ที่มา
ประชาไท เทวฤทธิ์ มณีฉาย
นักข่าวพลเมือง
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม สวมหน้ากาก ส่องไฟฉาย ร่วมยืนไว้อาลัย 112 นาทีต่อกระบวนการยุติธรรม หน้าศาลอาญา ย้ำว่า “เราคืออากง”
วันนี้ (9 ธ.ค.54) เวลา 13.00 น. ที่บริเวณบาทวิถีหน้าศาลอาญา รัชดา ได้มีกลุ่มคนแต่งชุดดำจำนวนกว่า 112 คน นำโดยเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และประชาชน ได้ชุมนุม พร้อมทั้งยืนไว้อาลัยต่อกระบวนการยุติธรรม ภายใต้ชื่อกิจกรรม “เราคืออากง” โดยมีจุดเริ่มต้นจากกรณีคดีของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) วัย 61ปี โดนพิพากษาจำคุก 20 ปี จากการที่ศาลเชื่อว่าได้เป็นผู้ส่ง ข้อความทางโทรศัพท์ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ‘คดีอากง SMS’ โดยการรณรงค์ยังมีเนื้อหารวมถึงผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือคดี ความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112
นางสาวจิตรา คชเดช ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกิจกรรม “เราคืออากง” ในวันนี้ว่า จะมีการยืนไว้อาลัยยืนโดยสงบ 112 นาที ใส่ชุดดำแล้วก็ถือไฟฉายในมือ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าในสังคมที่มืดมิดนี่เราใช้ไฟฉายส่องให้เห็นแสงสว่าง หลังจากนั้นจะจบด้วยเพลง “แดนตาราง” เพื่อให้กับทุกๆ คนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมที่อยู่ในเรือนจำ โดยกิจกรรมนี้ได้นัดแนะกันผ่านทาง facebook
“เราต้องการมายืนโดยสงบเพื่อไว้อาลัยต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเราเริ่มตั้งแต่เห็นว่ามีคนโดนมาตรา 112 เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วไม่ว่าจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุมจน ถึงที่สุดแล้วนี่พวกเขาก็ไม่ได้รับการประกันตัว หรือแม้แต่คดีดังที่พวกเราได้ยินกันคือคดีอากงส่ง SMS นี่ถูกศาลลงโทษถึง 20 ปี จากเหตุการณ์เหล่านั้นพวกเราก็เลยคิดว่าควรมายืนไว้อาลัยต่อกระบวนการ ยุติธรรมเลยเลือกที่นี่เพราะถือว่าเป็นศูนย์กลางของหลายๆ อย่าง” นางสาวจิตรา กล่าวถึงที่มาของกิจกรรมครั้งนี้
“หลังจากจบกิจกรรมนี้คงมีหลายๆ พื้นที่ๆ จะทำแบบนี้ ซึงอาจจะมีการจัดเสวนาเกี่ยวกับคำพิพากษา เป้าหมายของกิจกรรมในวันนี้เพื่อต้องการให้สังคมได้ตื่นตัวแล้วได้หันมามอง เรื่องกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น” นางสาวจิตรา กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนนายพรชัย ยวนยี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) อธิบายเหตุผลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมว่า กรณี อากง เป็นเหตุการณ์ที่รับไม่ได้ ซึ่งตัวรูปคดีก็บ่งชี้แล้วว่าศาลไม่สามารถหาความจริงเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งกฎหมายนี่เป็นกฎหมายอาญา ถ้าหากเราไม่สามารถหาความจริงได้ต้องปล่อยจำเลย แต่คดีอากงนี้ในด้านแรกคือการตัดสินมันไม่ชอบธรรม ส่วนด้านที่ 2 คือโทษที่ได้รับมันสูงเกินไป ถ้ามองโทษเหมือนที่นักวิชาการกล่าวคือมันร้ายแรงเท่ากับคดีฆ่าคนตายด้วยซ้ำ ซึ่งทางนักศึกษารู้สึกว่ามันไม่ดีเลยสำหรับการตัดสินของศาล
เลขาธิการ สนนท.เปิดเผยว่า มีการคุยกันถึงแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว โดยได้มีการเรียกร้องต่อกลุ่มคนทั่วไปและคนที่มีอำนาจ คือ 1.ต้องมีการปฏิรูปศาล หมายความว่าในด้านที่มาของศาลก็ไม่ได้มีการยึดโยงกับประชาชน ส่วนด้านความชอบธรรมคือ ศาลเลือกที่จะตัดสินโดยที่มองจำเลยว่าเป็นฝ่ายที่ผิดก่อนด้วยซ้ำ ส่วนที่ 2 ในด้านตัวกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่มีขอบเขตจำกัด อีกทั้งโทษของ 112 รุนแรงมาก ไม่มีกฎหมายที่ไหนที่โทษขั้นต่ำ 3 ปี ส่วนตัวคิดว่าสมควรที่จะต้องยกเลิกโทษขั้นต่ำ 3 ปี คือถ้าทำน้อยกว่านั้นหมายความว่าก็ต้องติด 3 ปีใช่หรือไม่ แล้ว 3 ปีก็ไม่ใช่น้อยๆ ด้านสุดท้ายเราต้องมีการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขตรงนี้หมายความว่าต้องมีการทำประชามติจากคนทั้งประเทศ แล้วเลือกคณะกรรมการมาแก้ไขเหมือนการทำรัฐธรรมนูญ
ภาพถ่ายโดย Kaptan Jng
เลขาธิการ สนนท.ยังได้แสดงท่าทีประณามการทำงานของรัฐบาลด้วยว่า เมื่อประชาชนเลือกรัฐบาลเข้าไปแล้ว แต่กลับไม่สามารถทำในสิ่งทีประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้ไขนี้ได้ และยิ่งเป็นการเพิ่มโทษขึ้นไปอีก อีกทั้งยังจับคนที่แทบจะไม่ผิดด้วยซ้ำ
“เราเลือกท่านไปเพื่อไปทำหน้าที่เพื่อเป็นปากเสียงให้กับประชาชน แต่รัฐบาลไม่สามารถทำได้เลย ท่านเห็นปัญหาของมาตรา 112 อยู่แล้ว ท่านเห็นอะไรทุกๆ อย่างของมาตรานี้อยู่แล้ว และ สส.ที่ท่านเลือกไปก็ติดมาตรา 112 หลายคนด้วยซ้ำ ท่านก็ไม่ทำอะไร ซึ่งผมคิดว่าผลสุดท้ายก็ไปตกที่ตัวท่านเอง เมื่อท่านเป็นฝ่ายค้านกฎหมายนี้ก็จะไปเล่นงานท่านเหมือนเดิม อย่างที่เล่นงานพวกเราในปัจจุบัน จึงขอแสดงจุดยืนประณามรัฐบาลและเราควรปฏิรูปกฎหมายมาตรา 112 อย่างจริงจังโดยที่ทุกๆ ฝ่ายมีความเกี่ยวข้องกัน” เลขาธิการ สนนท.กล่าว
ด้านนายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เหตุผลในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า จริงๆ แล้วส่วนตัวร่วมกิจกรรมรณรงค์คัดค้านมาตรา 112 มานานแล้ว กับอีกกรณีหนึ่งตนเองรู้สึกว่าตอนนี้มาตรา 112 ถูกเอาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในลักษณะที่เข้มข้นจนไม่สามารถที่จะ ปล่อยให้มันผ่านไปง่ายๆได้ เราก็เห็นอย่างกรณี “อากง” ซึ่งยังมีความคลุมเครือในแง่ของการสืบสวนสอบสวน ในแง่ที่ว่าข้อความที่ส่งคือใคร จริงๆ อากงอาจไม่ได้ส่งด้วยซ้ำ อย่างนี้เป็นต้น ขณะเดียวกันโทษที่พวงมา คือ 20 ปี ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับความผิด
ภาพถ่ายโดย Kaptan Jng “แม้กระทั้งกรณีของโจ กอร์ดอน ก็โดน 112 ตอนนี้กลายเป็นว่าด้วยการใช้กฎหมายในลักษณะนี้แล้วก็การตัดสิน คือมันไม่ใช่เฉพาะการใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่กระบวนการยุติธรรมในการตัดสินเองมันเดินตามไปอีก คล้ายๆ กับตอบสนองในการเป็นเครื่องมือของกฎหมายไปแล้ว ที่จริงศาลก็สามารถมีดุลยพินิจได้ใช่ไหม ไม่ว่าจะอย่างไร แต่ก็เลือกที่จะเดินตามเกมส์นี้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็นที่จับตาต่อสาธารณะมาขึ้น” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ แสดงความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดี จากกระแสในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเมื่อวานนี้มีกรณีของ โจ กอร์ดอน ที่ขึ้นเป็นข่าว Top 5 ใน Google เพราะฉะนั้น 112 กลายเป็น สปอร์ตไลท์แล้ว และในจังหวะอย่างนี่น่าจะเป็นโอกาสทางสังคมการเมืองที่ดีที่ และการเคลื่อนไหวทางสังคมจะเป็นที่สนใจของผู้คนด้วย
“กรณีของ อากง ผมคิดว่ามันคล้ายๆ กับความไม่เข้าท่าของกฎหมายฉบับนี้มันมีให้เห็นมากขึ้นแล้ว มันชัดขึ้น ก่อนหน้านั้นมันอาจจะไม่ได้รุนแรงขนาดนี้ ตอนนี้มันชัดขึ้นจึงจำเป็นที่ต้องออกมา” นายอนุสรณ์ กล่าว
ต่อเรื่องกระบวนการยุติธรรมและมาตรา 112 อนุสรณ์ อุณโณ เสนอว่า คงต้องปรับแก้ ในแง่หนึ่งก็ต้องยกเลิกที่มีอยู่ก่อน สองก็คือต้องเสนอกฎหมายใหม่ขึ้นมาว่าจะทำอย่างไรในการจะปกป้องสถาบัน ถ้ากฎหมายปกติ กฎหมายหมิ่นประมาทคนทั่วไปปกติเอาไม่อยู่ แล้วจะต้องพัฒนากฎหมายที่เป็นการเฉพาะขึ้นมาอย่างไร ซึ่งจะไม่เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานที่อารยะประเทศเขาถือกันอยู่ เช่น สิทธิในการแสดงความเห็นอย่างเสรีแล้วก็บริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ถ้าเราทำไปในเส้นทางแบบนี้แสดงความคิดเห็นแล้วไปกระทบต่อสถาบันจะทำอย่างไร จะปกป้องกันอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าอาจต้องมีเฉพาะ แต่ถ้ากฎหมายปกติมีอยู่พอแล้วก็อาจไม่จำเป็นก็ได้ ต้องดูกัน
นายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ ‘คดีอากง SMS’ อายุ 61 ปี ได้ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยข้อกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปยัง โทรศัพท์ของเลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 อนุ 2 และ 3 ลงโทษจำคุก 20 ปี (คลิกอ่านรายละเอียด: รายงาน: เปิดคำแถลงปิดคดี ‘อากง SMS’ ต่อจิ๊กซอว์จากเบอร์ต้นทางถึงชายแก่ปลายทาง)