ที่มา มติชน
คอลัมน์ เดินหน้าชน
โดย ภาคภูมิ ป้องภัย
เรื่องพิลึกพิลั่นเกิดขึ้นอีกครั้งในรัฐบาลชุดปัจจุบัน หลังจากเกิดเรื่องแบบนี้มาเป็นระยะๆ
ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากินกับงบฯโครงการชุมชนพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องนั่งรอออกรายการสดที่ช่อง 11 นาน 1 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นคลิปเสียงนายกฯในที่ประชุม "ลับ"หลุดออกมา ฯลฯ
ล่าสุด โดนฝ่ายค้านตั้งข้อสงสัยเรื่องจัดทำงบประมาณแบบ "สอดไส้"
เรื่องของเรื่องคือ ฝ่ายค้านกล่าวหาว่าเอกสารร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเห็นชอบเปลี่ยนแปลงรายการปรับเพิ่ม-ลดไปเรียบร้อยแล้ว ดันมีมือดีไปแก้ไขใหม่แล้วสอดไส้เสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ทั้งๆ ที่ไม่ผ่านที่ประชุม กมธ.แปรญัตติฯ
ฉบับผ่าน กมธ.แล้ว เนื้อหาระบุว่า
"มาตรา 12 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงคมนาคม ให้ตั้งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 4,771,858,800 บาท จัดสรรให้กรมทางหลวง 857,454,300 บาท
มาตรา 26 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐสภา ให้ตั้งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 152,880,000 บาท จัดสรรให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 152,880,000 บาท"
ฉบับสอดไส้เข้ามาใหม่เฉพาะหน้า 6-1,10-1 และ 10-2 เนื้อหาระบุว่า
"มาตรา 12 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงคมนาคม ให้ตั้งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 4,635,357,800 บาท
กรมทางหลวง 720,953,300 บาท
มาตรา 26 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐสภา ให้ตั้งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 289,381,000 บาท
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 247,800,000 บาท
สถาบันพระปกเกล้าฯ 41,581,000 บาท"
ร่างสอดไส้แก้ไขใหม่ระบุงบฯกรมทางหลวงหายไป 136,501,000 บาท เพื่อนำไปเพิ่มให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ จำนวน 94,920,000 บาท ที่เหลืออีก 41,581,000 บาท จัดให้สถาบันพระปกเกล้าฯ ซึ่งในร่างแรกไม่ปรากฏ
หลังจากเล่นแร่แปรธาตุแล้ว นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. ได้ขอนัด กมธ.แปรญัตติประชุมลงมติรับรองการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่ในมาตรา 12 และ 26
ฝ่ายค้านได้ทีเล่นเกมไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วย ทีนี้ก็เป็นเรื่องสิครับ
เพราะมันเกิดปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาทันทีว่าไอ้ที่ไปปรับลดปรับเพิ่มใน 2 หน่วยงานโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม กมธ.อย่างเป็นทางการนั้น ถือว่าถูกต้องตามระเบียบกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร
ว่าไปแล้ว กมธ.แปรญัตติฯโดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบในความบกพร่องนี้ไปเต็มๆ มีอย่างที่ไหน สถาบันพระปกเกล้าฯเป็นถึงหน่วยงานสร้างภาพบวกให้รัฐสภา ไฉนจึงไม่ได้งบฯแม้แต่บาทเดียว
จะว่า กมธ.โหดร้ายตัดทิ้งทั้งหมดก็ไม่น่าใช่ เพราะสถาบันได้งบฯบริหารงานต่อเนื่องทุกปี ปีละหลายร้อยล้านบาท เช่น ปี 2552 ได้ไป 360 ล้านบาท มาปี 2553 สำนักงบประมาณจัดสรรให้สูงกว่าเดิมถึง 364 ล้านบาท จู่ๆ กมธ.มาตัดเหลือศูนย์บาท อย่างนี้สู้ยุบทิ้งเสียมิดีกว่าหรือ
สาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ กมธ.ซีกรัฐบาลสะเพร่า โดยเฉพาะนายชัย ชิดชอบ ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันพระปกเกล้าฯไม่หือไม่อืออะไร จนมารู้ว่าหน่วยงานใต้สังกัดไม่ได้เงินสักบาทก็เมื่อสายไปแล้ว
ส่วนนายชัย ชิดชอบ พอรู้ตัวว่าพลาดไปแล้วก็เอาว่ะ ยอมหั่นงบฯจากหน่วยงานที่เด็กของลูกชายคุมอยู่ ไปโปะให้สถาบันพระปกเกล้าฯ แถมได้งบฯดูงานต่างประเทศติดปลายนวมมาด้วย
แม้ขั้นตอนยัดไส้เอกสารร่างแก้ไขใหม่เข้าสู่วาระ 2 จะโดนก่นด่าจากฝ่ายค้านอยู่บ้าง แต่ก็ด่าพอเป็นพิธี เพราะฝ่ายค้านเองรอโครงการส่วนแบ่งจาก "ไทยเข้มแข็ง" อยู่เช่นกัน
เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสะเพร่าเล็กๆ และใช้วิธีแก้ปัญหาแบบ "ขายผ้าเอาหน้ารอด" ทว่าต่อไปอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ ถ้า ส.ส.ฝ่ายค้านบางกลุ่ม หรือผู้มีส่วนได้เสีย ไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหารัฐบาลฝ่าฝืน รัฐธรรมนูญ มาตรา 168 วรรค 6 หรือยื่นร้อง ป.ป.ช.ถอดถอนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 270 ฯลฯ
รัฐบาลอาจตกอยู่ในสภาพ "ปลาตายน้ำตื้น"ในท้ายสุด