วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“การต่อสู้เพื่อดา ตอร์ปิโด คือการต่อสู้เพื่อตัวเอง” เสียงจากสมัชชาสังคมก้าวหน้า

ที่มา ประชาไท

บรรยากาศหน้าห้องพิจารณาคดี 904 วันที่ 28 ก.ค. 2552 ไม่เหมือนทุกๆ วันที่ผ่านมา และไม่เหมือนทุกๆ วันที่ดา ตอร์ปิโด หรือดารณี ชาญเชิงศิลปกุล จำเลยในคดีอาญามาตรา 112 คุ้นชิน.....ความว่างเปล่าและเงียบงันที่หน้าห้องพิจารณาคดีอย่างที่เคยปรากฏทุกครั้งที่เธอถูกเบิกตัวมาเพื่อรับฟังการไต่สวน วันนี้กลายเป็นความคึกคักโดยมีกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งมารอพร้อมแผ่นป้ายที่เขียนให้กำลังใจ
ดารณีมีสีหน้าสดใสกว่าทุกวัน ฟันกรามที่ปวดและอักเสบจนกินอาหารไม่ได้ทำให้เธอขยับปากได้เพียงเล็กน้อย แต่วันนี้ เธอยิ้มยิงฟันหลายครั้ง
คนกลุ่มเล็กๆ นี้เดินทางมาพร้อมกวี ไม้หนึ่ง ก. กุนที พวกเขาเข้านั่งในห้องพิจารณาคดีแม้จะรู้ว่ามีคำสั่งให้การพิจารณาคดีปิดลับ และเดินออกจากห้องพิจารณาไปรออยู่ภายนอกเมื่อการพิจารณาคดีเริ่มขึ้น
ไม้หนึ่ง ก.กุนที อาศัยเวลาระหว่างที่การพิจารณายังไม่เริ่ม เขียนบทกวี
คุณไม่ได้ต่อสู้อยู่คนเดียว
ยังมีสหาย ยังมีเสี่ยว ร่วมต่อสู้
แต่เพราะอำนาจของศัตรู
เขากีดกันให้เราอยู่ห่างกัน
เพื่อเอ๋ยอุดมการณ์นั้นนานยาว
ชีวิตคนสุกสกาวช่วงสั้นๆ
นักสู้จักบรรจุลงตำนาน
ลูกหลานจะเล่าขานสืบต่อไป
ไม้หนึ่ง ก.กุนที กล่าวกับประชาไทว่า การต่อสู้เพื่อดาคือการต่อสู้เพื่อตัวเอง
“การมาให้กำลังใจดารณีในวันนี้ก็ถือเป็นการต่อสู้เพื่อตัวเราเองเหมือนกัน เพราะความผิดปกติของกฎหมายนี้ มันหาเหยื่อได้ง่ายมาก พอน้องๆ กลุ่มสมัชชาฯ รวมตัวกันและหาแนวร่วม ผมจึงมาเพื่อเพิ่มจำนวนคน ความรู้สึกผม เหมือนในสังคมมีการต่อสู้ปกป้องสิทธิประโยชน์ส่วนตัว แต่มีน้อยมากที่การปกป้องสิทธิส่วนตัวจะเป็นปกป้องส่วนรวมด้วย กรณีของดารณีเป็นตัวอย่างหนึ่ง”
ไม้หนึ่ง ก.กุนที กล่าวด้วยว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการพิจารณาคดีที่ปิดลับนี้ ทำให้ประเทศไทยถูกตั้งคำถามจากนานาประเทศ และเป็นการลดพระเกียรติและทำลายภาพลักษณ์ของบุคคลสำคัญของชาติซึ่งอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน
โบ จากกลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้า ชี้แจงเรื่องกลุ่มว่า "จริงๆ ก็ติดตามกรณีของดามานานแล้ว คนที่ติดตามข่าวก็รู้สึกว่ามีอะไรแปลกๆ ก็อยากมาให้กำลังใจและคิดว่าคดีแบบนี้ประชาชนควรรับรู้ ไม่ควรดำเนินการอย่างเงียบๆ เพระถ้าหากเรื่องนี้เกิดกับคนอื่น ก็จะไม่มีใครเหลียวแลเหมือนกัน"
โบ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราควรพูดกันให้มาก เราพูดกันน้อยไป ซึ่งที่ผ่านมาคนก็รู้สึกกลัว เมื่อคนกลัวก็เป็นปัญหามากขึ้น ตราบใดที่เราไม่ออกมายืนยัน ตราบนั้นที่สิ่งนี้ยังดำรงอยู่ และประชาชนคนอื่นๆ ก็อาจจะต้องหมดสิทธิเสรีภาพโดยไม่สมควร
“กฎหมายหมิ่นฯ เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเวลาที่เราพูด ก็ไม่รู้ว่าใครจะมาฟ้องเราบ้าง ประชาชนจึงควรให้ความสำคัญกับกฏหมายนี้มากขึ้น ในวันนี้ที่ผมมา และเห็นว่าไม่มีคนอื่นสนใจ ผมรู้สึกตกใจ แสดงว่าเรื่องนี้ กลายเป็นเรื่องที่คนไม่กล้าพูดถึง ไม่เห็นความสำคัญ ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อเสรีภาพ และคนบางกลุ่มไม่รู้ หรือเฉยเมย ไม่รู้ว่านี่เป็นเรื่องสองมาตรฐานของสังคมไทย นี่จึงเป็นการแสดงออกเพื่อจะไม่ยอมรับความผิดปกติของสังคม เพราะถ้าเราเมินเฉยเท่ากับยอมรับ”
