วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ก.ม.ปรองดอง"ตอกลิ่ม"รอยร้าวรอบใหม่"เหลือง"ยังอยู่"แดง"ยังสู้"น้ำเน่า

ที่มา เดลินิวส์

น่าจะเป็นท่าทีที่ชัดเจนที่สุด สำหรับพรรคเพื่อไทยที่ได้ประกาศเตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร “ท่ามกลาง” ความสงสัยของทุกฝ่ายว่า เป็นความพยายามปรองดองหรือต้องการสร้างความขัดแย้ง “รอบใหม่” ให้เกิดขึ้นในสังคมกันแน่

หากดูในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ระบุว่า เพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติ ให้นิรโทษกรรมบรรดาการกระทำผู้ถูกกระทำด้วยประการใด ๆ ที่เป็นความผิดหรือถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญของบุคคล ซึ่งได้กระทำก่อนหรือหลังวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หรือบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากองค์กรที่เกิดจากการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในความผิดที่เกี่ยวกับ (1) การต่อต้านการบริหารราชการแผ่นดิน (2) การต่อต้านการยึดอำนาจการปกครองประเทศ (3) การปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (4) การปฏิบัติหน้าที่ ในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและการที่บุคคลหรือคณะบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (5) การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการเข้าระงับปราบปรามหรือสลายการชุมนุมของกลุ่มบุคคลตาม (1) และ (2) (6) การที่บุคคลหรือคณะบุคคลที่บริหารราชการแผ่นดินและตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30

ผู้ได้รับนิรโทษกรรมตามวรรค 1 ให้รวมถึงการกระทำเพราะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้จ้างผู้วานและผู้ใช้ให้กระทำ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดทางกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น ให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งในทางอาญา ทางแพ่งและทางปกครอง หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง หากผู้นั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง ให้คืนสิทธิทางการเมืองแก่ผู้นั้น

สรุปง่าย ๆ ก็คือ ความผิดใด ๆ ที่เกี่ยวพันกับทางการเมือง จะได้รับการ “ยกเว้น” ทั้งหมด

ถือเป็นเรื่องที่ “ท้าทายกระบวนการยุติธรรม” และคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภา แต่การที่พรรคเพื่อไทยออกมาจุดพลุในเรื่องดังกล่าว เพื่อหวังให้สังคม “คล้อยตาม” ในลักษณะทำนองว่า แม้ “บุคลากรทางการเมือง” จะถูกจำกัดทางการเมืองอย่างไร แต่การต่อสู้ทางการเมืองจากผ่าน “คนสีแดง” และ “คนสีเหลือง” ก็ยังคงอยู่และดูท่าจะ “ร้อนแรง” มากขึ้นตามลำดับ หากจะทำให้ “ทุกอย่าง” สงบลง ก็ควรจะใช้แนวทาง “ลบล้าง” ความผิดของทุกฝ่าย พูดง่าย ๆ ก็คือเมื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ประชาชนจะได้ความสงบกลับคืนมา

ต้องถามเพื่อให้ช่วยกันตอบดัง ๆ ว่า เมื่อทุกอย่างย้อนกลับไปอยู่ในช่วงก่อนการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ประเทศอยู่ในความสงบหรือไม่และมีอะไรเป็นหลักประกันว่าปัญหาจะหายไปไม่กลับมาอีก

การเสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง จึงเป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน”

หากวิเคราะห์ “สถานการณ์การเมือง” ณ วันนี้ ก็จะพบว่า “สี” ที่ต่างฝ่ายต่าง “หยิบยก” มาใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงแนวทางต่อสู้นั้น “ยังอยู่” และกำลังจะลุกลามไปก้าวล่วงหลายต่อหลายสถาบันหลักของชาติเข้าแล้ว แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นับวันแนวโน้มของการ “ล่วงล้ำ” สถาบันหลักดูจะมากขึ้น ๆ

กรณีนายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งหนีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เจ้าของแถลงการณ์ “สยามแดง” ก็เป็นผู้หนึ่งที่ขึ้นเวทีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา หรือกรณีนายสุชาติ นาคบางไทร หรือกรณี ดา ตอร์ปิโด หรือแม้แต่กรณีของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แกนนำคนเสื้อแดง

“ท่าที ท่วงทำนอง” ของบุคคลเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขากำลังทำอะไรและกำลังคิดอะไรกันอยู่

