ที่มา มติชน
บทนำมติชน
ภาพนักการเมืองในนามคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย ได้แก่ วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสมาชิก ยืนจับมือพร้อมกับรอยยิ้มภายหลังมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ใน 6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 23 กันยายน อาจเป็นได้แค่ "ละครการเมือง" ฉากหนึ่งที่ในวันที่สื่อมวลชนถ่ายภาพทำข่าวได้เห็นความร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ซึ่งเป็นห้วงเวลาสั้นๆ แต่หลังจากนั้นกลับเกิดการโต้แย้งอันเนื่องมาจากความเห็นไม่ตรงกัน ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายของกลุ่มตัวเอง ทำให้ยากต่อการหาข้อยุติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใด จะต้องลงประชามติหรือไม่ ฯลฯ
ใน 6 ประเด็นของข้อสรุปคณะกรรมการสมานฉันท์ฯซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุการณ์ "สงกรานต์เลือด" ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประกอบด้วย 1.ไม่ต้องยุบพรรคการเมืองและไม่ต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารหากมีกรรมการไปทุจริตการเลือกตั้ง (มาตรา 237) 2.แก้ไขจำนวนและที่มาของ ส.ส.ให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นคือ ให้มี ส.ส.500 คน แบ่งเป็น 400 คน มาจากการเลือกตั้งเขตเดียวคนเดียว อีก 100 คน มาจากระบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา 93-98) 3.แก้ไขจำนวนและที่มาของ ส.ว.ให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นคือ ให้ ส.ว.มี 200 คน มาจากการเลือกตั้ง ให้หาเสียงได้เฉพาะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. (มาตรา 111-121) 4.เกี่ยวกับสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภามาตรา 190) 5.ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ (มาตรา 265) และ 6.ให้ ส.ส. และ ส.ว.แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านได้ (มาตรา 266)
จะเห็นว่า ทั้ง 6 ประเด็นล้วนเป็นเรื่องของนักการเมืองโดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค การกำหนดที่มา อำนาจบางประการของ ส.ส. ส.ว. การที่รัฐบาลจะทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่ถูกหากไปพูดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นนี้เป็นการสร้างความสมานฉันท์หรือพูดว่าเป็นการปฏิรูปการเมือง เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย หากจะนำไปสู่ความสมานฉันท์หรือการปฏิรูปการเมือง ต้องไปดูข้อเสนอของคณะอนุกรรมการสมานฉันท์และอนุกรรมการเพื่อการปฏิรูปการเมืองว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งวิป 3 ฝ่ายและรัฐบาลไม่ได้นำมาพิจารณาและไม่มีการผลักดันที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ
พูดถึงการออกเสียงประชามติประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น มีนักการเมืองหลายคนอยากจะจัดให้มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในจำนวนนี้มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วย ฟังผิวเผินก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าพินิจพิเคราะห์ลงไปให้ลึกจะพบว่าไม่จำเป็นเพราะไม่เพียงแต่จะเสียงบประมาณในการจัดลงประชามติเกือบ 2,000 ล้านบาท ยังทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทอดเวลาออกให้นานยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ใน 6 ประเด็นเรื่องปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับชาวบ้าน และในระหว่างการทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้ความรู้ก่อนถึงวันไปออกประชามติก็จะเกิดการขัดแย้ง แตกแยกจากเหตุแห่งการแบ่งสี เลือกข้าง หลังจากรู้ผลคะแนนในการออกเสียงประชามติก็จะเห็นภาพความไม่ลงรอยของนักการเมือง และความร้าวฉานของประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค
เป็นหน้าที่ของนายอภิสิทธิ์ที่บอกว่า เมื่อกลับจากการประชุมสหประชาชาติมาถึงประเทศไทยจะรีบหาข้อยุติก็ควรจะแสดงภาวะผู้นำให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการประสานงานกับทุกพรรคทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ส.ว. ซึ่งมีหลายกลุ่มเพื่อจะเดินหน้าได้ถูกต้อง การบริหารงานด้วยคำพูดผ่านสื่อมวลชนได้ทำมามากพอแล้ว ซึ่งยังไม่เกิดผลดีต่อประเทศ ถึงเวลาที่รัฐบาลจะลงมือปฏิบัติให้ประชาชนได้เห็นเสียทีหากนายอภิสิทธิ์สร้างความชัดเจนได้ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแบบไหน จะยุบสภาเมื่อไร เพื่อให้การเมืองไทยเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ นำความปรองดองกลับสู่สังคมไทยอีกครั้งก็จะเป็นสิ่งวิเศษ ทั้งหลายทั้งปวงหาล้วนเป็นภารกิจของนักการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้น จงอย่าโยนความรับผิดชอบหรือหาแพะที่จะกล่าวโทษเวลาที่เกิดเหตุยุ่งเหยิงวุ่นวายขึ้นภายในประเทศ