พร ซึ่งมาร่วมให้กำลังใจดารณีเช่นกัน กล่าวว่า "คนเราควรมีเสรีภาพในการพูด หรือวิพากษ์วิจารณ์ ต้องมีเสรีภาพในการตรวจสอบ และต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงมี และพึงสงวนไว้”
กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าจะเดินทางไปเยี่ยมดารณีอีกครั้งที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ (คลองเปรม) วันที่ 30 ก.ค. นี้ พวกเขาติดต่อกับทางทัณฑสถานแล้วได้ความว่า สามารถเข้าเยี่ยมได้ไม่เกิน 5 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พวกเขายืนยันว่าจะพยายามไปกันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้กำลังใจแก่ ดารณี คนที่เหลือจะรออยู่ภายนอก โดยจะฝากอาหารแห้งและข้าวของเครื่องใช้แทนการเข้าเยี่ยม
“เราจะส่งแรงกำลังใจไปสู่คุณดาในยังอีกฟากของกำแพงซี่กรงขังของเรือนจำว่า เราจะไม่ทอดทิ้งกัน
พวกเขาส่งอีเมล์ชักชวนประชาชนผู้สนใจ โดยระบุว่า ใครที่ต้องการให้กำลังใจแก่ดารณี ขอให้นำดอกไม้และป้ายผ้าให้กำลังใจโดยพร้อมเพรียงกัน ในอีเมล์ดังกล่าวระบุด้วยว่า “ขณะที่คุณดาต้องยืนหยัดต่อสู้เพียงลำพังในเรือนจำ เราได้ยินข่าวสารของเธออยู่บ้างจากผู้ที่ไปเยี่ยมเยียนเธอเป็นระยะ เราได้ติดตามอ่านข่าวของคุณดาด้วยความรู้สึกนับถือในหัวใจและจิตวิญญาณแห่งความเป็นเสรีชนของเธอ ไม่ง่ายเลยที่ใครสักคนต้องถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยังสามารถรักษาความเข้มแข็งและจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเอาไว้ได้ ภายใต้แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมเหมือนที่เธอกำลังเผชิญ”
เวลา 9.30 น. 28 ก.ค. 2552 ที่ห้องพิจารณาคดี 903 ศาลอาญา รัชดา คดีที่ดารณีถูกฟ้องข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ทำให้เสียทรัพย์ พยายามบุกรุกและหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการป่าวประกาศ กระจายเสียง ศาลพิพากษายกฟ้องทั้งหมด
คดีหมิ่นประมาทนายสนธิ ลิ้มทองกุล ศาลพิพากษาปรับ 5 หมื่นบาท โดยให้เหตุผลว่า จำเลยเป็นสื่อมวลชนใช้ถ้อยคำหยาบคาย แต่เนื่องจากจำเลยได้จำคุกมาเป็นเวลานานกว่าค่าปรับแล้ว จึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัว
นักข่าวกลุ่มใหญ่ที่มารอทำข่าวคดีที่ดารณีตกเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทะยอยกลับ
เวลา 10.00 น. หน้าห้องพิจารณา 904 ซึ่งทำการไต่สวนคดีที่ดารณีตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 กลุ่มคนจำนวนประมาณ 10 คนรอการพิจารณาคดีช่วงเช้าจนเสร็จสิ้นลงในเวลา 12.00 น.
ช่วงเวลาที่พูดคุยกันสั้นๆ กลุ่มคนวัยหนุ่มสาวและบางส่วนเป็นนักศึกษากลุ่มนี้ แสดงให้เห็นว่าพวกเขากระตือรือร้นในการแสดงความคิดเห็น แต่ขณะเดียวกันก็ระมัดระวังตัวในการแสดงกิริยาใดๆ ภายในศาล รวมถึงขอให้ประชาไทกลั่นกรองถ้อยคำให้พวกเขาด้วย เหตุผลคือ ไม่รู้ว่าพูดได้แค่ไหนจะไม่โดนฟ้อง เมื่อถามถึงชื่อจริงของทุกคน พวกเขาขอสงวนไว้เพราะ “พวกเราก็กลัวเหมือนกัน”