วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สมัยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์เข้าไปสนับสนุนกรรมกรหญิงฮาร่าประท้วงนาน5เดือน และยึดโรงงานผลิตยีนส์ออกขายเอง ในว้นที่19พ.ค.2519ตำรวจเข้าสลายด้วยความรุนแรง(คลิ้ก) ในบทความชิ้นนี้วนิดาได้ย้อนเล่าไปถึงตอนเข้าไปเจรจากับอธิบดีกรมแรงงานสมัยนั้นคือ ศ.นิคม จันทรวิทุร และการได้ร่วมงานกับท่านผู้นี้ในอีก20ปีต่อมา
โดย วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษา สมัชชาคนจน
บทความเกี่ยวเนื่องของวิภา ดาวณี:สามัญชนที่ยิ่งใหญ่ นิคม จันทรวิทุร
หมายเหตุไทยอีนิวส์:ศ.นิคม จันทรวิทุร ถึงแก่กรรมเมื่อ 31 ตุลาคม 2544 ภายหลังจากการเปิดอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาเป็นทางการ ในปีเดียวกันคุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เขียนบทความรำลึกถีงท่านในหนังสืองานศพ ดังต่อไปนี้
ชายวัยกลางคน ที่มีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมแรงงานคนแรกของประเทศไทย นั่งอยู่บนโซฟา ต่อหน้าข้าพเจ้า รอยยิ้มที่อ่อนโยนและเป็นมิตร ทำให้ข้าพเจ้าผ่อนคลายความตึงเครียดลง
ข้าพเจ้ากำลังจะเข้าไปปรึกษาหารือกับท่าน ในเรื่องการเรียกร้องของกรรมกรฮาร่า ท่านรับฟังปัญหาและพูดคุยกับข้าพเจ้าเหมือนผู้ใหญ่ใจดี
เนื้อใหญ่ใจความจำไม่ได้ชัดเจนแล้ว แต่ประมาณว่าการแก้ปัญหาของกรรมกรที่เดือดร้อนในยุคนั้นช่างยากลำบากเสียจริง ท่านเตือนข้าพเจ้าให้กลับไปเรียนหนังสือด้วยความเป็นห่วงใย
เพราะสถานการณ์ในช่วงปี 2518-2519 เป็นสถานการณ์ที่ประชาชนผู้ทุกข์ยากทั้งชาวนาและกรรมกรที่ถูกกดขี่มาช้านาน ได้ลุกฮือขึ้นทำการประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อเรียกร้องชีวิตที่ดีขึ้น ต่อต้านความไม่เป็นธรรมต่างๆของระบบการปกครอง ที่สะสมมายาวนาน
ในยุคเผด็จการก่อน 14 ตุลาคม 2516 ความตื่นตัวอย่างมหาศาลของประชาชนคนยากจน ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาโต้กลับอย่างสุดขั้วของชนชั้นปกครองในสมัยนั้น ที่ต้องการรักษาอำนาจแบบเดิมเอาไว้
การปลุกระดมเพื่อทำลายภาพพจน์ของขบวนการประชาชนที่ก้าวหน้าและการปราบปรามก็เริ่มทวีความเข้มข้นและโหดร้ายทารุณมากขึ้น
การลุกฮือขึ้นของกรรมกรในโรงงานต่างๆ เป็นเหมือนคลื่นที่ซัดสาดถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งระลอกแล้วระลอกเล่าไม่ขาดสาย ข้าพเจ้าและเพื่อนนักศึกษาตัวเล็กๆหลายสถาบันที่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือการเรียกร้องของกรรมกร ต้องวิ่งวุ่นไปมาระหว่างโรงงานต่างๆ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพี่น้องคนงาน
ด้วยความอ่อนหัดต่อโลกแห่งความเป็นจริงของสภาพการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ในสังคมไทยสมัยนั้น ความขัดแย้งในเรื่องลัทธิอุดมการณ์ ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ปกปิดอำพราง การดิ้นรนเพื่อรักษาอำนาจเผด็จการของฝ่ายชนชั้นปกครอง และการปราบปรามทารุณประชาชนอย่างโหดร้ายก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่กลายเป็นตราบาปของชนชั้นปกครองไทยไปชั่วนิรันดร์
