วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"มาร์คแม้ว"ปล่อยของ โฆษณาชวนเชื่อ จิตวิทยา การเมือง

ที่มา มติชน



ไม่ใช่เรื่องผิด หากจะมองปรากฏการณ์ "บิ๊กเซอร์ไพรส์" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศในงานแซยิดวันเกิด 60 ปี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เป็นโจ๊กทางการเมือง

โดยเฉพาะ การเปิดทีวี 100 ช่องคลุมทั่วโลก เพื่อใช้เป็นช่องทาง ขายสินค้าโอท็อป, จัดเรียลิตี้ชีวิตคนจน เพื่อให้คนรวยทั่วโลกร่วมบริจาคเงินสนับสนุน และเรื่องการศึกษา สอนติววิชา 2 ทาง โดยนำอาจารย์ หรือติวเตอร์ ที่เก่งแต่ละวิชามามาทำการสอน ทางทีวี เพื่อให้เด็กของไทย มีช่องทางเรียนรู้เพื่อแข่งขันกับทั่วโลกได้

เพราะนั่นคือเหตุผลทางการเมือง

เหตุผลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการ "ปล่อยของ" เพื่อหวังเกทับใส่รัฐบาล ด้วยการโชว์วิสัยทัศน์ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง ต่อผู้คนในสังคมไทย

"ปล่อยของ" เพื่อทุบรัฐบาล ในภาวะที่นายกฯอภิสิทธิ์ ในฐานะผู้นำประเทศ กำลังตกอยู่ในวงล้อม ถูกตั้งคำถามด้วย "มรสุม" หลายลูก

สอดรับกับ "เอแบคโพลล์" ที่เปิดเผยผลสำรวจความนิยมต่อนายกฯอภิสิทธิ์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ใน 17 จังหวัด 4,079 ครัวเรือน พบว่า

ความนิยมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ สูงกว่านายกฯ อภิสิทธิ์ คือ 34% ต่อ 32%

แต่หากมองในเชิงเหตุผล ไม่ได้มองแบบการเมืองเพียวๆ จะพบว่า ปรากฏการณ์ "โฆษณาชวนเชื่อ" ของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเสมือนเป็นแรงกระตุ้นให้เกิด "การแข่งขัน"

เมื่อเกิดการแข่งขัน

ผลประโยชน์ ก็จะตกอยู่กับประเทศชาติ ประชาชน

เหล่านี้ถือเป็น "ผลพลอยได้" ที่เกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ

มองในแง่จิตวิทยา รัฐบาลก็คงยอมไม่ได้ที่จะให้ "คู่แข่ง" ทางการเมือง ส่งเสียง พร้อมสารมาจากแดนไกล ลักษณะ "ขี่คอเป่าขลุ่ย" อย่างสบายใจเฉิบ

จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการ "แข่งขัน" หรือไม่..?

แต่หากจับอาการของคนในรัฐบาลอย่าง "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้รับรู้ถึง "ความตื่นตระหนกทางการเมือง" ของรัฐบาลได้เป็นอย่างดีหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ "ปล่อยของ" ออกมาลองเชิง

เริ่มต้นจาก การเตรียมเรียกผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปพบนายกฯอภิสิทธิ์ ประชุมเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาสินค้า

หรือการออกมาพูดว่าโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ต้นแบบของประเทศไทยคือโรงเรียนวังไกลกังวลที่ทำมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และการติวหนังสือผ่านโทรทัศน์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่

แถมบอกด้วยว่า "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" รมว.ศึกษาธิการ เตรียมของบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งไปทำโครงการติวหนังสือผ่านโทรทัศน์ด้วย

มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่า นี่คือ "อาการตื่นตระหนก" ทางการเมือง ที่ต้องการ "เททับกลับ คู่กรณี

หากแต่การ "เกทับกลับ" กลายเป็นเหมือน "คำมั่นสัญญา" ที่รัฐบาลให้ไว้กับประชาชนว่า จะสนับสนุนสินค้าโอท็อป และจะให้ความสำคัญกับการติงหนังสือผ่านโทรทัศน์

