ลงนาม เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523
แต่เอาเข้าจริงๆ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่ว่าจะเมื่อเป็น นายกรัฐมนตรี (พฤศจิกายน 2539) ไม่ว่าเมื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก พรรคเพื่อไทย (ตุลาคม 2552)
ก็ยังต้องเดินทางไกล
เป็นการเดินทางไกลที่แม้กระทั่ง นายกรัฐมนตรี ซึ่งลงนามในคำสั่งที่ 66/2523 ก็ออกมาประกาศบทสรุปอันเฉียบคมว่าด้วย "ทรยศชาติ"
เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งกับพรรคเพื่อไทย
เป็นการเดินทางทันทีที่กลับจากเข้าเยี่ยมคารวะ สมเด็จฯฮุน เซน ณ กรุงพนมเปญ ก็นำไปสู่ข้ดขัดแย้งทางการเมืองอย่างมากด้วยสีสันจากบรรดานักพูดแห่งพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มคนซึ่งยืนตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย
เป็นบทสรุปว่าด้วย "ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน" เป็นบทสรุปที่บางคนสวมวิญญาณโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งคำถาม
"รู้แล้วว่าพระยาละแวกกลับชาติมาเกิดเป็นใคร"
ต้องยอมรับว่า บทเรียนและความจัดเจนของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในห้วงที่เคลื่อนไหวผ่าน ศปก.315 คือ การสะสมปริมาณซึ่งต่อมาได้ยกระดับเป็นคุณภาพแห่งหลักการ
การเมือง นำ การทหาร
แน่นอน ความจัดเจนนี้ปัจจัยหนึ่งมาจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับอดีตกรรมการกลาง พคท.ระดับ นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร และ นายผิน บัวอ่อน
ปัจจัยหนึ่ง มาจากการลงมือปฏิบัติที่เป็นจริงทางการเมือง การทหาร
วาทกรรมสำคัญอันเป็นเงาสะท้อนทางความคิดก็คือ การเสนอให้ การต่อสู้ เข้ามาแทนที่การปราบปราม ต่อปัญหาคอมมิวนิสต์
นั่นก็คือ แทนที่จะปราบปรามคอมมิวนิสต์ก็เป็น การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
การปราบปรามเป็นเรื่องของการใช้กำลังเป็นเรื่องการทหาร ขณะที่การต่อสู้เป็นเรื่องของความคิด เป็นเรื่องของการเมือง
หากไม่ยึดกุมการต่อสู้ทางความคิดให้มั่นแน่ว การปราบปรามก็จะสะเปะสะปะไร้ทิศทาง
เนื้อแท้ของคำสั่งที่ 66/2523 ก็คือ การเมืองนำการทหาร ก็คือ อาศัยการต่อสู้เพื่อเอาชนะทางความคิดสำคัญกว่าการปราบปรามด้วยกำลังและความรุนแรง
กระนั้น ชัยชนะเมื่อปี 2523 ก็มิได้เป็นชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ
ที่ว่ามิได้เป็นชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ แม้ขบวนของ พคท.จะแตกสลายภายหลังสมัชชา 4 กระทั่งมิอาจดำรงอยู่ทางการจัดตั้ง
กระนั้น "ภายใน" กลุ่ม "ผู้ชนะ" ก็ใช่ว่าจะเป็นเอกภาพในทางความคิด
รูปธรรมเด่นชัดอย่างมากก็คือ วาทกรรมว่าด้วย "ทรยศชาติ" สะท้อนถึงความเข้าใจต่อแก่นแท้ คำสั่งที่ 66/2523 โดยเฉพาะที่ปรากฏผ่านรูปธรรม คำสั่งที่ 65/2525
เพราะหากยึดกุมคำสั่งที่ 66/2523 ก็คงไม่พูดออกมาอย่างนี้
รูปธรรมเด่นชัดอย่างมากก็คือ วาทกรรมว่าด้วย "ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน" และชี้นิ้วประณามเสมือนเป็น "พระยาละแวก" กลับชาติมาเกิดคงไม่ปรากฏ
หากแนวทางแห่งคำสั่งที่ 66/2523 ยังมีความหมายอยู่ในทางเป็นจริง
แท้จริงแล้ว ปฏิบัติการครั้งใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เช่นกับเมื่อยังดำรงยศเป็น พ.อ. และทำงานผ่านโครงสร้าง ศปก.315 อันเป็นการสะสมความจัดเจนเพื่อกาลข้างหน้า
อย่างหนึ่ง คือ การนำไปสู่การตกผลึกและสรุปเป็นคำสั่งที่ 66/2523
อย่างหนึ่ง คือ การนำไปสู่ความสามารถในการสถาปนาแนวร่วมเขมร 3 ฝ่าย เพื่อยุติสงครามกลางเมืองอันเป็นจุดแปรเปลี่ยนอย่างสำคัญทั้งในกัมพูชาและประเทศไทย
เพียงแต่การเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผ่านพรรคเพื่อไทย อันเป็นองค์กรทางการเมือง มิได้ผ่าน ศปก.ทบ. และมิได้ผ่านกระบวนการทางการทูตใต้ดินที่มีกองทัพบกเป็นองค์ประกอบหลัก
การเคลื่อนไหวนี้จึงมากด้วยความสลับซับซ้อนและมากด้วยตัวแปร
หากไม่ศึกษา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อย่างเป็นกระบวนการและด้วยความเข้าใจในอดีต
ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจในกาละอันรวดเร็ว และก็ยากที่จะยอมรับในความโลดโผนของท่วงทำนองการเคลื่อนไหว
น่ายินดีที่การเดินทางครั้งใหม่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ตระเตรียมตัวเองมาได้ค่อนข้างรัดกุม