วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คดีอิหม่ามยี่ผา:กรณีตัวอย่างเอาผิดทหารฆ่า92ศพ

ที่มา Thai E-News
เหตุการณ์ เลวร้ายในจังหวัดชายแดนใต้เรื่องนี้ จะเป็นอุทาหรณ์อย่างดียิ่งสำหรับ 92 ชีวิตที่ถูกสังหารในจังหวัดกรุงเทพมหานคร อันเกิดจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้นโยบายของรัฐบาล

โดย ปาแด งา มูกอ
25 กรกฏาคม 2554

กลาโหมจ่าย 5.2 ล้าน ให้ครอบครัว 'อิหม่ามยะผา' ถูกซ้อมจนตาย

จาก กรุงเทพฯธุรกิจ 22 ก.ค.54

"คดี ซ้อมทรมาน" เกิดขึ้นไม่น้อยระหว่างปฏิบัติการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยฝ่ายหน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ แต่มีไม่กี่คดี พอจะมีความคืบหน้าให้ว่ากระบวนการยุติธรรมยังพอเป็นที่พึ่งหวังให้กับชาว บ้านตาดำ ๆ ได้บ้าง และหนึ่งในนั้นคือคดี "อิหม่ามยะผา"

คดี"อิหม่ามยะผา" หรือ นายยะผา กาเซ็ง เป็นสัญลักษณ์ "ความไม่เป็นธรรม" คดีหนึ่งที่เกิดขึ้นในห้วง 7 ปีไฟใต้โหมกระพือรุนแรง

นาย ยะผาเป็นอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อประมาณวันที่ 19-20 มี.ค.2551 และเสียชีวิตวันที่ 21 มี.ค.เพราะถูกทหารทำร้ายร่างกาย

นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผา เป็นผู้เสียหายนั้น มีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา แต่คดีมีความคืบหน้าชัดเจนที่สุด จนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว คือคดีทางแพ่ง

เมื่อวันพุธที่ 20 ก.ค.54 ทีผ่านมา ศาลแพ่งได้นัดพร้อมไกล่เกลี่ยในคดีหมายเลขดำที่ 1084/2552 ซึ่ง นางนิม๊ะ และลูกๆ ของอิหม่ามยะผา รวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยศาลได้ไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งสองฝ่าย แล้ว คดีสามารถตกลงกันได้ โดยจำเลยทั้งสาม (กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) แถลงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นายยะผา เสียชีวิตนั้น เป็นการปฏิบัติการร่วมกันของจำเลยทั้งสามภายใต้กฎหมายตามสถานการณ์ที่เป็น อยู่ขณะเกิดเหตุ

เมื่อตรวจสอบเหตุการณ์ตลอดจนข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว พบว่านายยะผาผู้ตายและครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ จำเลยทั้งสามรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับจะเยียวยาความเสียหายให้กับฝ่ายโจทก์ตามที่ศาลได้ไกล่เกลี่ย และเป็นที่ยอมรับของฝ่ายโจทก์ เป็นค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของนายยะผาผู้ตาย เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท ค่าปลงศพเป็นจำนวนเงิน 87,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 (ภรรยาและบุตร) เป็นจำนวนเงิน 4,624,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,211,000 บาท และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน

คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกัน ว่า คดีสามารถตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ยื่นต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษาตามยอม ศาลตรวจสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วเห็นว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงพิพากษาตามยอมให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไป
3 ปีแห่งความเจ็บช้ำ
คดี อิหม่ามยะผายืดเยื้อมากว่า 3 ปี แม้จะเป็นคดีที่มีความคืบหน้ามากที่สุดในชั้นไต่สวนการตายทางอาญา เพราะเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2551 (ราว 9 เดือนหลังเสียชีวิต) ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 สรุปว่านายยะผาเสียชีวิตที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551

เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้าย ร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ ราชการตามหน้าที่