ตรงนี้ประชาชนได้ประโยชน์ ผลประโยชน์ตกแก่ประเทศชาติ

หากรัฐบาลทำอย่างจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่อง

มองในมุมกลับกัน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กำลังจะแถลงผลงานรัฐบาล 6 เดือนในการบริหารประเทศ

โดยเลือกวัน "ปล่อยของ" เหมือนกันคือ ในวันเกิดนายกฯอภิสิทธิ์ 3 สิงหาคม

ซึ่งมาพร้อมสโลแกน "กว่า 100 มาตรการ หลายล้านความสุข.. 6 เดือนนี้ ชีวิตคนไทยดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น.."

แต่ก่อนจะ "ปล่อยของ" มีการออกโฆษณาในรูปแบบสื่อประชาสัมพันธ์ 4 รูปแบบ

1.หนังสือพิมพ์ ซึ่งจะลงตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคมเป็นต้นไปเป็นเวลา 1 เดือน

2.บิลบอร์ดและแบนเนอร์ที่จะติดทั่วประเทศ โดยมีคอนเซ็ปท์ "ความสุขของคนไทย หรือเป้าหมายของรัฐบาล"

3.วิทยุชุมชน โดยจะเชิญดีเจและผู้จัดรายการวิทยุชุมชนมาพบกันในแต่ละภาค เพื่อจะบอกว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้างใน 6 เดือนที่ผ่านมา

และ 4.จัดทำหนังสือ โดยฉบับเต็ม จะจัดพิมพ์ทั้งหมด 1 หมื่นเล่ม เพื่อแจกจ่ายให้กับ ส.ส. ส.ว.และสื่อมวลชน ส่วนฉบับย่อ ที่จะมีการปรับเนื้อหาให้ไม่หนักมากนัก จะจัดพิมพ์ 2 แสนเล่ม แจกให้กับทุกหมู่บ้าน ทุกห้องสมุดของโรงเรียน และส่วนราชการของรัฐบาล

หากแต่การเดินเกมในลักษณะ "ปล่อยของตามหลัง" อาจจะเกิดผลกระทบในเชิงจิตวิทยา ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะเลี่ยงไม่ได้ว่า จะเกิดการนำมาเปรียบเทียบ

จริงอยู่ หลายโครงการของรัฐบาล อาจจะบอกกล่าวถึงความสำเร็จได้ อย่างโครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท, โครงการต้นกล้าอาชีพ, โครงการเรียนฟรี 15 ปี ฯลฯ

แต่บางโครงการก็เป็นโครงการระยะสั้น ที่มีความสุขเพียงเดี๋ยวเดียว

บางโครงการก็เป็นโครงการระยะยาว ที่ยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือน

ฉะนั้น สโลแกนที่ว่า "กว่า 100 มาตรการ หลายล้านความสุข.. 6 เดือนนี้ ชีวิตคนไทยดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น.."ในเชิงจิตวิทยา ต้องถือว่าไม่สามารถโน้มน้าวให้เกิดความเชื่อถือได้

เพราะในความเป็นจริง ที่ทุกคนประสบอยู่เวลานี้มีเพียง "ความสุขที่เหลือน้อย"

ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่ได้แตกต่างจากผู้คนทั่วโลก ที่ประสบวิกฤตคล้ายๆ กัน อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ถดถอย และการรุกรานของเชื้อหวัดมรณะ

ฉะนั้นหากเปลี่ยนสโลแกนการแถลงผลงาน 6 เดือนรัฐบาล ใหม่เป็น "กว่า 100 มาตรการ หลายล้านความหวัง.. 6 เดือนนี้ ชีวิตคนไทยดีขึ้น มีความหวังมากขึ้น.." น่าจะเป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจคนไทยมากกว่าใช้คำว่า "คนไทยมีความสุขมากขึ้น"

เพราะในแง่ความเป็นจริง รวมทั้งข้อเท็จจริง มันไม่ใช่

ใครว่า "มาทีหลัง ดังกว่า.." ดูท่าจะไม่จริงซะแล้ว..!