วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ปราสาทพระวิหาร: บิดเบือน ทำไมจึงต้องเบือนบิด

ที่มา ประชาไท

เผยแพร่ใน
Mekong Review
http://www.indochinapublishing.com

สื่อมวลชนไทยตกเป็นเครื่องมือของการให้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์เข้าอย่างจัง หลังจากที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุวิทย์ คุณกิตติ ซึ่งเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่สเปน ระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายน ออกมาให้ข่าวการเลื่อนส่งรายงานแผนการอนุรักษ์และพัฒนามรดกโลกพระวิหารของกัมพูชาไปอีกจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2010 หรืออีกนัยหนึ่งก็เพียง 7 เดือนนับต่อจากนี้ โดยให้มีความหมายโดยนัยถึงชัยชนะที่งดงามของประเทศไทยต่อการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ด้วยความที่มีใจให้กับการแย่งชิงปราสาทพระวิหารมาเป็นของตัว หรือ จะอยู่ในอารมณ์ที่รักชอบรัฐบาลเป็นทุนเดิม ทำให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของไทย ระดมพาดหัวกันทันทีว่า ไทยคัดค้านสำเร็จ “กก.มรดกโลกขยายขึ้นทะเบียนพระวิหารปีหน้า” (กรุงเทพธุรกิจ) บางฉบับก็ว่า “มรดกโลกเลื่อนถก'พระวิหาร'มาร์คย้ำจุดยืน” (ไทยโพสต์) บางฉบับก็ไปถึงขั้นว่า “กก.มรดกโลกยอมเลื่อนขึ้นทะเบียนพระวิหาร” (มติชน) และ ที่กั๊กหน่อย ก็มี เช่น สุวิทย์โวกล่อมยูเนสโกยืดขึ้นทะเบียนพระวิหาร1ปี (ไทยรัฐ)

หนังสือพิมพ์ของไทยทั้งหมดใช้แหล่งข่าวเดียวกันโดยพากันอ้างคำพูดของ ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ว่า รัฐมนตรี สุวิทย์ ได้รายงานผลการเดินทาง ไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 23-30 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า “คณะกรรมการมรดกโลกได้ขยายเวลาการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร โดยประเทศกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวออกไปเป็นเดือนก.พ.2553”

สำทับด้วยการให้สัมภาษณ์ของ รัฐมนตรีสุวิทย์ ในเชิงเปรียบเปรยว่า “เหมือนวันนี้เราแข่งขันฟุตบอล ครึ่งแรกโดนยิงพรุน ครึ่งหลังตีเสมอได้ตอนนี้คือการต่อเวลา กรรมการมรดกโลกมีมติมาแล้วว่า การพิจารณาปราสาทเขาพระวิหารจะพิจารณาในปีหน้าในบราซิล ฉะนั้นหนึ่งปีนี้เราสามารถทำงานได้”

มีสื่อมวลชนไทยจำนวนน้อยที่รายงานอย่างเข้าใจว่า กรอบระยะเวลาเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านั้น หมายถึง การขยายระยะเวลาให้กัมพูชาส่งรายงานการจัดทำแผนคุ้มครองและพัฒนาปราสาทพระวิหาร

หากไม่ใช่เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง ก็เป็นการจงใจบิดเบือนอย่างร้ายกาจ ที่พากันรายงานว่า คณะกรรมการมรดกโลกได้เลื่อนการตัดสินใจขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารออกไปอีกหนึ่งปี โดยการอ้างการให้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ของ รัฐมนตรี และรักษาการโฆษกรัฐบาล

สิ่งที่ถูกต้องกลับไม่มีใครรายงาน คือ คณะกรรมการมรดกโลกได้ตัดสินใจไปแล้วว่า ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่มีการประชุมครั้งที่ 32 ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ตามมติที่ 32COM 8B.102 และมตินั้นมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด การประชุมครั้งที่ 33 ที่สเปนในปีนี้ ไม่มีประเด็นปัญหาว่าด้วยเรื่องปราสาทพระวิหารอยู่ในวาระการประชุม

การเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ประชุมของรัฐมนตรี สุวิทย์ ไม่ได้มีความอะไรต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการมรโลก ความจริงแล้วรัฐมนตรีของไทยก็ไม่ได้ไปทำอะไรมากไปกว่าการไปขอพบ ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก เพื่ออธิบายสิ่งที่รัฐบาลไทยได้เคยพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรื่องการคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