กรณี “ประธานาธิบดี” ที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี วิจารณ์ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ที่แกนนำคนเสื้อแดงนับถือนั้น บอกนัยการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เลือกที่จะ ใช้กระบวนการยุติธรรมที่ตัวเองวิจารณ์ว่าเป็นกระบวนการยุติความ เป็นธรรมฟ้องร้องนายสุเทพ เพราะเชื่อว่า ในไม่ช้าไม่นาน ความเชื่อของนายสุเทพ จะอธิบายทำไมเขาจึงเชื่อว่า มี “บางคน” อยากเป็นประธานาธิบดี

นั่นก็ “เสื้อแดง” ขณะที่ “เสื้อเหลือง” แม้วันนี้จะเงียบไป แต่ก็เป็นการเงียบในลักษณะ “ถอยเพื่อรุก” เพราะยังมีการเคลื่อนไหว “มวลชน” ในพื้นที่เพื่อ “สร้างการเมืองใหม่” อยู่ตลอดเวลา เพราะการต่อสู้เพียงแค่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “ขั้วการเมือง” นั้นไม่ใช่ “จุดมุ่งหมาย” สูงสุดที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองต้องการ

แต่อีกกลุ่มซึ่งเกิดขึ้นใหม่ คือ กลุ่ม “สีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นกลุ่ม ส.ส. และ “มวลชน” ในนามพรรคภูมิใจไทย กลุ่มมวลชนกลุ่มนี้ ความจริงก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล เป็นกลุ่มที่แยกตัวหรือแตกตัวออกมาจาก กลุ่ม “เสื้อแดง”

ในอดีตกลุ่มนี้แหละที่ถูกกล่าวหาจากกลุ่ม “แดงแท้” ว่าเป็นพวก “แดงเทียม”

แต่วันนี้อารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมเปลี่ยน เป็นธรรมดาของนักการเมืองผู้ได้ชื่อว่า มีจมูกทางการเมืองไวยิ่งกว่ามด อย่าง นายเนวิน ชิดชอบ และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จะไม่รับรู้ “ความรู้สึก” เช่นนี้เชียวหรือ

แม้กลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน จะระบุว่า การแสดงออกด้วยสีน้ำเงิน นั้นเป็น “สี” ประจำพรรค แต่ในยามที่สถานการณ์เป็นเช่นนี้ มันน่าจะมี “นัย” มากกว่าที่จะเป็นสีประจำพรรค

เสื้อเหลืองกับเสื้อน้ำเงิน ดูไปดูมา ทำท่าจะกลายเป็นแนวร่วมกันและอยู่ตรงข้ามกับเสื้อแดง

บทบาทที่น่าจับตาสำคัญคือ บทบาทของกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งว่ากันว่า เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการ “คลี่คลาย” สถานการณ์ทางการเมืองจะทำอย่างไร ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังจะแตกเป็นฝ่าย อย่าลืมว่า กองทัพนั้นต้องคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง มีหน้าที่พิทักษ์รักษา “สถาบันหลัก” ของชาติ

สถานการณ์ “สีเสื้อ” และสถานการณ์การเมืองที่มุ่งจะทำทุกทางเพื่อ “ล้มกระดาน” ที่เกิดขึ้นในวันนี้ จึงอยู่ในภาวะที่ “สุ่มเสี่ยง” เป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาซึ่งความ “แตกแยก” ระลอกใหม่ กติกาและกฎหมายกำลังถูกใช้และทำให้เป็นประเด็นในเรื่อง “ความไม่เป็นธรรม” รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผู้ประกาศตัวว่าจะนำ “ความสมานฉันท์” กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เพราะกำลังถูกแต่ละฝ่ายเรียกร้องและรุกเร้าให้ทำในสิ่งที่เป็นความต้องการของตัวเอง

“สมานฉันท์” นั้นพูดง่าย แต่ทำนั้น “ยาก”

ที่สำคัญต้องทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ “กติกา” ในการอยู่ร่วมกัน

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาสุโว กล่าวไว้ระหว่างการเสวนา เรื่อง “มหาวิทยาลัยกับจินตนาการใหม่เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี” เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ตอนหนึ่งสะท้อนได้ดีว่า

“ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติการณ์ชาติ ซึ่งเป็นวิกฤติจากทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งมีความซับซ้อนและถือเป็นวิกฤติคลื่นลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”.