วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วิถีประชาธิปไตยเพื่อความสงบสุข(1):สงครามประชาชน สงครามปฏิวัติ

ที่มา Thai E-News


โดย ทหารอาชีพ
1 กรกฎาคม 2552

กล่าวนำ

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลไปสู่ความลำบากยากแค้นของประชาชนในทุกแห่งของโลก ในบางแห่งถึงขนาดทำให้ประชาชนผู้ถูกปกครองไม่ยอมให้ปกครอง หรือเกิดสงครามประชาชนตลอดจนการปฏิวัตินั้น สรุปได้ว่า เกิดจากการกดขี่ทางการเมืองและการขูดรีดทางเศรษฐกิจจากเผด็จการในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นบุคคลและหมู่คณะ ตั้งแต่ผู้นำเผด็จการเพียงคนเดียว ไปจนถึงพรรคการเมืองที่ซื้อเสียง แสวงหาอำนาจด้วยวิธีการฉ้อฉล ลวงโลก คดโกงและติดสินบน


แนวทางที่จะนำความสงบ สันติมาสู่สังคมได้มีวิธีการเดียวคือ ประชาชนเกิดการเรียนรู้ และตระหนักถึงอำนาจของตนเอง เกิดรู้ความจริงว่า เสรีภาพและเงินทองที่เป็นของตนนั้น โดนกลุ่มเผด็จการ แย่งชิง หรือหลอกลวงไปเป็นของตนอยู่ตลอดมา

การตระหนักถึงอำนาจและความจริงนั้น ต้องมากพอที่จะเกิดความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยต้องมีประชาชนที่พร้อมเข้ามีส่วนร่วมในการทำให้สังคมให้เป็นประชาธิปไตยจำนวนเป็นล้านคน และมีผู้สนับสนุนเป็นแนวร่วมอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของประชากรในประเทศ

แนวทางนี้ต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มเผด็จการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น พรรคนาซี พรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต พรรคการเมืองที่มุ่งซื้อสิทธิขายเสียง กลุ่มข้าราชการที่ต้องการรักษาอำนาจของกลุ่มตน แม้แต่องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรช่วยเหลือจากนานาชาติ เพราะ ประชาชนเท่านั้น ที่จะไม่กดขี่ประชาชนด้วยกันเอง ถ้าประชาชนนั้นได้รับการฝึกฝนในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นแล้วเป็นอย่างดี

แนวทางที่ได้เสนอนี้เป็นการเขียนในหลักการกว้างๆ สำหรับทุกกลุ่มสังคม ทุกกลุ่มอาชีพ ตั้งแต่กำลังทหาร กำลังกึ่งทหาร กำลังประชาชน กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน พรรคการเมือง สมาคม ชมรม หรือแม้แต่องค์กรศาสนาที่มีพื้นฐานคำสอนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างดีที่สุด และ กรณีประเทศไทยซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข วิธีการทางประชาธิปไตย ก็จะเป็นการยึดระบบรัฐสภาเป็นสำคัญ กระบวนการ แนวคิดต่างๆ ในเอกสารนี้จะตั้งอยู่บนหลักการนี้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามเอกสารนี้ก็ได้มีการกล่าวถึงการใช้กองกำลังในการทำศึกไว้ด้วย รวมถึงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางทหารต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์เป็น แนวทางการขยายแนวร่วมมวลชน การสร้างการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการใช้กำลังในกรณีเกิดความไม่สงบและแตกแยกในสังคมขนาดต้องใช้กำลังเข้าต่อสู้กัน จริงๆด้วย

ในการนำเสนอจะแยกเป็นสองส่วนคือ ส่วนด้านการเมือง และด้านการทหาร สุดแต่จะนำไปใช้ประโยชน์ ในลักษณะใด การนำเสนอบางครั้งจะเป็นเพียงหัวข้อ หรือประเด็นเท่านั้นผู้ที่สนใจด้านการเมืองมาแล้วควรที่จะทำความเข้าใจได้ไม่ยาก

แหล่งที่มาของความคิดในเอกสารฉบับนี้ นอกจากจะมีปรัชญาประชาธิปไตยของนักการเมืองจากตะวันตกที่เป็นนักคิดสำคัญแล้ว ยังได้ลงรายละเอียดถึงการสร้างการเคลื่อนไหวมวลชนผ่านกลุ่มแกนนำแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย ซึ่งก็ได้ทำการดัดแปลงบ้างเล็กน้อยให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นขึ้น

