วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ธงทอง’ หนุนทบทวนเรียนประวัติศาสตร์ นอกตำรา " ยังมีความจริงอีกหลายอย่างที่ลูกหลานไทยยังไม่เคยได้เรียน"

ที่มา มติชน



หวังลดอุณหภูมิปัญหาความขัดแย้งไทย – กัมพูชา เลขาธิการ สกศ. ยันเรียนประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่ต้องทบทวนวิธีการให้ข้อมูลกับลูกหลาน ชี้สิ่งที่เกิดขึ้นมานับพันปี มีหลายมุม หลายข้อเท็จจริง มีความจริงอีกหลายอย่างที่ไม่ได้บรรจุไว้ในตำราเรียน

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ถึงความคืบหน้าการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ระยะ 1 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นเรื่องของการทำงานคู่ขนานกันในทางนโยบาย ทางแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งก็ได้ทำความชัดเจนในเรื่องของโครงการนำร่องต่างๆ โดยปีงบประมาณ 2555 จะเดินเครื่องได้เต็มสูบ

"บางอย่างที่ทำได้ในปี 2554 เช่น การลดโรงเรียนขนาดเล็กบางส่วนด้วยความสมัครใจ แล้วส่งไปเรียนในโรงเรียนระดับตำบล อำเภอ โดยมีการจัดความพร้อม ทั้งจัดรถรับส่งอย่างปลอดภัย และมีประกันให้" เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว

ส่วนโรงเรียนดีประจำตำบลก็เริ่มทำแล้ว มุ่งหวังว่าจะส่งผลต่อการปรับบทบาทของโรงเรียนขนาดเล็กให้ลดตัวลง ขณะนี้ในส่วนของหลักการภาพสิ้นสุดของการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ได้เข้าสู่กรรมการ กนป. ไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปคือขั้นพิจารณางบประมาณเพื่อจะนำมาใช้จ่ายในหลักการเหล่านี้ ซึ่งในวันที่ 3 มีนาคมนี้จะมีการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีอีกรอบ

เมื่อถามถึงแบบเรียนประวัติศาสตร์ ที่ปลูกฝังทัศนคติที่เกลียดชัง ดูถูกเพื่อนบ้าน ต้นตอปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา ที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนั้น ศ.(พิเศษ) ธงทอง กล่าวว่า เห็นด้วยที่การเรียนประวัติศาสตร์ในเมืองไทย คงต้องมีการทบทวนวิธีการให้ข้อมูลกับลูกหลานแล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมานับพันปี มีหลายมุม หลายข้อเท็จจริงมาก ไม่ได้แปลว่า สิ่งที่เราเรียนมา ไม่จริง และไม่เคยเกิดขึ้น แต่ยังมีความจริงอีกหลายอย่างที่ลูกหลานไทยยังไม่เคยได้เรียน

“ผมไม่ได้บอกว่าที่เรียนมาตำราผิด แต่ว่าวันนี้มีอีกหลายอย่างที่อยู่นอกตำรา ที่ควรจะทำให้ลูกหลายไทยเรียนเพิ่มด้วย แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังด้วยว่า ทำอย่างไรไม่ให้ตำราที่ทุกวันนี้หนากว่า 200 หน้า กลายเป็น 500 หน้า เพราะขณะนี้ตัวชี้วัดเด็กที่จบในระดับต่างๆ ว่า ต้องรู้อะไรบ้าง มีจำนวนมากแล้ว ทำอย่างไรให้คนของเรา รู้ให้น้อยแล้วคิดให้มาก น่าจะดีกว่ารู้ให้มากแล้วคิดให้น้อย”

( เรื่อง สาธินีย์ วิสุทธาธรรม-ณัฐนันท์ อิทธิยาภรณ์ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฎิรูปประเทศไทย สถาบันอิศรา )