ฉายภาพการเมืองเก่าถึงจังหวะ "พันธมิตร" กำเนิดพรรค
ปัญหาวิกฤติทางการเมือง
ที่ลุกลามขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้ง แตกแยก ในสังคมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมอยากเห็นการคลี่คลาย อยากให้ บ้านเมืองกลับสู่ความสงบ อยากเห็นความสมานฉันท์ของคนในชาติ
ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน
มีภารกิจสำคัญในการหาแนวทางคลี่คลายปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง รวบรวมประเด็นในการแก้ไขรัฐ-ธรรมนูญและปฏิรูปการเมือง เพื่อเสนอต่อรัฐสภา
แน่นอน แนวทางในการดำเนินการของรัฐสภาในเรื่องนี้ ย่อมหนีไม่พ้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆที่มองว่า
เป็นปัญหาทำให้เกิดวิกฤติความขัดแย้ง
มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่ไม่เป็นธรรมกับบรรดานักการเมือง และกระทบต่อพรรคการเมือง
ส่งผลให้การทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ในการนำร่องศึกษาประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้
มีทั้งเสียงขานรับและเสียงคัดค้าน คละเคล้ากันไป
จากกรณีที่เกิดปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองจนถึงขั้นต้องมีการหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติในครั้งนี้
สะท้อนให้เห็นว่า ในห้วงที่ผ่านๆมา การเมืองซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหลักในการแก้ไขปัญหาของประเทศ
ที่มีกระบวนการเริ่มตั้งแต่การเลือกตั้ง ผ่านเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในสภาฯ และฝ่ายบริหาร จัดตั้งรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน
ตั้งแต่เริ่มมีระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาในประเทศไทย จนมาถึงวันนี้ การเมืองยังอยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลานมาตลอด
ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีต้นตอมาจากพรรคการเมือง แก่งแย่งช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์
ขยายลุกลามลงไปถึงประชาชนที่ถือหางพรรคการเมืองแต่ละฝ่าย ถูกปลุกเร้าเพิ่มดีกรีจนกลายเป็นความแตกแยก เกลียดชังฝ่ายตรงข้าม
แบ่งฝัก แบ่งฝ่าย แบ่งสี เข้าห้ำหั่นฟาดฟันกัน
กลายเป็นวิกฤติการเมือง วิกฤติประเทศ จนถึงขั้นเป็นวิกฤติที่สุดในโลก
แน่นอน สังคมส่วนใหญ่อยากเห็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถแก้ไขวิกฤติของประเทศ
นำพาชาติบ้านเมืองไปสู่การพัฒนา เจริญก้าวหน้าเหมือนอย่างอารยประเทศ
แต่การเดินไปสู่เป้าหมายดังกล่าวยังมองไม่เห็นฝั่ง
เหนืออื่นใด สถานการณ์มาถึงวันนี้ การเมืองไทยกำลังเดินไปสู่จุดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกติกา แก้ไขรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งๆที่เขียนกันมาแล้ว ใช้กันมาแล้วหลายฉบับ แก้กันแล้วแก้กันอีก ปฏิรูปการเมืองกันไม่รู้กี่ครั้ง
ยุบพรรค ย้ายพรรค เปลี่ยนพรรค ก็ยังเดินมาสู่ปัญหาที่หนักขึ้น รุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกฝ่ายในสังคมเห็นตรงกันว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เป็นแนวทางหลักที่จะนำพาประเทศให้ก้าวเดินไปได้
ก็ต้องยอมรับว่า พรรคการเมือง คือ องค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
โดยเฉพาะเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ก็เท่ากับพรรคการเมือง เป็นหัวใจสำคัญในการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ เมื่อหันมาสำรวจพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ว่าจะนำไปสู่เป้าหมายที่จะทำให้การเมืองเป็นการแก้ปัญหาของชาติอย่างที่สังคมต้องการได้หรือไม่
เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่อายุ 63 ปี ถือเป็นสถาบันการเมือง ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว เคยเป็นมาแล้วทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน
มาวันนี้สามารถพลิกขั้วเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล รับภาระกู้วิกฤติปัญหาของประเทศ
โดยสภาพของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพรรคที่มีวินัยสูง แต่อาจเป็นเพราะเป็นฝ่ายค้านมานาน
พอมีโอกาสเข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร ได้เป็นรัฐบาล แค่ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีวันแรกก็มีเรื่องทันที
พวกอกหักไม่ได้ตำแหน่งออกมาโวยวาย กระเพื่อมไปรอบหนึ่งแล้ว
พอมีการปรับ ครม.ก็มีการเคลื่อนไหวทวงเก้าอี้กันอีก ทั้งกลุ่ม 40 ส.ส. กลุ่มยังเติร์ก ยันกลุ่มผู้อาวุโส ออกอาการกันหมด
แม้ที่สุดแล้วแกนนำในพรรคช่วยกันเคลียร์ปัญหา หยุดอาการกระฉอกลงไปได้ พร้อมทั้งประกาศยืนยันประชาธิปัตย์ไม่มีกลุ่มก๊วน
แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะเกิดปัญหาคลื่นใต้น้ำปั่นป่วนขึ้นอีกหรือไม่
แน่นอน ความเป็นสถาบันการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะเป็นพรรคที่เป็นความหวังของสังคมในการแก้ปัญหาวิกฤติประเทศ
แต่จากร่องรอยความเคลื่อนไหวที่ปรากฏ สะท้อนว่า ยังหนีไม่พ้นวงจรการแก่งแย่งอำนาจ ช่วงชิงตำแหน่งกันภายใน
หันมาทางพรรคเพื่อไทย พรรคนี้แม้จะก่อตัวขึ้นมาไม่นาน แต่ก็ถือว่าผ่านเหตุการณ์ต่างๆมามากมาย
เพราะเป็นพรรคที่มีต้นขั้วมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน
ก็อย่างที่เห็นๆกัน ตอนก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เริ่มต้นจาก "นายใหญ่" ใช้ทุนเป็นพลังดูด
ใช้สารเร่งโต เพื่อให้พรรคได้ครองอำนาจเบ็ดเสร็จ
ผนวกกับส่งคนลงพื้นที่ทำวิจัย ประชาชนโดยเฉพาะรากหญ้าต้องการอะไร แล้วจัดป้อนให้ จนประชานิยมยุคนั้นเฟื่องฟู ได้ใจได้เสียงสนับสนุนอื้ออึง
แต่เมื่อมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝง ทำให้พรรคต้องสะดุด และโดนยุบในที่สุด
จากนั้นก็แปลงโฉมมาเป็นพรรคพลังประชาชน มีหัวหน้าพรรค 2 คน ได้เป็นนายกฯ แต่เจ้าของพรรคตัวจริงก็ยังคงเป็น "นายใหญ่" เหมือนเดิม และในที่สุดก็โดนยุบพรรคอีก
ต้องแปลงโฉมอีกรอบมาเป็นพรรคเพื่อไทย ซึ่งโดนพลิกขั้วมาเป็นฝ่ายค้าน และการเคลื่อนไหวช่วงหลังกลายเป็นพรรคเสื้อแดง
โดยก่อนหน้านี้ มีความเคลื่อนไหวที่จะปรับโครงสร้างเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจากนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส.
เพื่อให้บุคคลที่เป็น ส.ส.เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค และรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน
แต่ในที่สุดก็ยังไม่ลงตัว ต้องยกเลิกการประชุมใหญ่วิสามัญเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่
จนกว่าจะมีใบสั่งจาก "นายใหญ่"
สำหรับพรรคการเมืองอื่นๆที่เหลือ ส่วนใหญ่ก็ยังมีสภาพเป็นที่รวมของกลุ่มการเมืองที่ส่วนใหญ่มีนักการเมืองในบ้านเลขที่ 111 ยืนเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง
อย่างพรรคภูมิใจไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็เป็นการรวมตัวของกลุ่มก๊วนต่างๆที่ยึดโยงกันด้วยผลประโยชน์
ซึ่งขณะนี้กำลังโดดเด่นในเรื่องพลังดูด โดยใช้รูปแบบเก่าๆ เป้าหมายก็เพื่อเข้าไปใช้อำนาจ หาผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นพรรคของนักเลือกตั้ง ทำการเมืองแบบธุรกิจการเมือง
ไม่ใช่พรรคของประชาชน
จากปรากฏการณ์ต่างๆที่ทำให้เห็นพฤติกรรมของนักการเมือง ที่ไม่ได้เน้นทำการเมืองเพื่อสร้างชาติ
ทำให้สังคมอยากเห็นการเมืองรูปแบบใหม่ ที่เป็นการเมืองที่ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
ส่งผลให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีความโดดเด่นในการเมืองภาคประชาชนและการเคลื่อนไหวนอกสภา
เคยแสดงบทอารยะแข็งขืนยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดสนามบิน จนประเทศแทบพัง
ขื่อแปบ้านเมืองรวนไปหมด
ล่าสุด แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯได้จัดชุมนุมใหญ่กลางสนาม กีฬา ขอฉันทานุมัติในการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ
เสียงขานรับจากแนวร่วมกระหึ่ม
แน่นอน จุดก่อกำเนิดพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ ทำให้มองได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่
มีฐานรากจากประชาชนส่วนหนึ่งให้การสนับสนุน
ไม่ใช่พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นจากคนไม่กี่คนเป็นผู้กำหนด แบบเก่าๆ
ดังนั้น ต้องยอมรับว่า พรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น เริ่มต้นออกสตาร์ตด้วยความสวยงาม
รวมทั้งแนวทางการเมืองใหม่ที่เคยประกาศ เน้นต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
ถือเป็นเรื่องดีและเป็นที่ต้องการของสังคมไทย
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่กระบวนการภาคปฏิบัติจริง ในสภาวะแวดล้อมของการเมืองในปัจจุบัน
ที่เป็นการเมืองที่มีต้นทุนสูง
การจัดโครงสร้างพรรค กรรมการบริหารพรรค การจัดหาทุน ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง รวมไปถึงการสรรหาตัวผู้สมัคร ส.ส.
จะทำให้พรรคการเมืองนี้ ถูกสภาพแวดล้อมการเมืองแบบเก่าๆ กลืนไปหรือไม่
จะตัดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองได้รึเปล่า หรือจะถลำลงไปจมปลักการเมืองน้ำเน่ากับเขาด้วย
เป็นเรื่องที่สังคมต้องรอพิสูจน์.
"ทีมการเมือง" รายงาน
วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
ตัดวงจรอุบาทว์ หรือ จมปลักน้ำเน่า
ที่มา ไทยรัฐ