ต่อมา นางนิม๊ะและลูกๆ ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดต่อ กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2554 ได้นัดไกล่เกลี่ยกันมาครั้งหนึ่งแล้วที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำศาลแพ่ง แต่ฝ่ายโจทก์และจำเลยไม่สามารถยอมความกันได้ เพราะติดขัดในเรื่องคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้หน่วยงานของจำเลย (กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ประกาศทางหนังสือพิมพ์และส่งหนังสือถึงหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงให้ขอโทษครอบ ครัวของอิหม่ามยะผา ประกอบกับค่าเสียหายที่ฝ่ายจำเลยเสนอมาค่อนข้างต่ำ

กระทั่งล่าสุดในการนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ค. จึงสามารถตกลงกันได้

คดีอาญายังมืด-ลุ้นฎีกาขึ้นศาลพลเรือน

สำหรับ คดีอาญา พนักงานสอบสวน สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้ทำสำนวนสรุปความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ทหารที่ร่วม กระทำความผิดไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2551 แต่จนถึงปัจจุบันการไต่สวนของ ป.ป.ช. ก็ยังไม่แล้วเสร็จ

ต่อมา นางนิม๊ะ ภรรยาของอิหม่ามยะผา จึงตัดสินใจนำคดียื่นฟ้องเองต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1611/2552 โดยนับเป็นคดีแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนได้ลุกขึ้นใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมฟ้องเอา ผิดเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีอาญาเอง

แต่เมื่อประชาชนใช้สิทธิฟ้องคดี เอง ตามกฎหมายกำหนดให้ศาลไต่สวนมูลฟ้อง ก่อนประทับรับฟ้องเพื่อพิจารณาว่าคดีมีมูลหรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2553 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อ่านคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา หมายเลขดำที่ 1611/2552 ซึ่งนางนิม๊ะเป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.วิชา ภู่ทอง จำเลยที่ 1 ร.ต.สิริเขตต์ วาณิชบำรุง จำเลยที่ 2 จ.ส.อ.เริงณรงค์ บัวงาม จำเลยที่ 3 ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช จำเลยที่ 4 ส.อ.บัณฑิต ถิ่นสุข จำเลยที่ 5 และ พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ วังสุภา (อดีตผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ) จำเลยที่ 6 ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อ สิ่งใด, กักขังหน่วงเหนี่ยว, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือ โดยกระทำทารุณโหดร้าย

ทว่าศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกข้อกล่าวหา และให้ไปฟ้องจำเลยที่ 1-5 ต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจ

ต่อมานางนิม๊ะ ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน คือให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 และให้ไปฟ้องจำเลยที่ 1-5 ต่อศาลทหาร ทำให้เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2554 นางนิม๊ะโดยความช่วยเหลือของ นายปรีดา นาคผิว ทนายความโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ยื่นคำขอรับรองฎีกาพร้อมกับฎีกาต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เพื่อให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนราธิวาส หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งพิจารณาคดีหรือลงชื่อในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ เซ็นชื่อรับรองฎีกาเพื่อส่งฎีกาให้ศาลฎีกา ได้พิจารณาต่อไป (ว่าจะรับฟ้องหรือไม่)

ทั้งนี้ รายละเอียดในคำขอรับรองฎีกาของโจทก์นั้น ได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ได้ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ประทับรับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1-5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร และวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของทั้งสองศาลดังกล่าว ด้วยเห็นว่าอิหม่ามยะผาได้เสียชีวิตภายใต้การปฏิบัติการของทั้งเจ้าหน้าที่ ทหารและตำรวจซึ่งสนธิกำลังร่วมกันจับกุม ควบคุมตัว นำไปแถลงข่าว

และ เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายจนอิหม่ามยะผาเสียชีวิต จึงเป็นคดีอาญาในเรื่องเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจร่วมกันกระทำความผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเป็นความผิดต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ

