วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ศาลให้รอลงอาญา 1 ปีคดีคนเสื้อแดงชุมนุมปิดสามเหลี่ยมดินแดงฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ที่มา ประชาไท

ศาลอาญาพิจารณาคดีคนเสื้อแดงชุมนุมปิดสามเหลี่ยมดินแดงฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วานนี้ (19 พ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 27 ศาลแขวงพระนครเหนือ ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่ ว.5333/2552 ซึ่งพนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวงพระนครเหนือ ได้นำตัว นายไพโรจน์ งามวิเศษ นายทองสุข ดีสุย นายโกสน ธีรธรรมพร และนายจัน ควรมูล ผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ต้องหาที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 ที่ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และความผิดมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 มายื่นฟ้องต่อศาลด้วยวาจา

คำฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2552 จำเลยกับพวกเกินกว่า 10 คนซึ่งยังหลบหนีอยู่ ได้ร่วมกันชุมนุมและใช้กำลังประทุษร้าย โดยปิดถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า และถนนดินแดง รวมทั้งบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง แขวงดินแดง เขตพญาไท กรุงเทพฯ โดยการชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้เข้าห้ามปรามสั่งให้เลิกแล้ว แต่จำเลยกับพวกไม่ยอมเลิก โดยจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ

สั่งจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 แต่เห็นจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุก จึงลดโทษให้รอลงอาญา

ศาลพิเคราะห์คำฟ้องประกอบคำแถลงรับสารภาพแล้ว เห็นว่าจำเลยทั้งหมดกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาให้จำคุกจำเลยคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ให้จำคุกจำเลยคนละ 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสี่ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โดยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีอีกหลายสำนวน โดยเฉพาะคดีของ นายสุพร อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสานอดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน ในฐานะแกนนำ นปช. ยังอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งจากอัยการฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ซึ่งนายสุพรได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ โดยอัยการนัดฟังคำสั่งคดีวันที่ 21 พ.ค.นี้

รวบอีกหนึ่งเสื้อแดงทุบรถนายกฯ ที่ มท.

วันเดียวกัน พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผกก.สส.บก.น.6) ได้นำกำลังเข้าจับกุม นายสมศักดิ์ บัวคลี่ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 224/126 หมู่ 5 ต.บางเมือง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ผู้ต้องหาลำดับที่ 10 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ออกหมายจับกรณีร่วมกันบุกรุกและทำลายทรัพย์สินทางราชการที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ตามหมายจับที่ 1010/2552 ลงวันที่ 15 เม.ย.2552

พ.ต.อ.เอกรักษ์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนรับแจ้งว่าพบบุคคลต้องสงสัยเป็นบุคคลเดียวกับที่มีการออกหมายจับ อยู่ที่บริเวณท้องสนามหลวง เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบและพบว่าผู้ต้องสงสัยรายดังกล่าวกำลังจะเดินทางไปตลาดคลองเตย จึงติดตามไปจนสามารถจับกุมได้ที่บริเวณสะพานมอญ ถนนวังบูรพา แขวงวังบูรพาภิรมย์ โดยเบื้องต้นผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง แต่ไม่ได้ทุบทำลายรถของนายกฯ และไม่รู้จักผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ตำรวจจึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เพื่อดำเนินคดีต่อไป

ขวัญชัยกังขาวิทยุชุมชน 8,000 คลื่น ทำไมเลือกจับบางแห่ง

ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายขวัญชัย สารคำ หรือ ขวัญชัย ไพรพนาอายุ 56 ปี แกนนำ นปช.รุ่นสอง และประธานชมรมคนรักอุดร ผู้ก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนคนรักอุดร คลื่นเอฟเอ็ม 97.5 เมกะเฮิรตซ์ พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ประเสริฐ พัฒนาดี ผู้กำกับการ 3 บก.ป. ตามหมายเรียก เพื่อรับทราบข้อหา ทำ มี ใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต เบื้องต้น นายขวัญชัย ให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นศาล

นายขวัญชัย กล่าวว่า กรณีวิทยุชุมชนคนรักอุดรนั้น เขาไม่ได้เป็นผู้จัดตั้ง แต่ดำเนินการโดยสมาชิกชมรมคนรักอุดรรวม 317 ราย ที่ผ่านมามีการบริหารจัดการโดยรับสมัครสมาชิกซึ่งต้องเสียค่าสมัครรายละ 30 บาท ขณะนี้มีสมาชิก 25,000 คน ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกมี 200,000 คน

ผมอยากถามว่าสถานีวิทยุชุมชนมีจำนวนกว่า 8,000 แห่ง ทำไมเจ้าหน้าที่จึงเลือกเข้าตรวจค้นและปิดสถานีวิทยุชุมชนเพียงบางแห่ง ผมยืนยันว่าจะเปิดสถานีวิทยุแห่งนี้ต่อไป เพราะขณะนี้ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ยังไม่มีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับภาครัฐหรือเอกชน

ศาลจำหน่ายคดีพันธมิตรบุกทำเนียบ

วันเดียวกัน ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดย นายลอยเลื่อน บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 5 คน และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร เรื่องละเมิด กรณีนำประชาชนบุกเข้าไปชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล และขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยออกจากทำเนียบ

ทั้งนี้ สาเหตุที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเห็นว่าโจทก์และจำเลยต่างแถลงรับข้อเท็จจริงแล้วว่า พวกจำเลยได้พ้นออกจากทำเนียบรัฐบาลไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยกับพวกออกจากพื้นที่ตามคำขอท้ายฟ้องอีก

นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของกลุ่มพันธมิตร กล่าวว่า คดีที่แกนนำพันธมิตรถูกยื่นฟ้องทางแพ่ง คงเหลือคดีในชั้นพิจารณาของศาลอีก 2 สำนวน คือ คดีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรรวม 13 คน เรื่องละเมิด และขับไล่ออกจากสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ คดีดังกล่าว ศาลนัดพร้อมคู่ความในวันที่ 28 ส.ค.นี้ เวลา 13.30 น.

นอกจากนั้นยังมีคดีปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่ง ทอท. ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง กับพวกรวม 13 คน เรื่องละเมิดเช่นเดียวกัน พร้อมเรียกค่าเสียหาย 245,790,794.42 บาท และค่าเสียหายรายวันอีก 122,844,913 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องและขับไล่ คดีนี้ศาลแพ่งรับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 6474/2551 ซึ่งจำเลยทั้ง 13 คนได้ยื่นคำให้การคัดค้านฟ้องโจทก์แล้วเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา

อริสมันต์อ้างเสื้อน้ำเงินต้นเหตุป่วนพัทยา

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมี นายสมศักดิ์ บุญทอง เป็นประธาน โดยวานนี้คณะกรรมการได้เรียกแกนนำ นปช.เข้าให้ข้อมูล

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายเป็นคิวของนายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย และนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช. โดย นายอริสมันต์ กล่าวตอนหนึ่งว่า คนเสื้อแดงไม่ได้ต้องการไล่ล่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ถึงขั้นจะต้องฆ่าให้ตายหรือหมายเอาชีวิต เพียงแต่ต้องการบอกว่าให้รัฐบาลรักษาประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย เหตุนี้จึงต้องเดินทางไปที่พัทยา เพื่อบอกผู้นำประเทศอาเซียนให้ทราบว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์มีที่มาที่ไปอย่างไร

แต่เมื่อเดินทางไปปรากฏว่าถูกดักทำร้ายจากกลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน และเห็นว่าการปฏิบัติการดังกล่าว มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก และนายประมวล เอมเปีย ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้บัญชาการ

สุเทพป้อง ผบ.ทบ.หนีแจงสลายม็อบ

ด้าน นายสุเทพ ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวกรณี ผบ.ทบ.ไม่ยอมไปให้ปากคำกับคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการชุมนุมทางการเมืองด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่นายกฯ ยังต้องไป ว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพคงเห็นว่าผู้ที่ไปชี้แจงคือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสนาม และน่าจะให้ข้อเท็จจริงกับคณะกรรมการได้มากกว่า เพราะข้อมูลนั้นเป็นข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ต่างๆ โดยผู้ที่อยู่ในกองบัญชาการอาจไม่เห็นข้อเท็จจริง ฉะนั้นการชี้แจงและตอบคำถามต้องนำคนที่รู้จริงไปตอบจะดีกว่า ส่วนที่มองว่าไม่ให้เกียรติคณะกรรมการนั้น ต้องดูว่าเป็นกรรมการคนไหน

ที่มา: เรียบเรียงจากกรุงเทพธุรกิจ และโพสต์ทูเดย์