วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้ามให้พ้นมายาคติ “ปีศาจทักษิณ”

ที่มา ประชาไท

นักวิชาการ สื่อ หรือใครก็ตาม ที่พยายามป่าวประกาศต่อสาธารณะว่า ปัญหาวิกฤตความแตกแยกของคนในชาติเกิดจาก “ทักษิณคนเดียว” ต้องถือว่าเป็นพวกหลอกตัวเอง หลอกสังคมและปฏิเสธความรับผิดชอบต่อปัญหาที่พวกตนมีส่วนสร้างขึ้นอย่างมี “นัยยะ” สำคัญ

เพราะนักวิชาการชั้นนำ ราษฎรอาวุโส สื่อตัวแทนชนชั้นกลางมิใช่หรือ ที่ร่วมกันสร้าง “มายาคติ” ให้ทักษิณซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ทำถูกทำผิดได้อย่างเราๆ กลายเป็น “Superman” ด้วยการผลิตวาทกรรม “อัศวินม้าขาว” “อัศวินแห่งคลื่นลูกที่สาม” “อัศวินควายดำ” และต่อมาก็สร้างวาทกรรม “ปีศาจทักษิณ” ให้ตามหลอกหลอนตนเองและสังคมอยู่ทุกวันนี้

เช่น บทความชื่อ “ความเปราะบางของสังคมไทย” ของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ตอกย้ำมายาคติ “ปีศาจทักษิณ” ให้น่าเกลียดน่ากลัวในปัจจุบันและต่อไปในอนาคตอย่างไร สาธุชนโปรดอ่าน…

“…เหตุการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มคนเสื้อแดงนี้ แสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีอยู่อย่างเต็มรูปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ลักษณะพิเศษเหล่านี้ได้แก่

1. เป็นการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนตัวบุคคล

2. เป็นการเคลื่อนไหวที่ระดมความสนับสนุนจากประชาชนฐานล่างของสังคม

3. เป็นการเคลื่อนไหวที่มีความรุนแรง

สำหรับกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีการยกระดับคุณภาพของการเคลื่อนไหว มีการกระจายตัวออกไปตามจังหวัดต่างๆ และปรับตัวจากการเป็น “ขบวนการต่อต้านทักษิณ” ไปเป็นกลุ่มที่ต้องการสนับสนุน “การเมืองใหม่” ในขณะที่มีการระดมทรัพยากรจากสาธารณชน แทนที่จะอาศัยทุนรอนจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

...น่าเสียดายที่การเมืองไทยในอีกสิบปีข้างหน้า จะวนเวียนอยู่กับปัญหาส่วนตัวของทักษิณ ชาติใดที่ประสบกับชะตากรรมเช่นนี้ ย่อมบั่นทอนสมรรถนะของคนในชาติ และยังทำลายความสามัคคีของชนในชาติอีกด้วย การเมืองแทนที่จะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหา หรือเป็นตัวหารกลับเป็นตัวปัญหาเสียเอง คือ เป็นตัวคูณทำให้ความสามารถในการแก้ปัญหาทางสังคม และเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น (ตัวสีแดงเน้นโดยผู้เขียน)

ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศต่างสะท้อนสังคมของประเทศนั้น ไทยเราเองเพิ่งมี ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ มาไม่นาน เราพบว่าความเสียหายมีมากกว่าความคุ้มค่า และกลับทำให้ระบอบการเมืองถอยหลัง ...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคนคนเดียวสามารถมีการกระทำที่ส่งผลสะเทือนให้แก่สังคมได้มากขนาดนี้ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า สังคมไทยเราไม่ได้มีความแข็งแกร่งเท่าที่เราเคยเชื่อ” (ตัวหนาเน้นโดยเจ้าของบทความ)
(ผู้จัดการออนไลน์ 12/07/2552)

ขอให้สังเกตข้อความ “ไทยเราเองเพิ่งมี ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ มาไม่นาน เราพบว่าความเสียหายมีมากกว่าความคุ้มค่า และกลับทำให้ระบอบการเมืองถอยหลัง” นี่คือฐานคิดที่ทำให้นักวิชาการชั้นนำหวนกลับไปพึ่งรัฐประหาร กอดคอกับพวกอำมาตย์ เสนอ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่ทำให้ “พรรคข้าราชการ” มีอำนาจต่อรองเข้มแข็งขึ้นผ่านรัฐธรรมนูญ 2550 ใช่หรือไม่?

นี่คือ “ความรุนแรงทางความคิด” ที่ทำให้เกิด “ความรุนแรงทางกายภาพ” อื่นๆตามมา เช่น การยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ การสลายการชุมนุมของมวลชนเสื้อเหลือง และในด้านกลับก็คือการจลาจลและการสลายการจลาจลของมวลชนเสื้อแดง และรวมทั้งความรุนแรงอื่นๆที่อาจเกิดตามมา แต่ทำไมนักวิชาการชั้นนำจึงมองเห็นเฉพาะความรุนแรงของมวลชนเสื้อแดง?