เมื่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นพลเรือนร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ทหาร คดีย่อมอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่ ศาลทหาร อีกทั้งหากคดีต้องฟ้องต่อศาลทหาร ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่สามารถเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลทหาร ได้ และไม่สามารถแต่งตั้งทนายความของตนเพื่อดำเนินคดีในศาลทหารได้ เนื่องจากพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 บัญญัติห้ามไว้ จึงเห็นว่าการดำเนินคดีอาญาในศาลทหารจะทำให้ผู้เสียหายเข้าไม่ถึงกระบวนการ ยุติธรรมได้อย่างแท้จริงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ถึงนาทีนี้ จึงต้องลุ้นว่าคดี "อิหม่ามยะผา" ในภาคอาญาจะเป็นอย่างไร เพราะไม่ว่าจะขึ้นศาลทหารหรือศาลพลเรือน คดีก็เพิ่งนับหนึ่งเท่านั้นเอง...
ทหารชี้เป็นบทเรียนกำลังพลต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

พัน เอกปริญญา ฉายดิลก นายทหารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า คดีอิหม่ามยะผาเป็นคดีสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังสามารถ ให้ความเป็นธรรมได้ และกองทัพไม่เคยเข้าไปแทรกแซงหรือช่วยเหลือ ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิด

ซึ่งเป็นนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ทุกคน ในส่วนของคดีอาญาขณะนี้ทราบว่าทางตำรวจได้ดำเนินการตามกระบวนการ เรื่องอยู่ในชั้น ป.ป.ช. และมีคดีที่ครอบครัวของอิหม่ามยื่นฟ้องเอง โดยในส่วนของกำลังพลที่เกี่ยวข้อง ทางผู้บังคับบัญชาก็ได้มีคำสั่งลงโทษไปตามระเบียบ และย้ายหน่วยดังกล่าวออกจากพื้นที่ตั้งแต่หลังเกิดเหตุ ถือเป็นบทเรียนที่กำลังพลทุกนายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
"ก่อนหน้า นี้ ท่านแม่ทัพ (พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์) ได้ส่งคณะไปเยี่ยมครอบครัวของอิหม่ามยะผา และได้ทำความเข้าใจว่ากองทัพไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินการกระทำที่ผิดพลาดทั้งหมด" พ.อ.ปริญญา ระบุ และว่าในแง่ของการปฏิบัติของกำลังพลโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เน้นย้ำและกำชับเพื่อไม่ให้เรื่องราวในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

จาก คดีเขย่าขวัญของอิหม่ามยะผา ครั้งนี้ทำเอาเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ หนาวๆร้อนๆไปตามๆกัน เพราะเป็นฝ่ายปฎิบัติ แต่ฝ่ายปกครองและนักการเมืองยังคงสนุกสนานอยู่กับงบประมาณ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบ เรียกว่า “งานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ทหารตำรวจมึงเอาไป ส่วนงานเชลียร์สุดใจ เอาหน้าเอาตากูเอาเอง” หนาวๆร้อนๆหน่วยงานแรกก็คือ ทหาร ครับ

แม่ทัพภาค 4 สั่งรื้อทุกคดีคาใจชายแดนใต้ หวัง "คืนความเป็นธรรม" ดับไฟความไม่สงบ

ข้อความต่อไปนี้ มาจากเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

“นโยบาย นี้มาจากการวิเคราะห์ปัญหาของเรา ภายหลังสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปี สรุปได้ว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของพี่น้องในพื้นที่คือ ปัญหาความไม่เป็นธรรมจากคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาต้องเริ่มจากจุดนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนในพื้นที่หลั่งไหลไปเป็นแนวร่วมของกลุ่มขบวนการก่อ ความไม่สงบ”

“ที่ผ่านมาแม่ทัพได้เข้าพบและหารือกับอธิบดีอัยการภาค 9 ผู้บัญชาการตำรวจในพื้นที่ และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน และล่าสุดยังได้เชิญมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม รวมทั้งประธานศูนย์ทนายความมุสลิมทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาพูดคุยเพื่อ แสวงหาความร่วมมือด้วย จะได้ทำงานร่วมกันเพื่อสะสางคดีทั้งหมด และคืนความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชน”

