วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเมืองร้อน-เกมแรง ทางเลือก"อภิสิทธิ์" ชะตากรรมบนปากเหว

ที่มา มติชน


ปัจจัยหลักที่จะทำให้รัฐบาลอยู่หรือไปเวลานี้ ไม่ใช่เกิดจาก "ศึกนอก"

หากแต่เป็น "ศึกใน"

"ศึกใน" ที่ถูกฉายภาพออกมาจนโดดเด่นชัดเจนว่า "ขัดแย้งกันจริง"

และ "รุนแรง" อาจถึงขั้นผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ

โดยเฉพาะตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณชัดๆ ผ่านนายกฯอภิสิทธิ์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หลังเดินทางกลับมาจากเยอรมนีว่า ต้องเป็น พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.

เป็นความชัดเจนที่ว่ากันว่า ทำให้นายกฯอภิสิทธิ์ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

เพราะคำกล่าวอ้างของ "นิพนธ์" บ่งบอกถึงความต้องการของ "ผู้ใหญ่ที่เคารพ"

ขณะที่อีกฝ่ายคือ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจ ก็มี "ผู้ใหญ่ที่เคารพ" ออกแรงหนุนเช่นกัน

คำพูดที่ส่งสัญญาณผ่านแกนนำพรรคภูมิใจไทย อย่าง ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ในฐานะ กตช. ก็ชัดเจนว่า ให้สนับสนุน พล.ต.อ.จุมพล

ที่น่ากลัวก็คือ คำพูดของ "นิพนธ์" ที่ถูกกล่าวอ้างว่า ถ้ายังดื้อดึงอาจจะเป็นเรื่องยากในการบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

ไม่มีใครรู้เหตุผลว่า ทำไม "คนพวกเดียวกัน" ต้องยืนคนละมุม ทั้งที่สามารถพูดคุยกันได้

ที่สำคัญ ไม่มีใครรู้เหตุผลที่ลึกกว่านั้นว่า ทำไม ต้อง พล.ต.อ.ปทีป

ทำไม ต้อง พล.ต.อ.จุมพล

ไม่มีคำตอบ ไม่มีเหตุผล

แต่หากสามารถทำให้ชะตากรรมนายกรัฐมนตรียืนอยู่ปากเหวได้ ก็คงไม่ใช่เรื่องธรรมดา

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯอภิสิทธิ์

แต่ไม่ว่าจะออกทางไหน ต้องยอมรับว่าเวลานี้แรงบีบของคนเคยรักกัน เป็นแรงบีบที่หนักหนาสาหัส

ถึงกับมีเสียงเล็ดลอดออกจากปากนายกฯอภิสิทธิ์ ในทำนอง "เล่นกันขนาดนี้เลยหรือ"

เมื่อดูธรรมชาติบวกกับความมั่นใจตัวเองของนายกฯอภิสิทธิ์ทำให้หลายฝ่ายหวาดหวั่นอยู่ไม่น้อยกับ "เด็กดื้อ" ที่มีเวทมนตร์อยู่ในมือ

เสียงกระซิบเบาๆ ของ "ชัย ชิดชอบ" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ว่าหลังผ่านงบประมาณวาระ 3 อาจจะมีการ "ยุบสภา" ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลย และไกลเกินความเป็นจริง

หากคนที่ถืออำนาจในการ "ยุบสภา" ในมือมองว่าถูกรังแก ทำร้ายจากเพื่อนห้องเดียวกัน และทนภาวะที่กดดันไม่ไหว

แต่ถามว่า "กล้าหรือไม่"?

เพราะการจะยุบสภา ต้องมององค์ประกอบรอบด้าน ที่ชัดเจนคือฝ่ายทหาร ที่เวลานี้มองว่ารัฐบาลอ่อนแอ

ขณะที่เงาทมึนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับแข็งแรงและกำลังทาบทับทุกส่วนของด้ามขวานทอง

ฉะนั้นการ "ยุบสภา" จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักในภาวะเช่นนี้

แม้จะยังคงใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ก็จะไม่สามารถ "ทัดทาน" ความนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะส่งผลถึงอาการแลนด์สไลด์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน

หากมองถึงทางออกคงมีไม่กี่ทาง ที่แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์หลายคนนั่งวิเคราะห์และจับยามสามตา

ทางหนึ่ง ตัดสินใจเลือก พล.ต.อ.จุมพล นั่งเป็น ผบ.ตร.จะได้หมดเรื่องหมดราว

ทางหนึ่ง นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อล้างไพ่จัดโผ ครม.กันใหม่ก่อนจะ "เขี่ยพรรคภูมิใจไทย" ที่เป็นหนามตำเท้าออกจากการร่วมรัฐบาล และจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

และอีกทาง นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อล้างไพ่กันใหม่ ก่อนจะอาศัยอำนาจบารมีของ "ผู้ใหญ่ที่เคารพ" จัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ ดันอดีตนายกฯชวน หลีกภัย ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้นำอีกรอบ ก่อนส่งสาย "บัญญัติ บรรทัดฐาน" ขึ้นมาเป็นมือประสานกับพรรคเพื่อไทย ให้เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล

แต่ทางเลือกนี้ จะต้องหาเหตุและผลให้ดี เพราะ "สีเสื้อ" ของแต่ละฝ่ายแรงเหลือเกิน

เหล่านี้คือ "ทางเลือก"

ทางเลือกที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันเป็นการภายในของพรรคประชาธิปัตย์

ในภาวะที่นายกรัฐมนตรี ถูกขี่คอ ขย่มซ้ำ โดยเฉพาะจากคนภายในด้วยกันเอง