วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ชิงมวลชน

ที่มา มติชน

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12

โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร



มีรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม

ที่ใช้ คำว่า "รายงานข่าว" แสดงให้เห็น 2 นัย

นัยหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ทีมงานโฆษกรัฐบาลจึงไม่หยิบมาแถลง

หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่เปิดเผย แต่ผู้สื่อข่าวได้เบาะแสมาจากแหล่งข่าว จึงหยิบมานำเสนอ

จึงอาจประเมินยากสักหน่อยว่า เรื่องนี้ คณะรัฐมนตรี ให้น้ำหนักเพียงใด

รายงานข่าวดังกล่าว ระบุว่า ครม.รับทราบผลการดำเนินโครงการ "สู้วิกฤตด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ห้วงที่ 2 (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม) ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เสนอ

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ

1.ช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

2.สร้างภูมิคุ้มกันให้ปลอดภัยจากความมั่นคง

3.ปกป้องและเทิดทูนสถาบันมิให้ล่วงละเมิดพระบรมราชานุภาพ

และ 4.เสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ

โดยห้วงที่ 2 กอ.รมน.รายงานว่าได้จัดส่งวิทยากรของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) และ กอ.รมน.ภาค 1-4 ไปให้ความรู้และความช่วยเหลือแก่ประชาชนใน 43,282 หมู่บ้าน

แบ่งเป็น กอ.รมน.ภาค 1 จำนวน 10,484 หมู่บ้าน

กอ.รมน.ภาค 2 จำนวน 18,533 หมู่บ้าน

กอ.รมน.ภาค 3 จำนวน 9,268 หมู่บ้าน

และ กอ.รมน.ภาค 4 จำนวน 4,982 หมู่บ้าน

รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อสรุปภาพรวมในการดำเนินโครงการ "สู้วิกฤตด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ห้วง 1 และ 2 ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าชุดวิทยากรจำนวน 2,974 คน ได้เข้าไปปฏิบัติงานในหมู่บ้าน/ชุมชน รวม 76,697 ครั้งแล้ว

ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลประมาณ 963 ล้านบาท

จากรายงานของ กอ.รมน.นี้ แสดงว่า ในแต่ละวัน จะมีทีมของ ศปก.ทบ. ออกไป "ปฏิบัติการ" หลายแห่ง และถี่ยิบ

ขณะเดียวกันก็ใช้งบประมาณมหาศาลเกือบพันล้าน

จึงชวนให้เกิดคำถามว่า "ปฏิบัติการถี่ยิบและแพงระยับ" ที่มีการรายงานต่อคณะรัฐมนตรี มีมรรคผลตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ 4 ประการ ทั้งด้านคุณภาพชีวิตชาวบ้าน ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านการป้องกันการละเมิดพระบรมราชานุภาพ และด้านการสร้างความสมานฉันท์ อย่างไร

พูดตามหลักการ ถ้าทุ่มเทขนาดนี้ ก็น่าจะมีผล "บวก" ไม่น้อย

แต่ ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์ ทั้ง 4 ประการที่ไปทำนั้น ก็ยังเป็น ปัญหาที่รุนแรง และ รุนแรงขึ้นเป็นตามลำดับ

ไม่ได้มีสัญญาณที่บ่งบอกว่าจะมีอะไรดีขึ้น

แล้วการเข้าไปชุมชน/หมู่บ้าน 76,697 ครั้ง ใช้เงินไป 963 ล้าน มีความหมายอย่างไร

ที่ ทีมงานโฆษกรัฐบาลไม่แถลงเรื่องนี้ เพราะ ครม.รับทราบไปแกนๆ หรือ รับทราบไปงั้นๆ

หรือ ปิดลับเอาไว้ เพื่อเป็นทีเด็ด ไว้ตลบหลัง กลุ่มมวลชนเสื้อแดง และสมาชิกพรรคเพื่อไทย

ซึ่งอันหลังนี้ โดยส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไหร่

เพราะเห็น และได้รับทราบมาตลอดว่า มวลชนเสื้อแดงเพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยก็ตีปี๊บประโคมข่าวว่าทำโพลแล้ว พวกเขาชนะแน่ๆ

แสดงว่า "งานมวลชน" ของฝ่ายรัฐบาล ฝ่อ

จำนวนปฏิบัติการอันถี่ยิบ และ จำนวนเงินที่ใช้ ไม่ได้ส่งผลในทางบวกต่อฝ่ายรัฐบาลเลย

นี่คือสิ่งที่น่าห่วงใยแทนรัฐบาล ว่ายังคลำไม่ถูกเป้า

โครงการเอิกเกริก อย่างร้องเพลงชาติทั่วประเทศ หรือล่าสุดคือการตั้งคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ดูดี หรูหรา

แต่เอาเข้าจริง กลับมี มรรคผล น้อยยิ่ง

คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานและแวดล้อมด้วยข้าราชการประจำอีกหลายสิบ ยังไม่ได้นัดเวลาประชุมครั้งแรกเลย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็งัดมุขใหม่ ให้ฝ่ายรัฐบาลตามไล่อีกแล้ว

โดยหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ ทวิตเตอร์ มาระยะหนึ่ง ปรากฏว่าสามารถสื่อสารกับชาวบ้านและยึดพื้นที่ข่าวได้ในระดับที่น่าพอใจ

แต่ทวิตเตอร์ ก็มีข้อจำกัด คือสื่อสารได้เฉพาะกับพวกที่เล่นอินเตอร์เน็ต ยังไม่กระจายไปถึงมวลชนระดับล่าง

พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้ต่อยอดเข้าไปสู่เรื่อง เอสเอ็มเอส ที่สามารถส่ง "ข่าวสารของ พ.ต.ท.ทักษิณ" เข้าไปยังมือถือได้โดยตรง และเปิดให้ชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิกฟรีๆ ซึ่งมีการโฆษณาชวนเชื่อจากฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณว่า แค่เริ่มต้นก็มีสมาชิกหลายหมื่นคนแล้ว

แสดงว่าอะไร

แสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่าย จะสามารถกดปุ่มครั้งเดียว ข่าวสารที่ต้องการสื่อสาร ก็จะกระจายไปถึงคนเป็นหมื่นๆ หรือแสนๆ คนในอนาคตทันที

การเหน็ดเหนื่อยลงพื้นที่ของ กอ.รมน. 7 หมื่นครั้ง ใช้เงิน 900 ล้าน เป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย

นี่คือสิ่งที่ฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องจับให้ได้ไล่ให้ทัน

ไม่เช่นนั้น "มวลชน" ที่หวังจะช่วงชิงนั้น หายไปกับกระแส "แดง" ยิ่งขึ้นๆ ทุกที