ที่เขียนบรรยายมายืดยาว เพื่อที่จะบอกว่า ภาระที่อาจารย์นิคมแบกรับในสมัยนั้น หนักหนาสาหัสเพียงไร
หลังจากนั้นอีก 20 ปี ข้าพเจ้าก็ได้กลับมาร่วมงานกับอาจารย์นิคมอีกครั้งหนึ่ง ในการทำงานด้านด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ไม่ได้ง่ายไปกว่าการทำงานในสมัยเยาว์วัยเท่าไรนัก อาจารย์นิคมได้เข้ามารับตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวบ้านผู้ไดรับผลกรรมจากการสร้างเขื่อน ถึง 4 เขื่อนด้วยกัน
แต่ละเขื่อนก็ล้วนเป็นโครงการที่มีความขัดแย้งสูง ระหว่างชาวบ้านผู้ไม่ต้องการให้สร้าง เพราะอยากจะรักษาวิถีชีวิต การทำมาหากินของตนไว้ กับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานเจ้าของโครงการ 4 เขื่อนที่ว่า ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร เขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี
อาจารย์นิคม เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ชุดเดียวก็ว่าได้ในสมัยนั้น(ปี 2540-2541) ที่ขยันเรียกประชุมทุกอาทิตย์ จนนักวิชาการหลายคนที่เป็นกรรมการร้องโอดโอยว่าทำงานไม่ทัน ความขยันขันแข็งของท่านก็เนื่องมาจากความตะหนักในความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการที่ทบทวีขึ้นเรื่อยๆ จากการดำเนินการของรัฐ
ข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน แต่ที่น่าเจ็บปวดก็คือ ความตั้งใจดีของท่านกลับถูกข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเมินเฉย เตะถ่วงการทำงาน รวมทั้งทำผิดกติกาที่ได้ตกลงในที่ประชุมตลอดเวลา
อาจารย์นิคม เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพที่สุดคนหนึ่งสำหรับข้าพเจ้า ความมีเมตตาต่อชาวบ้านที่ยากจนเป็นพื้นฐานนิสัยที่ดีงามอย่างไม่ต้องสงสัย ท่านไม่เคยหวาดระแวง หรือมองผู้คนในแง่ร้าย ท่านให้โอกาสและปรารถนาดีต่อคนทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวบ้านธรรมดา หรือเป็นนักการเมืองระดับนายกรัฐมนตรี
ท่านต้องการสมานฉันท์ระหว่างคนในสังคมเดียวกัน และสิ่งที่ท่านปรารถนาอยู่ตลอดเวลาก็คือ การแก้ปัญหาคนจน การให้ความเป็นธรรมกับคนจน มาเป็นอันดับแรก ท่านเป็นข้าราชการที่ไม่ยึดติดในตำแหน่ง หรือพอใจแต่เพียงสถานภาพที่สุขสบายในชีวิตของท่าน ความเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจตลอดเวลาของท่าน ล้วนอยู่บนพื้นฐานของการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ที่เป็นการเข้าไปแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง และการสร้างความเป็นธรรมให้สังคม
คงไม่มีคำกล่าวใดๆที่จะมีค่าเพียงพอที่จะบรรยายคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่ มีแต่การปฏิบัติการที่สืบทอดและสอดคล้องกับสิ่งที่ท่านได้ทำมาเท่านั้น จึงจะมีความหมายที่แท้จริงมากกว่าการพร่ำพรรณนาถีงคุณงามความดีของท่าน ดังชาวบ้านยากจนที่ตื่นตัวทั้งหลายที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน
นั่นก็คือการรักษาวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พอเพียง มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติ