คุณกนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกฯ ประธานอนุกรรมการบริหาร โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน เปิดเผยแผนการสร้างอาชีพให้ผู้ตกงานว่า ได้เตรียมหลักสูตรอบรมอาชีพต่างๆไว้ให้ 2,000-3,000 หลักสูตร เพื่อสร้างอาชีพให้ผู้ตกงาน
มีการเตรียมสถานที่ฝึกอบรมไว้ 3,000-4,000 แห่ง กระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถรองรับผู้เข้าอบรมแต่ละรุ่นได้ถึง 100,000 คน จะเริ่มรุ่นแรกวันที่ 1 เมษายนนี้
ผู้เข้ารับการอบรม นอกจากจะไม่เสียเงินค่าอบรมแล้ว ยังได้รับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงระหว่างการอบรมเดือนละ 4,800 บาท ค่าพาหนะเดือนละ 720 บาท ค่าเดินทางเหมาจ่ายคนละ 3,000 บาทสำหรับผู้ที่มาจากต่างจังหวัด ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตกหัวละ 5,000 บาท เป็นค่าวิทยากร วัสดุอุปกรณ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ไปจนถึงค่าอาหารกลางวันผู้เข้าอบรม เรียกว่าฟรีทุกอย่าง
ถ้าอบรม 1 เดือน ก็มีค่าใช้จ่ายคนละ 13,520 บาท
หลักสูตรที่จะอบรมก็มี อาทิ พัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุการอภิบาลผู้สูงอายุ, 7 เมนูญี่ปุ่น, อาหารว่างไทยจีนเวียดนาม อาหารตะวันตก, เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักรสาน ผ้าบาติก กรอบรูป, นวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ, สร้างมัคคุเทศก์มืออาชีพในท้องถิ่นชุมชน เป็นต้น แต่ละวิชาชีพน่าเรียนทั้งนั้น
เมื่อเรียนจบแล้ว ผู้ที่เดินทางกลับไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนาเดิม ยังได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงช่วยเหลืออีกเดือนละ 4,800 บาท นาน 3 เดือน ในช่วงที่กำลังรองานเข้า
ให้กันขนาดนี้แล้ว ไม่รัก นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว
แต่กลับบ้านไปแล้ว จะต้องรองานไปนานขนาดไหน คงไม่มีใครตอบได้
อีกด้านหนึ่ง คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส. ก็รับนโยบายจากรัฐบาลให้จัด “สินเชื่อโครงการกู้วิกฤติแรงงานไทยคืนถิ่น” วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ “เถ้าแก่ใหม่” กู้ไปตั้งตัว โดยตั้งเป้าว่าจะมี แรงงานที่ตกงาน 100,000 ราย ผ่านการฝึกอบรมทักษะแรงงาน แล้วเดินทางกลับไปท้องถิ่นตั้งตัวเป็นเถ้าแก่ใหม่
แต่จากการสอบถาม ผู้สนใจที่จะเข้าฝึกอบรมตามโครงการ 150,000 คน แล้ว คุณเอ็นนู บอกว่า มีผู้สนใจจะขอรับสินเชื่อกลับเป็นเถ้าแก่ใหม่แค่ 2,000 รายเท่านั้น คิดเป็นวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท จากวงเงินที่ตั้งไว้ 5,000 ล้านบาท
ส่วนใหญ่กังวลว่า หากกู้เงินไปทำธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนอย่างนี้ อาจขายของไม่ได้ และไม่สามารถหาเงินกลับมาใช้คืนเงินกู้ได้ตามกำหนด และยังไม่มั่นใจว่าสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้นจริงหรือไม่ ทำให้ส่วนใหญ่เลือกที่จะเข้าร่วมฝึกอบรมทักษะอาชีพและฝีมือแรงงานด้านต่างๆเพียงอย่างเดียว ระหว่างที่รองานใหม่
ไม่น่าเชื่อว่าคน 150,000 คน อยากเป็นเถ้าแก่ใหม่แค่ 2,000 คน เท่ากับ 1.33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น มีคนไม่อยากเป็นเถ้าแก่ถึง 98.67 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆที่รัฐบาลจัดให้ทุกอย่าง ตั้งแต่การฝึกอบรมอาชีพและเงินทุน
ผมว่าแรงงานเหล่านี้ คิดถูกต้องแล้ว ที่ไม่อยากเป็นเถ้าแก่ใหม่ในช่วงนี้ วิกฤติอาจเป็นโอกาสของคนเก่าบางคน แต่ไม่ใช่เป็นโอกาสของคนทุกคน แค่หาทำเลขายของดีๆในย่านชุมชนสักแห่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งขายให้ได้กำไรในเศรษฐกิจอย่างนี้ ยิ่งยากขึ้นไปอีก
เขียนเรื่องนี้แล้วผมก็ชักเป็นห่วง โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ หรือ เถ้าแก่ใหม่ ของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่วาดฝันจะส่งเสริม ให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและมีเงินเก็บรายละ 100,000-400,000 บาท ให้ใช้เงินก้อนนี้ไปลงทุนซื้อแฟรนไชส์ทำธุรกิจอาหาร ร้านกาแฟ เสื้อผ้า เป็นต้น
ผมเป็นห่วง เพราะเวลานี้ ไม่ใช่โอกาสเหมาะ ที่จะ สร้างเถ้าแก่ใหม่ ขนาด “เถ้าแก่เก่า” ยังจะเอาตัวกันไม่รอด แต่เวลานี้เป็นเวลาที่รัฐบาลจะต้องเร่ง “จ้างงาน” และ “สร้างงาน” ให้มากที่สุด งานอะไรก็ได้ที่ใช้แรงงานเยอะๆ เพื่อรองรับคนว่างงานให้ผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปเสียก่อน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”