ทั้งนี้ยังคงแนวคิดด้านประชาธิปไตยแบบตะวันตกโดยเฉพาะของ ยัง ยาค รุสโซ ไว้อย่างครบถ้วน ทั้งนี้ก็เพราะในสมัยสงครามคอมมิวนิสต์นั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางและได้ผลดี เป็นผลให้ชนะสงครามคอมมิวนิสต์ในที่สุด

แนวความคิดหลัก ๆ ในเอกสารฉบับนี้จึงอยู่ในกรอบของ กอ.รมน. ในยุคต่อสู้ให้ชนะคอมมิวนิสต์ด้วยการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่เป็นรูปธรรมขึ้น ดังนั้นขอให้ท่านผู้ศึกษาอ่าน คำสั่ง สร.ที่66/2523 และ 65/2525 ที่เป็นต้นแบบของการปฏิบัติงานด้วย จึงจะเข้าใจอย่างครบถ้วน

นอกจากนั้นเป็นบางส่วนจาก คติพจน์ และ นิพนธ์ด้านการทหาร ของเหมาเจ๋อตุง เพื่อให้การปฏิบัติการงานมวลชนมีความกระชับ แม่นยำ ไม่หละหลวม และ นำไปสู่ชัยชนะในที่สุด

วัตถุประสงค์เฉพาะ

เอกสารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปใช้ในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารสูง เช่น ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเชื่อว่าความขัดแย้งนั้นมีต้นเหตุจากความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์ขัดกันทางเศรษฐกิจ โดยนำเรื่องของอุดมการณ์ ศาสนาและชาติพันธุ์มาเป็นข้ออ้างในการแสวงหาแนวร่วมและการใช้กำลัง ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสถาปนาประชาธิปไตย ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันด้วยวิถีทางประชาธิปไตยในพื้นที่ได้ แผ่นดินที่ลุกเป็นไฟก็จะกลับมาสู่ความสงบร่มเย็นได้

เนื่องจากเอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้มีลักษณะทั่วไป สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ทุกพื้นที่และเวลา ดังนั้น จึงได้นำเสนอครอบคลุมทุกเรื่อง ทุกด้าน ทั้งการเมืองและการทหาร สำหรับในกรณีที่พื้นที่เป้าหมายนั้นถูกครอบครองหรือปลดปล่อยโดยกลุ่มที่แข่งขัน ขัดแย้งหรือทำสงครามด้วย ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง

ดังนั้นการกำหนดให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นคู่แข่งขัน คู่ขัดแย้ง ฝ่ายตรงข้าม หรือ ศัตรู ก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ทั้งนี้ยังคงหมายถึงกลุ่มเดียวกันที่ได้ต่อสู้กับ ฝ่ายเรานั่นเอง

สำหรับขอบเขตความกว้างขวางก็ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบลในสนามขึ้นไปจนถึงระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม จะพยายามให้เป็นขอบข่ายระดับกลุ่มจังหวัดหรือเป็นภาค ซึ่งจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับ

ในกรณีที่นำไปใช้ในด้านการแข่งขันทางธุรกิจ หรือการแข่งขันทางการเมือง หรือการบริหารจัดการใด ๆ ก็สามารถ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยการปรับปรุงนิยามเพียงเล็กน้อย แต่วิธีการดำเนินการและปรัชญาประชาธิปไตยนั้นยังคงเป็นเช่นเดิม

หลักการประชาธิปไตยและปรัชญาทางการเมือง ในเรื่องต่อไปนี้จะต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ มีปรากฏอยู่ในเอกสารและในเวปไซท์ต่าง ๆ แล้ว

- หลักการประชาธิปไตย
- หลักการประชาธิปไตยของ จอห์น ล๊อค
- หลักการประชาธิปไตยของ ยัง ยาค รุสโซ
- หลักการประชาธิปไตยใน แมกนาคาตา ของอังกฤษ
- หลักการประชาธิปไตยใน ปฏิวัติฝรั่งเศส
- หลักการประชาธิปไตยใน การประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา
- หลักการประชาธิปไตยใน สหรัฐอเมริกา
- หลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นลายลักษณ์อักษร แบบสวีเดน ญี่ปุ่น
- หลักการรัฐสวัสดิการ


โดยสรุปแล้ว การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนมีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยมาก และในระยะเวลาไม่นานนัก การนำวิธีการประชาธิปไตยทางตรงให้ประชาชนลงคะแนนเสียงในทุกกิจการจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อถึงเวลานั้นประชาชนก็จะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของตนอย่างสมบูรณ์โดยไม่สามารถมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาอ้างความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจนั้นแทนประชาชนได้

ดังนั้น การวางรากฐานประชาธิปไตยและการนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่นการลงประชามติผ่านอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์มาใช้อย่างกว้างขวางจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในปัจจุบัน