วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ถ้ากล้า-ไม่ต้องกลัว

ที่มา มติชน

บทนำมติชน



ทั้งการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เหลือเพียง "นายทักษิณ ชินวัตร" และการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ภายหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 ส่งหนังสือมาถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ลงความเห็นว่า สามารถถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ เพราะอยู่ในหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ว่า หน่วยงานต้องปฏิบัติไปตามหลักเกณฑ์ นั่นคือปฏิบัติตามคำแนะนำหรือคำปรึกษาของกฤษฎีกา ไม่มีเรื่องนโยบายเข้าไปเกี่ยวข้อง

แม้นายอภิสิทธิ์จะบอกว่าไม่ใช่เรื่องนโยบาย หากแต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติงานไปตามปกติของหน่วยราชการ แต่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเป็นผู้เสนอเรื่องการเรียกคืนเครื่องราชฯของ พ.ต.ท.ทักษิณไปยังสำนักราชเลขาธิการเพื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชฯทุกชั้นตรา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาจทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชฯแต่เพียงบางชั้นตราก็ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเท่ากับว่าคนเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นฝ่ายนโยบายจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า การตั้งเรื่องกราบบังคมทูลกรณีเรียกคืนเครื่องราชฯ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับการเรียกคืนเครื่องราชฯ นายกรัฐมนตรีก็ต้องร่วมพิจารณา และเหนืออื่นใดต้องรับผิดชอบในทุกด้านกับการกระทำที่จะเกิดผลตามมา ไม่ใช่จะไปโยนให้ข้าราชการประจำฝ่ายเดียว

ต่อผลที่จะเกิดขึ้นหากมีการดำเนินการจริง ทั้งการถอดยศและการเรียกคืนเครื่องราชฯของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นยังไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร พิจารณาในแง่ข้อกฎหมายก็มี พ.ต.ท.ทักษิณและนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง ฯลฯ ได้ออกแถลงการณ์ให้สัมภาษณ์ในทางโต้แย้งว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์แห่งกฎหมายในการลงโทษบุคคล เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้กระทำผิดร้ายแรง อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการขอพระราชทานอภัยโทษตามฎีกาของคนเสื้อแดง 3.5 ล้านคน ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ ก็อ้างความเห็นของกฤษฎีกาและหลักเกณฑ์ของระเบียบที่เปิดช่องให้ดำเนินการได้ ในแง่ทางการเมือง ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนแสดงความเป็นห่วงว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นบ้านเมือง "ลุกเป็นไฟ" ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนจะมองข้ามประเด็นนี้ อาจเชื่อว่าบ้านเมืองยังมีขื่อมีแปอยู่ และคิดว่าจะรับมือไหว

บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟหรือไม่ ย่อมเป็นเรื่องที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในฐานะเป็นฝ่ายนโยบายจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินกำลังและยุทธวิธีการต่อสู้ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณและพวกให้ถูกต้อง ถ้าวิเคราะห์ผิดประเมินพลาดอาจรับมือไม่ทัน สุดท้ายความไร้เสถียรภาพให้กับรัฐบาลก็จะบังเกิดขึ้น

ทั้งการถอดยศและการเรียกคืนเครื่องราชฯได้ถูกรั้งรอมานานแล้ว นับแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี แต่ไม่ปรากฏว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการใดๆ ทั้งๆ ที่หากอ่านระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรียกคืนเครื่องราชฯ ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า การถูกศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเข้าหลักเกณฑ์การถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชฯ แต่ก็รั้งรอมาจนครบปี หากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีความกล้ามากพอก็ไม่ต้องกลัวผลที่จะเกิดขึ้นตามมา ปัญหาอยู่ที่จะกล้าหรือเปล่าเท่านั้นเอง เพราะลำพังแค่ยังไม่ถอดยศและไม่เรียกคืนเครื่องราชฯ ก็ยังวุ่นวาย โกลาหลทั้งในและนอกสภามากมายถึงขนาดนี้