กลับมาที่ “มายาคติ” เกี่ยวกับทักษิณ เมื่อนักวิชาการ และสื่อตัวแทนชนชั้นกลางสร้างให้ทักษิณเป็น “Superman” หรือ “อัศวิน” ที่จะมากู้วิกฤตเศรษฐกิจชาติ พวกเขา “สดุดี” ประชาชนรากหญ้าว่ามีความคิดก้าวหน้าเข้าใจประชาธิปไตย ใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดย “เลือกนโยบาย” พรรค โดยมีความเข้าใจตามรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า เลือกพรรคไหนแล้วจะได้ใครเป็นนายกฯ และจงใจมองข้ามข้อบกพร่องของทักษิณ ด้วยการเรียกร้องและนำมวลชนมากดดันศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ “หลักรัฐศาสตร์” ในการตัดสิน “คดีซุกหุ้นภาค 1”

แต่เมื่อพวกเขาเริ่มสร้างมายาคติ “ปีศาจทักษิณ” จากวาทกรรม “รู้ทันทักษิณ” พวกไม่ลังเลที่จะกล่าวหาว่า ประชาชนรากหญ้าโง่ ไร้การศึกษา ถูกซื้อด้วยเงิน ขายสิทธิ์ขายเสียง เป็นม็อบรับจ้าง และสำหรับความชั่วร้ายของทักษิณจะใช้กระบวนการยุติธรรมปกติจัดการไม่ได้ ต้องใช้รัฐประหาร คณะบุคคลและศาลพิเศษเข้ามาจัดการ

อยากจะถามดังๆ ต่อ ข้อสรุปของชัยอนันต์ “ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคนคนเดียวสามารถมีการกระทำที่ส่งผลสะเทือนให้แก่สังคมได้มากขนาดนี้ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า สังคมไทยเราไม่ได้มีความแข็งแกร่งเท่าที่เราเคยเชื่อ” ว่า (1) เป็นเรื่องของคนเพียงคนเดียวจริงหรือ? (2) ใครกันแน่ที่มีบทบาทมอมเมาด้วยการบิดเบือนความจริง จนทำให้สังคมไทยอ่อนแอในการใช้เหตุผล และถูกจำกัดเสรีภาพในการแสงความคิดเห็น ด้วยการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาปิดกั้นการแสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลของฝ่ายอื่นๆ ที่เห็นต่าง?

ข้อเสนอ : เราต้องข้ามให้พ้นมายาคติ “ปีศาจทักษิณ”

1. ต้องยอมรับตามเป็นจริงว่าทักษิณคือ “คนธรรมดา” ไม่ใช่ทั้ง “Superman” หรือ “ปีศาจ” ดังนั้น ทักษิณจึงทำถูกทำผิดได้เหมือนมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ส่วนที่เขาทำถูกเราต้องยอมรับ ชื่นชม และสานต่อ ส่วนที่เขาทำผิด เขาก็ต้องรับผิดชอบตามกติกาที่เป็นธรรมของสังคมเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

2. ชนชั้นนำ นักวิชาการ สื่อ ฝ่ายเสื้อเหลือง ต้องยอมรับความจริงตามข้อ 1 ต้องหยุดสร้างมายาคติ “ปีศาจทักษิณ” ให้หลอกหลอนตัวเองและสังคมอีกต่อไป และต้องยอมรับฟังเหตุผลของชาวบ้านรากหญ้า หรือมวลชนเสื้อแดงว่า ที่ออกมาต่อสู้ไม่ใช่ “เพื่อบุคคลเพียงคนเดียว” แต่เพื่อปกป้องสิทธิของ “เสียงส่วนใหญ่” ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย

3. คนเสื้อแดงย่อมมีสิทธิ์ต่อสู้เพื่อทักษิณในประเด็นที่เห็นว่าทักษิณ “ไม่ได้รับความเป็นธรรม” ด้วยการใช้เหตุผลและสันติวิธี เพื่อปกป้องบรรทัดฐานที่เป็นธรรมของสังคม แต่ก็ต้องยอมรับข้อผิดพลาดของทักษิณด้วยเช่นกัน (เช่น กรณีฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด กรือเซะ ตากใบ และคอร์รัปชั่นที่ต้องพิสูจน์)

4. ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การต่อสู้ทางการเมืองในบริบทสังคมประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน ไม่มีทางเป็นไปได้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่าย “ได้ทั้งหมด” หรือ “เสียทั้งหมด” ถ้ายังยืนยันแนวทางนี้สังคมคงหนีไม่พ้นการนองเลือด แต่หลังการนองเลือดก็ไม่มีหลักประกันว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายได้ทั้งหมด

5. ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทักษิณ ให้เขาได้เข้ามาพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรมปกติ และต้องยอมรับว่าในอนาคตระยะใกล้นี้เป็นไปไม่ได้ที่ทักษิณจะกลับมาเป็นนายกฯ อีก เพราะเขาจำเป็นต้องเคลียร์คดีความต่างๆ ของตนเองจำนวนมากซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาอีกนาน

6. เสื้อเหลืองต้องข้ามพ้นมายาคติ “ปีศาจทักษิณ” และเสื้อแดงก็ต้องข้ามพ้นมายาคติ “Superman ทักษิณ” แล้วมาเรียกร้อง “พรรคเพื่อไทย” (นักการเมืองและพรรคการเมืองอื่นๆ) ให้เลิกดำรงชีพอยู่ด้วยการ “กินบุญเก่า” หรือรอคอย “พึ่งใบบุญ” ทักษิณ แต่ต้องเร่งสร้างนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างการเมืองที่สะอาดโปร่งใส สร้างสังคมที่เป็นธรรมและรัฐสวัสดิการ

คำตอบของการเมืองในอนาคตไม่ควรผูกติดอยู่กับ “ตัวบุคคล” แต่ควรเรียกร้อง “นโยบาย” หรือหนทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ให้เป็นธรรมและเป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งคนไทยไม่ว่าจะสีไหน หรือไม่มีสีควรยืนยันใน “เป้าหมาย” นี้

และนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เราจะสนับสนุนจะต้องมีนโยบายที่ตอบสนอง “เป้าหมาย” นี้อย่างเป็นรูปธรรม