เป้าหมายคืนความเป็นธรรม ตามนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 นี้ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องคดีความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพี่น้องประชาชนอีก 3 กลุ่มที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับคดีความมั่นคงอีกด้วย ได้แก่

1.จำเลยหรือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ไม่ได้รับการประกันตัว กลุ่ม นี้ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเพื่อช่วยเหลือเรื่องการประกันตัว หรือปล่อยชั่วคราว

2.กลุ่มญาติผู้สูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบที่รู้สึกว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม กลุ่มนี้ทางกองทัพจะเข้าไปพูดคุยและช่วยเหลือเรื่องเยียวยา รวมทั้งด้านอื่นๆ หากมีความต้องการ เช่น ฝึกอาชีพ โดยกลุ่มเป้าหมายจะรวมถึงญาติของจำเลยหรือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ไม่ได้ รับการประกันตัว หรืออยู่ระหว่างหลบหนีด้วย

3.กลุ่มอาร์เคเค หรือเยาวชนและชายฉกรรจ์ที่เข้ารับการฝึกเป็นหน่วยรบขนาดเล็กแบบจรยุทธ์ ซึ่งปฏิบัติการก่อความรุนแรงรูปแบบต่างๆ อยู่ในปัจจุบัน และบางส่วนหลบหนีกบดานอยู่ตามป่าเขา กลุ่มนี้จะใช้นโยบาย “พาคนกลับบ้าน” ของแม่ทัพ ด้วยการทำความเข้าใจกับครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย ให้ชักชวนคนเหล่านี้เข้ามามอบตัว หากเคยกระทำความผิดก็ให้ต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่หากเป็นแค่ผู้หลงผิดหรือถูกชักจูง ก็ให้ส่งเข้ารับการฝึกอบรมหรือพูดคุยทำความเข้าใจ

“กลุ่มอาร์เคเคไม่ ใช่โจรผู้ร้าย เราคิดว่าพวกเขาเป็นผู้หลงผิด จึงน่าจะสามารถปรับเปลี่ยนความคิดความเข้าใจกันได้ จากการทำงานของหน่วยงานความมั่นคงที่ผ่านมา ทั้งข้อมูลด้านการข่าวและข้อมูลที่ได้จากการจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ เป็นจำนวนมาก หลายคนยอมรับสารภาพและเล่าให้ฟังถึงการทำงานของขบวนการ เราพบว่าเรื่องการต่อสู้เพื่อเอกราชและตั้งรัฐใหม่ไม่ใช่ความจริง เป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มที่อยู่ระดับบนของขบวนการใช้หลอกลวงกลุ่มเยาวชน ให้เข้ามาทำงานให้เขาเท่านั้น”

“ ข้อมูลที่เราได้มาจนถึงปัจจุบัน ชัดเจนว่าบรรดาแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบระดับสั่งการล้วนพัวพันกับธุรกิจผิด กฎหมาย ค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน แล้วใช้กลุ่มเยาวชนเหล่านี้สร้างสถานการณ์เพื่อผลประโยชน์ของพวกตัวเอง ซึ่งอาร์เคเคจำนวนหนึ่งก็รู้ แต่ติดเงื่อนไขทางศาสนาที่บรรดาแกนนำผูกไว้อีกชั้นหนึ่ง ทำให้คนเหล่านี้เชื่อว่าเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราช สู้แล้วได้บุญ จึงอยู่ร่วมกับขบวนการต่อไป ประกอบกับบางครั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ทำผิดพลาด หรือเกิดเรื่องราวที่ทำให้รู้ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ยิ่งกลายเป็นแรงบวกให้เยาวชนไหลไปร่วมกับขบวนการมากขึ้น”

นี่คือข้อคิดเห็นหรือแนวทางของแม่ทัพภาค 4

ที่ นี้ก็มาลองดูข้อคิดเห็นของลูกพรรคแมลงสาบทางใต้ตอนล่าง เกี่ยวกับปัญหาไฟใต้ ที่แม้ตัวเองขณะมีอำนาจหน้าที่ก็ยังแก้ไม่ได้ กันบ้างครับ

นายถาวร เสนเนียม ส.ส.เขต จ.สงขลา



22 ก.ค.54


"ผม ยอมรับว่าผมกังวลมากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1.ความไม่ชัดเจนในแนวทางแก้ไขปัญหาภาคใต้ และปัญหาเก่าที่พรรคไทยรักไทยเคยทำไว้ คือ กรณีมัสยิดกรือเซะ กรณีตากใบ กรณีที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหาย เหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า พรรคเพื่อไทย จะไปคิดบัญชีกับพี่น้องประชาชนอีกหรือไม่ หรือไปสร้างความเข้าใจ หรือจะไปเยียวยาให้ความเป็นธรรม เพราะเพียงแต่บอกว่าขอโทษที่เคยใช้กำปั้นเหล็ก แค่นั้นคงไม่พอ"

"ข้อ กังวลที่ 2 คือความไม่ชัดเจนในเชิงนโยบาย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปพูดที่ จ.ยะลา ว่าจะจัดตั้งนครปัตตานี ส่วนผู้อาวุโสในพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย ตรงนี้จะนำไปสู่ความสับสน ที่สำคัญที่สุดเขาบอกว่านครปัตตานีเป็นเพียงองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ วิธีการนำเสนอแบบนี้เพื่อให้ดูหวือหวา แสดงว่าผู้นำเสนอนโยบายไม่เข้าใจปัญหา"

"เพราะองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่นเป็นองค์กรที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยว ข้องกับความไม่สะดวกในชีวิตประจำวัน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค ไม่ใช่เรื่องของการมีส่วนร่วมในการปกครอง ดังนั้นหากจะยุบองค์กรหลายร้อยองค์กร (องค์กรปกครองท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่ เช่น อบต. อบจ. และเทศบาล) ให้เหลือองค์กรเดียว จะเป็นการหลงประเด็น"

“ผม ขอเรียนไปยังว่าที่นายกฯยิ่งลักษณ์ว่า เราได้คิดจัดตั้ง ศอ.บต.ขึ้นภายใต้ความต้องการของพี่น้องประชาชน จนกระทั่งตกผลึก มั่นใจว่าเป็นองค์กรที่ดีและเดินถูกทางแล้ว จึงอยากฝากให้สานต่อแนวทางที่เราทำไว้ กระทรวงมหาดไทยต้องคัดเลือกคนที่รู้และเข้าใจปัญหาจริงเข้าไปทำงาน อย่างน้อยก็เป็นคนในพื้นที่หรือเติบโตที่นั่น สิ่งสำคัญที่สุดคือรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีของพี่น้องไทยมุสลิม ไม่เช่นนั้นความผิดพลาดในยุคปี 2544 ถึง 2549 (รัฐบาลพรรคไทยรักไทย) จะกลับมาอีก"

แจ่มแจ๋วไหมครับ ระเบิดเวลาเริ่มวางเป็นจุดๆแล้วครับ เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์ที่ตากใบ เหตุการณ์ที่มัสยิดอัลฟุรกอน และอีกหลายๆเหตุการณ์ กำลังจะดาหน้าเข้าหารัฐบาลใหม่แล้วครับ เหตุการณ์ทางเมืองหลวงของประเทศที่สาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว พอมาพ่วงกับเหตุการณ์ชายแดนใต้เข้าไปอีก ก็ไม่รู้ว่าท่านนายกหญิงยิ่งลักษณ์ฯจะทานไหวหรือเปล่า

น่าเห็นใจ ครับมาเป็นนายกฯที่ต้องแบกภาระบ้านเมืองที่รัฐบาลเก่าทิ้งทั้งขี้ ทั้งหนี้ ทั้งปัญหาร้อยแปดให้แก้ไข แต่ไม่เป็นไรครับ ประชาชนที่มีใจเป็นธรรม มีคุณธรรม 15 ล้านคนจะคอยดูแลและพิทักษ์รักษา ให้ฝ่าอุปสรรคปัญหาไปได้

ขอให้ทำจริง เพื่อประเทศชาติและประชาชน ก็แล้วกัน..........