วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านปากมูลซัดภาครัฐโกหกตลอด หวั่นผู้ได้รับผลกระทบเขื่อนบ้านกุ่มเจอซ้ำรอย ชี้รีบเก็บข้อมูลทรัพยากรก่อนสูญหาย

ที่มา thaifreenews

วานนี้ (28 กรกฎาคม 2552) มูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับกลุ่มสหอาสา อ.เขมราฐ และชุมชนบ้านดอนงิ้ว ต.นาตาล อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี จัดเวทีเสวนา สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีชุมชนจากอ.นาตาล อ.เขมราฐ อ.โพธิ์ไทร อ.น้ำยืน ประมาณ 300 คนเข้าร่วม

ผู้ร่วมเวทีเสวนาประกอบด้วย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรมมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ,อาจารย์กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี , นายสมเกียรติ พ้นภัย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล , นายวีระชัย ขันบุตรศรี รองประธานกลุ่มสหอาสา อ.เขมราฐ ดำเนินรายการโดย นายสุชัย เจริญมุขยนันท

นายวีระชัย ขันบุตรศรี รองประธานกลุ่มสหอาสา กล่าวว่าชาวบ้านกังวลมากเรื่องการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ต.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะผลกระทบต่อที่ทำกินของชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และชาวบ้านยังแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย คือเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน จนบัดนี้ยังไม่มีใครเข้ามาชี้แจงผลกระทบอย่างจริงจัง สิ่งที่ชุมชนต้องการมากคือ ข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้เน้นถึงสิทธิชุมชนคืออำนาจอันชอบธรรมของประชาชนส่วนรวม เราเลือกผู้แทน ส.ส.,สว. ไปเป็นตัวแทนของเรา ตัวแทนไม่ใช่ตัวจริง ตัวจริงคือประชาชน การสร้างเขื่อนบ้านกุ่มตามกฎหมายต้องผ่านชาวบ้านและผ่านสภาฯ ที่มาวันนี้ไม่ได้มาต้านเขื่อนแต่มาบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าเรามีสิทธิในการรับรู้ว่าเขาจะมาทำอะไรในบ้านของเราและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้

ด้านนายสมเกียรติ พ้นภัย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล กล่าวว่าตนและพี่น้องได้รับความเจ็บปวด ผ่านเหตุการณ์ทั้งเลือดและน้ำตามามากมายจึงอยากมาเล่าให้ฟังจากประสบการณ์จริงว่า ภาครัฐล้วนแล้วแต่โกหกเราทั้งสิ้น เช่น ก่อนสร้างเขื่อน มีรถแห่ประกาศ ต่อไปเราจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรี ใช้น้ำประปาฟรี จนป่านนี้ยังไม่เคยได้ใช้ฟรีแถมขึ้นค่า FT อยู่เรื่อย ๆ , มีงานทำเงินเดือนสูง ๆ ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังอดอยากเหมือนเดิม ระดับน้ำท่วมก็ผิด ปริมาณไฟฟ้าที่เขื่อนผลิตได้ก็ไม่ถูก จะมีปลาให้จับเยอะขึ้นก็โกหก การไฟฟ้าให้เงินให้การดูแลกำนันผู้ใหญ่บ้านจนเป็นพวกเขาหมด ตนต่อสู้มาตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายสิทธิชุมชนเหมือนทุกวันนี้

นายสมเกียรติกล่าวด้วยว่าอยากให้ชาวบ้านคิดให้ดีก่อนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป ที่สำคัญควรรีบเก็บข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติที่นี่ให้ละเอียดว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากริมโขงบ้าง ก่อนที่มันจะสูญหายไป

อาจารย์กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น เสนอว่า ผู้นำท้องถิ่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านควรนึกถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่าทำถนนหนทางหรือพัฒนาด้านวัตถุอย่างเดียว ชาวบ้านต้องรู้จักสิทธิตนเอง อย่างน้อยการแสดงออกด้านการพูดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายภาครัฐ