วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สหประชาชาติแถลงข่าวกรุงเจนีวา จี้ทางการไทยแก้ไขกม. หมิ่นฯ

ที่มา ประชาไท

ราวินา แชมดาซานิ รักษาการโฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น (OHCHR) แถลงข่าว ณ กรุงเจนีวา เรียกร้องทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ชี้ บทลงโทษที่ร้ายแรงเป็น "สิ่งที่ไม่จำเป็น" และ "เกินกว่าเหตุ" ระบุส่งผลสะเทือนด้านเสรีภาพในการแสดงออกอย่างร้ายแรง

วันนี้ (9 ธ.ค. 54) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ราวินา แชมดาซานิ (Ravina Shamdasani) รักษาการโฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากมองว่ากฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออก ของประชาชน

Ravina Shamdasani OHCHR

Ravina Shamdasani รักษาการโฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
(ที่มาภาพ: เว็บไซต์สหประชาชาติ)

การแถลงข่าวครั้งนี้ที่ดำเนินการโดยรักษาการโฆษกของข้าหลวงใหญ่สิทธิ มนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีเนื้อหาว่า ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เป็นกังวลต่อการพิจารณาคดีและการลงโทษที่ร้ายแรงด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย และผลกระทบของกฎหมายดังกล่าวซึ่งสร้างความหวาดกลัวที่มีต่อเสรีภาพในการ แสดงออกภายในประเทศ

แชมดาซานิ ระบุว่า บทลงโทษที่ร้ายแรงที่เป็นอยู่ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ (neither neccessary nor proportionate) อีกทั้งเป็นการละเมิดละเมิดพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทย เป็นภาคี

"เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และในระหว่างนี้ ควรมีการกำหนดแนวทางการดำเนินการให้แก่ตำรวจและอัยการ เพื่อยุติการจับกุมและดำเนินคดีบุคคลด้วยกฎหมายดังกล่าวที่มีความคลุมเครือ นอกจากนี้ เรายังมีความกังวลต่อการลงโทษที่อย่างเกินกว่าเหตุโดยศาล และการคุมขังผู้ต้องหาซึ่งมีระยะเวลานานต่อเนื่องในช่วงก่อนการไต่สวนคดี ด้วย" แชมดาซานิกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพ ในการแสดงออก ยังได้แถลงข่าวย้ำถึงความจำเป็นของทางการไทยในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

อนึ่ง ข่าวการตัดสินคดีของนายอำพล หรือ "อากง เอสเอ็มเอส" ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการถูกกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสหมิ่น เบื้องสูงจำนวน 4 ข้อความไปยังเลขาฯ อดีตนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังถูกรายงานโดยศูนย์ข่าวสหประชาชาติ (UN News Center) ซึ่งอยู่ในข่าวเดียวกับการแถลงข่าวของโฆษกประจำตัวข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขเนื้อข่าวเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องและสมบูรณ์เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 54 เวลา 23.35 น.