วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ขุนรองปลัดชู : วาทกรรมเรื่องชาตินิยม

ที่มา ประชาไท

ภาพยนตร์ ที่ได้รับการกล่าวถึงขณะนี้คือ เรื่อง "ขุนรองปลัดชู" ซึ่งออกอากาศที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นตอนๆ รวมทั้งฉายให้ชมฟรีตามโรงภาพยนตร์

โดยนำวีรกรรมที่สำคัญของคนไทยกลุ่มหนึ่งในสมัยอยุธยาที่ต่อสู้กับพม่าจนตัวตายมา สร้างเป็นภาพยนตร์

เป็น ภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้าง แต่คงไม่ได้หวังผลกำไรเป็นหลัก เพราะนอกจากฉายทางสถานีโทรทัศน์แล้วยังแจกบัตรให้ชมฟรีในโรงภาพยนตร์ ทำให้น่าสนใจว่าภาพยนตร์เรื่องขุนรองปลัดชู สร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลใด?

ความ ต้องการตอกย้ำว่าวีรกรรมของขุนรองปลัดชู และชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญจนตัวตาย ไม่ใช่ปัญหา เพราะอย่างน้อยพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ทั้งฉบับ กาญจนาภิเษก ของกรมศิลปากร ที่ชำระและตรวจสอบกับฉบับตัวเขียนในหอสมุดแห่งชาติ และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ต่างบันทึกถึงวีรกรรมของขุนรองปลัดชู และชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ

ข้อความในพงศาวดารทั้งสองฉบับต่างสอด คล้องกันว่า วีรกรรมของขุนรองปลัดชูกับชาวบ้านอีก 400 คน จากเมืองวิเศษชัยชาญมีอยู่จริง เพียงแต่การให้น้ำหนักความสำคัญมากน้อยแตกต่างกันไป ตามบริบทของการชำระพงศาวดารในเวลาต่อมา

เข้าใจว่าผู้เขียนบทภาพยนตร์ เรื่องนี้น่าจะได้ภาพการสู้รบวีรกรรมที่ห้าว หาญจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เพราะให้ภาพการสู้รบที่ละเอียดว่า เมื่อพม่ายกทัพมาตั้งอยู่ที่ตำบลหว้าขาว ริมชายทะเล แถบเมืองกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ขุนรองปลัดชูกับชาวบ้านก็กรูกันออกโจมตีทัพหน้าของพม่า รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงขั้นตะลุมบอน ฟันแทงพม่าล้มตาย

ส่วนตัวของขุน รองปลัดชูถือดาบสองมือวิ่งเข้าไปในหมู่ข้าศึก ฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก แต่พม่ามีกำลังมากกว่า ในที่สุดขุนรองปลัดชูถูกพม่าจับเป็นได้ ส่วนชาวบ้านที่เหลือถูกรุกไล่โดยพลทัพช้างลงไปในทะเล จนจมน้ำตายจำนวนมาก เหลือรอดมาเพียงเล็กน้อย

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาให้ภาพ วีรกรรมของชาวบ้านเมืองวิเศษชัย ชาญและขุนรองปลัดชูได้ละเอียดมาก อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้นอกจากเขียนไว้ในพงศาวดารแล้ว ยังเป็นตำนานบอกเล่าเกี่ยวกับวีรกรรมความกล้าหาญของชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ ที่เล่าสืบต่อกันมาปากต่อปากว่ามีการสู้รบกันดุเดือดกล้าหาญขนาดไหน

ดัง นั้น เมื่อมีการชำระพงศาวดารจากต้น ฉบับสมุดไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงชำระใหม่ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรวจแก้ไข ทำให้ปรากฏพระราชหัตถเลขาอยู่ในต้นฉบับหลวง ในส่วนของวีรกรรมชาวบ้านจึงได้รับการบันทึกให้ละเอียดยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับบริบทในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่สยามกำลังถูกคุกคามจากชาติตะวันตก จึงจำเป็นต้องส่งเสริมวีรกรรมของการต่อสู้เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอัน เดียวกัน ที่สืบเนื่องมาเป็นสยาม

