโบราณวัตถุคือกุญแจที่ไขสู่อดีต อดีตที่เต็มไปด้วยสติปัญญาของบรรพชน

3. คุณค่าดังกล่าวจึงมีทั้งการเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แหล่งสร้างรายได้ และที่ยิ่งกว่าคือ ความรู้เกี่ยวกับอดีตที่เป็นความภาคภูมิใจและรวมจิตรวมใจของคนรุ่นหลังๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว

4. คุกควรมีพื้นที่กว้างขวาง จึงควรย้ายไปอยู่รอบนอก เป็นผลดีต่อทุกๆ ฝ่าย

5. ประวัติศาสตร์เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วเป็นเรื่องของการทำลาย การเอาคุกและนักโทษ มาคุมขังในเขตพระราชฐาน แล้วรื้อทิ้งพระราชวังทั้งหมดนั้นเจ็บปวดเกินกว่าที่จะต้องพูดถึงอีก

และสุดท้าย เมืองเชียงใหม่เคยมีข่วงหลวง (สวนใหญ่) กลางเมือง แต่กลับหายไป เมืองนับวันจะใหญ่โตมากขึ้น อาคารบ้านเรือนมากขึ้น ผู้คนและรถรามากขึ้น ต้องการสีเขียวเพิ่มขึ้น

การมีมติของคณะรัฐมนตรีให้รื้อคุกออกไปและให้สร้างสวนสาธารณะจึงเป็นมิติประวัติศาสตร์ และเป็นของขวัญล้ำค่าสำหรับเมืองเชียงใหม่

คนเชียงใหม่ที่รณรงค์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นไม่ปรารถนาจะกลับไปหาอดีต ไม่ปรารถนาจะถอยกลับไปรื้อฟื้นอาคารพระราชวังใหญ่โตแบบเมื่อ 600-700 ปีที่แล้ว

แต่ปรารถนาจะเห็นข่วงหลวงกลางเมือง ให้เป็นที่พักผ่อน เป็นปอด เป็นลานให้คนเดินเล่น สนทนากัน วิ่งออกกำลังกายรอบๆ พบปะกัน ได้มองรอบๆที่มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นกลางเมืองที่ควรจะงดงามกว่านี้ เป็นลานให้ผู้คนได้นั่งฟังดนตรี ชมการแสดง ชมละคร ฟังการสนทนาปราศรัยที่ประเทืองปัญญา ฯลฯ

ไม่อยากฟังความเห็นประเภทคุกอายุ 100 ปีเศษ สมควรอนุรักษ์ไว้เพราะเป็นของเก่าแก่ กระทั่งพูดว่าต้องเก็บไว้ให้ลูกหลานเห็นจะได้หวาดกลัว ไม่กล้าทำความผิด หรือเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนไปเยี่ยมชม หรือเปิดห้องให้เข้าพักเป็นโรงแรมเพื่อหารายได้

หรือข้ออ้างที่ว่าประวัติศาสตร์ 700 ปีเศษ คุกก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นั้น ฉะนั้น จึงสมควรเก็บไว้ อ้าว แล้ว ประวัติศาสตร์ 3-4-5-6-700 ปีเล่า ทำไมไม่เหลือสักอย่าง เก็บไว้แต่คุกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ กินพื้นที่ส่วนใหญ่ เหลือสนามหญ้าเพียงนิดเดียว นอกนั้นไม่มีอะไรอีก

แล้วข่วงหลวงที่เรียกร้องกันตลอดมาเล่า เรียกร้องกันมาตั้งแต่แรกสุด ไม่เคยเรียกร้องขอให้สร้างพระราชวังกลับคืนมาแม้แต่น้อย คนเชียงใหม่อยากได้สวนกลางเมือง ได้ยินไหม

บัดนี้ พี่น้องเชียงใหม่โปรดพิจารณา เทศบาลที่จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ โปรดฟัง

ข้อเสนอให้รื้อถอนคุกออกไป แล้วเปิดพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะ ให้เป็นปอดกลางเมืองเป็นข้อเสนอที่ทุกคนควรถอยคนละก้าว นั่นคือ ไม่รื้อฟื้นพระราชวัง และไม่เก็บคุกไว้เป็นพิพิธภัณฑ์

เมืองเชียงใหม่ต้องการข่วงหลวงกลางเมืองสำหรับคนอยู่และผู้มาเยือนทุกๆ คน

ส่วนเทศบาลจะมอบหมายให้ผู้รู้กลุ่มใดขุดค้นพื้นที่บางส่วนที่สันนิษฐานว่าจะเป็นแหล่งโบราณสถานในประวัติศาสตร์ ก็สมควรเปิดพื้นที่เฉพาะส่วนให้มีการศึกษา เป็นบริเวณที่จำกัด เปิดเผยโปร่งใส มีระยะเวลาศึกษาค้นคว้าชัดเจน ไม่ใช่เปิดพื้นที่ทิ้งไว้แล้วหายไปเป็นเดือนๆ แต่จะต้องรายงานผลการศึกษาค้นคว้าให้ชาวเชียงใหม่ได้ทราบเป็นระยะๆ

ให้การตัดสินใจ และการทำงานของเทศบาลในเรื่องนี้เปิดเผย โปร่งใสและอยู่ในสายตาและความสนใจของประชาชนชาวเมืองอย่างต่อเนื่อง

ให้ต่อจากนี้ไป พื้นที่บริเวณดังกล่าวรวม 22 ไร่เป็นข่วงหลวง และมีการค้นคว้าขุดเจาะเฉพาะบางส่วนเท่านั้น ส่วนจะตัดสินใจขุดค้นเพิ่มเติมต่อไปอย่างไรในอนาคต ก็ขอเสนอให้ชาวเมืองตัดสินใจหลังจากได้ทราบผลการศึกษาค้นคว้าเป็นระยะๆ แล้ว

นี่ต่างหากที่เป็นเมืองเชียงใหม่ของชาวเชียงใหม่ทุกๆคน เมืองที่ทุกคนมาช่วยกันสร้าง