การที่คณะกรรมการมรดกโลก ได้ยอมขยายเวลาให้กัมพูชา ยืดระยะเวลาส่งรายงาน ไม่ได้มีความหมายใดๆ มากไปกว่า เรืองเทคนิคการทำงานระหว่างกัมพูชากับคณะกรรมการมรดกโลกเท่านั้น ไม่ได้สร้างความหวังอะไรให้กับไทยทั้งสิ้น

กัมพูชามีภาระที่จะต้องจัดทำแผนการคุ้มครองและพัฒนาปราสาทพระวิหารให้พร้อมทั้งประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ ซึ่งไทยก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยนั้นให้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่ด้วยเหตุขัดข้องหลายประการ รวมทั้งความขัดแย้งตามแนวชายแดนด้านจังหวัดศีรษะเกษ ทำให้การจัดทำแผนการต้องล่าช้าออกไป และกัมพูชาก็ขอผัดผ่อนกับคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งคณะกรรมการก็ยอมให้ผัดผ่อน จากเดิมกุมภาพันธ์ปีนี้ มาเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายนปีนี้ กระทั่งล่าสุดคือ ไปถึงกุมภาพันธ์ปีหน้าโน่นเลย และการเลื่อนส่งรายงานแผนการนี้ เป็นสิ่งที่คาดหมายได้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น เพราะกัมพูชาขอเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว

สิ่งที่สื่อมวลไทยไม่ได้รายงาน (หรือความจริงอาจจะไม่ทราบ) ว่าเหตุแห่งการขยายระยะเวลาส่งรายงานแผนการดังกล่าวนั้น ไม่ได้เป็นเหตุแห่งการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงฐานะการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารเลย

รักษาการโฆษกรัฐบาล ปณิธาน ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงที่ว่า ประเทศไทยมีเวลาอีก 1 ปีเพื่อไปรณรงค์เพื่อให้ไทยมีโอกาสเข้าไปเสนอร่วมขึ้นทะเบียนด้วยนั้น โดยอ้างข้อมติที่ 13 นั้น เป็นการอ้างที่ผิดเรื่องผิดราวเอามากๆ มติข้อ 13 นั้นความจริงเป็นมติที่อ้างอิงว่า ปราสาทพระวิหารได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ตามเกณฑ์ 1 ใน 6 ข้อ ของคณะกรรมการฯ เกณฑ์ 1 ที่ว่า “พระวิหารเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมของสถาปัตยกรรมเขมร ซึ่งมีความบริสุทธิอย่างยิ่งทั้งในเรื่องผังและรายละเอียดตกแต่ง”

หากรัฐบาลประสงค์จะใช้ข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อขอขึ้นทะเบียนร่วมนั้น ต้องไปดูข้อ 10 ที่ว่า “ให้พิจารณาต่อไปอีกว่า การค้นคว้าทางโบราณคดีที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งอาจจะมีการค้นพบสำคัญ ซึ่งอาจสามารถพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนข้ามพรมแดนใหม่ได้ ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมทั้งจากกัมพูชาและประเทศไทย”

ความในข้อนี้หมายความว่า หากประเทศไทยประสงค์ไปเสนอชื่อขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมในลักษณะข้ามพรมแดน จะต้องเข้าองค์ประกอบ 2 ข้อ กล่าวคือ 1 ต้องค้นพบสิ่งใหม่ที่สำคัญทางโบราณคดี และ 2 ต้องได้รับความยินยอมจากกัมพูชาด้วย

สิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องทำ ไม่ใช่ไปรณรงค์กับนานาชาติขอคัดค้านการขึ้นทะเบียนหรือขอขึ้นทะเบียนร่วม แต่ต้องไปศึกษาทางโบราณคดี ดูว่า มีอะไรที่หลงเหลืออยู่ที่ยังไม่ได้ค้นพบและมีคุณค่าพอจะไปเสริมความเป็นมรดกโลกของปราสาทแห่งนั้นได้บ้าง เมื่อพบแล้วก็ต้องไปเจรจากับกัมพูชาอีกว่า จะยอมให้เอาสิ่งค้นพบใหม่ไปร่วมหรือไม่

หากรัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้ใครไปศึกษาเรื่องที่ควรศึกษา แล้วให้ข่าวเพื่อบิดเบือนเรื่องที่แท้จริง ด้วยหวังคะแนนนิยมทางการเมืองภายในประเทศ ว่าได้ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คนไทยไม่ได้เป็นเจ้าของแต่รักและหวงแหน ถือเป็นการดำเนินงานที่ไม่ชอบอย่างยิ่ง ผิดทั้งในทางการเมืองภายในประเทศและมารยาทของการเมืองระหว่างประเทศ