อย่างไรก็ตาม วีรกรรมของชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ นอกจากบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย 2 ฉบับแล้ว ยังสอดคล้องกับตำนานคำบอกเล่าในท้องถิ่นที่เล่าสืบต่อกันมากว่า 200 ปี จนบัดนี้ รวมทั้งยังมีหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในท้องถิ่นคือวัดสี่ร้อย ที่ตั้งชื่อตามจำนวนคนเมืองวิเศษชัยชาญที่ไปสู้รบพร้อมขุนรองปลัดชูจนตัวตาย ถึงสี่ร้อยคน

หากพิจารณาวีรกรรมที่สู้รบอย่างห้าวหาญของชาวบ้าน เมืองวิเศษชัยชาญ ในกองอาสาอาทมาตแล้ว ถือเป็นเรื่องน่ายกย่องชื่นชม เป็นแบบอย่างในการต่อสู้เพื่อปกป้องอาณาจักร

แต่เมื่อนำมาสร้างเป็น ภาพยนตร์ กลับเห็นกลิ่นอายความเป็นชาตินิยมในสมัยปัจจุบันมากกว่าสำนึกแบบอยุธยา ด้วยการปลุกใจให้เกิดความรักชาติ เป็นความพยายามหล่อหลอมกล่อมเกลาทางการเมืองให้ฮึกเหิม เกิดความรักชาติ โดยผ่านวาทกรรมของตัวเอกในเรื่อง ที่ทั้งพูด ทั้งรำพึงรำพันกับตนเอง จนทำให้บางครั้งศัพท์แสงที่ใช้กล่าวออกมาหลุดไปจากสมัยอยุธยา ทั้งแนวคิดเรื่องชาติ เรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแผ่นดิน และเรื่องความเป็น "ข้าราชการ"

ภาพยนตร์สร้างให้ขุนรองปลัดชูใน เรื่องนี้ มีวาทกรรมที่เยอะ ออกไปในแนวสั่งสอนคนในยุคนี้ไปในตัว จนทำให้คนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ขุนรองปลัดชู ต้องเป็นนักเขียนมาก่อนแน่ๆ เพราะเน้นเล่นสำนวน

ตลอดจนตัวเอกพยายามจะสื่อสารแนวคิดเรื่องความรัก ชาติ ความสามัคคี ปรองดอง ด้วยการสะท้อนผ่านเหตุการณ์ความวุ่นวายเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจกันในหมู่ เจ้านาย ทั้งก่อนที่พระเจ้าอุทุมพร และพระเจ้าเอกทัศน์จะได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ เหมือนจะเน้นการอบรมสั่งสอนคนในยุคปัจจุบัน และชี้ให้เห็นว่าความแตกแยก การแย่งชิงอำนาจ นำไปสู่ความย่อยยับของอาณาจักรในเวลาต่อมา

การให้ ภาพกองทัพพม่า พร้อมกับถ้อยคำเจรจาในกองทัพ ด้วยภาษาพม่า เพราะต้องการให้สมจริง? แต่ในทางกลับกันหากคนพม่าได้ฟังแล้วจะรู้สึกอย่างไรหรือ ข้อความที่พูดเป็นจินตนาการของฝ่ายไทยในยุคปัจจุบันล้วนๆ เพราะใครจะบันทึกได้ว่าทหารพม่าจะพูดอะไรกัน!

อีกทั้งบางข้อความ กล่าวพาดพิงถึงมอญ ซึ่งในอดีตเป็นอาณาจักรหนึ่งที่ต้องรบรากับพม่าอยู่เนืองๆ ซึ่งการนำวาทกรรมที่พม่าพูดถึงมอญในทางหมิ่นหน่อยๆ อาจทำให้เกิดวิวาทะระหว่างพม่ากับมอญ แล้วเป็นเรื่องอะไรของคนไทยที่ต้องทำเช่นนี้หรือ เพราะประเด็นของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่การยกย่องวีรกรรมของขุนรองปลัดชู กับชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ มิใช่?

ในขณะเดียวกันภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะกับบริบททางการเมืองในปัจจุบันหรือไม่ โดยเฉพาะความสมานฉันท์ปรองดองกับประเทศเพื่อนบ้าน

ที่ ผ่านมาไทยมีปัญหากับเพื่อนบ้านรอบทิศ เพราะปล่อยให้มีการปลุกกระแสความรู้สึกชาตินิยม ซึ่งความรักชาติเป็นสิ่งที่ดี แต่หากมากเกินเหตุอาจทำให้คลั่งชาติจนขาดสติ ทำให้มีการยุยง ปลุกใจจนเกิดการสู้รบกันบริเวณชายแดน โดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้คนตามชายแดนทั้งคนไทย และคนในประเทศเพื่อนบ้าน ความคลั่งชาติแบบนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีแก่ประชาชน และความเจริญแก่ประเทศชาติแต่อย่างใด กลับทำให้เป็นที่อิดหนาระอาใจแก่เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่คนในชาติเดียวกัน

การ ส่งเสริมให้คนรักชาติ โดยนำเรื่องราวประวัติศาสตร์มาใช้เพื่อหล่อหลอมกล่อมเกลาความคิดเห็นทางการ เมือง หากไม่ไปพาดพิงเกี่ยวพันถึงประเทศเพื่อนบ้าน ก็คงมิเป็นไร

แต่ หากมีบางส่วนบางตอนที่พาดพิงไปถึงเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนั้นสั่นคลอน ก็หาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะไทยไม่ได้อยู่ในสังคมโลกอย่างโดดเดี่ยวได้

เรื่องราวในประวัติ ศาสตร์มีไว้ให้ทบทวนความผิดพลาดในอดีตไว้แก้ไข ภูมิใจกับความสำเร็จที่ผ่านมา โดยไม่เยาะเย้ยถากถางซ้ำเติมผู้อื่น เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ผ่านเลยไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่อย่างไรก็ต้องเดินไปข้างหน้า ท่ามกลางมวลมิตรที่จริงใจ

ดังนั้น การหยิบเรื่องราวในประวัติศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเมืองภายในประเทศ ผ่านวาทกรรมมากมายของตัวเอกในเรื่อง แล้วไปกระทบความรู้สึกต่อผู้อื่นแม้เพียงเล็กน้อย น่าจะเป็นสิ่งที่ควรลดละมิใช่?

การมุ่งสอนให้คนรักชาติ เสียสละเพื่อส่วนรวม อาจไม่จำเป็นต้องกระทำการผ่านเรื่องราวที่เน้นศึกสงครามกับเพื่อนบ้านเท่านั้น

หาก ต้องการสอนให้เด็กเกิดความรักชาติ สามารถสอนผ่านกระบวนการคิด ให้คิดให้เป็น แยกแยะผิดถูก ใช้เหตุใช้ผลอย่างมีปัญญา ดีกว่าการมุ่งเน้นปลูกฝังแนวคิดแบบชาตินิยม

การนำเหตุการณ์ในประวัติ ศาสตร์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมุ่งหมายการกล่อมเกลาทางการเมือง เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีภายในชาติ ไม่ควรพาดพิงเพื่อนบ้าน ให้ความสัมพันธ์ต้องสั่นคลอน

อีกทั้งการสร้างภาพยนตร์อิงประวัติ ศาสตร์ จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับบริบทของสังคมในสมัยนั้น และเรื่องราวที่สื่อสาร ต้องผ่านกระบวน การทางประวัติศาสตร์ เพื่อนำไปสู่ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

เพราะเรื่องราวในประวัติศาสตร์มีไว้ให้ทบทวน หาใช่มีหน้าที่รับใช้อุดมการณ์ทางการเมือง