บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551

ITV ย้อนรอยเหตุการณ์นับแต่ก่อตั้ง จนถูกสั่งปิดเมื่อคืน

โดย Red Earth
ที่มา
เว็บบอร์ดคนวันเสาร์ฯ
15 มกราคม 2551

เรามาย้อนรำลึกถึงความหลังครั้งเก่าของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้กันเพื่อเป็นการอำลาจอกันไปในคืนนี้

ไอทีวีก่อตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เพื่อแก้ปัญหาสถานีโทรทัศน์นำเสนอข่าวบิดเบือน ซึ่งเห็นได้ชัดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เงื่อนไขในการให้สัมปทานจึงค่อนข้างเข้มงวด กำหนดสัดส่วนรายการให้เป็นข่าวร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 จึงเป็นรายการบันเทิง เน้นว่ารายการบันเทิงจะต้องเป็นแนวสารคดี รายการเด็ก ปกิณกะที่ให้สาระและความบันเทิง สถานีโทรทัศน์ไอทีวีจึงเกิดขึ้นในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำคลื่นความถี่โทรทัศน์ในระบบยูเอชเอฟ มาให้เอกชนลงทุนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ

พ.ศ. 2535
ในการประมูลครั้งนั้น กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์และเครือเนชั่นชนะการประมูล โดยได้ยื่นข้อเสนอจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐ 25,200 ล้านบาท ภายในอายุสัญญา 30 ปี ซึ่งได้มีการลงนามในสัญญากับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2538 โดยมีนายอภิลาศ โอสถานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงนามสัญญากับนายเกษม จาติกวณิช ประธานกรรมการ และนายโอฬาร ไชยประวัติ รองประธานกรรมการบริษัท สยาม อินโฟเทนเม้นท์ จำกัด เริ่มออกอากาศวันที่ 1 ก.ค.2539

30 ปี เสนอจ่ายให้รัฐ 25,200 ล้านบาท... สุดยอดของธุรกิจทีวี... กับยอดสัมปทานที่สูงขนาดนั้น จะเอาความเสรีมาจากไหน..ในเมื่อต้องทำเงินให้รัฐเป็นล่ำเป็นสัน... แววเจ๊งมันเห็นอยู่ตรงหน้าแล้ว

ปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจ
ในขณะที่ไอทีวีถือกำเนิดในปี 2539 แทบจะไม่รู้ตัวเลยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังหัวทิ่มอย่างไร ไม่ได้รู้เลยว่าหายนะมันกำลังจะเริ่มตั้งเค้า ตามสัญญาสัมปทาน 2 ปีแรกตามสัญญายังไม่ต้อง จ่ายค่าสัมปทานให้ไปลงทุนก่อน ไปเริ่มจ่ายปีที่ 3(2542) จำนวน 300 ล้านบาท ปีที่ 4 ก็ 400 ล้านบาท ปีที่ 5 ก็ 500 ล้านบาท เพิ่มไปเรื่อยๆจนปีที่ 9 ก้อ 900 ล้านบาท ปีที่ 10 - 30 ปีละ 1,000 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานของไอทีวี เปิดปั๊บก็ ขาดทุนตั้งแต่ปี 2540 เพราะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ได้รับผลกระทบในการขายโฆษณา ระหว่างนี้ไอทีวียังมีอุปสรรคในการจัดตั้งสถานีเครือข่ายทั่วประเทศที่ต้องตั้ง 36 สถานี ภายใน 2 ปี หลังทำสัญญา เพราะไอทีวีเช่าใช้พื้นที่ของกรมประชาสัมพันธ์ได้ล่าช้าทำให้ต้องสั่งซื้อทรัพย์สินส่วนใหญ่ ทำให้ขาดทุนจากการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา จึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 409 ล้าน ไทยพาณิชย์เริ่มอยู่ไม่ติดเพราะเป็นนายทุนใหญ่ NPL ของธนาคารก็พอก สถาบันการเงินวิกฤติขนาดหนัก


ปี 2541
บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อ 20 ต.ค. 2541 เพื่อเตรียมแต่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตามสัญญาซึ่งกำหนดให้จดทะเบียนภายใน 6 ปี หลังจากดำเนินการ แต่มันเป็นช่วงวิกฤติ ผลประกอบการก็ไม่ได้ดีขึ้น จนถึงเวลาต้องจ่ายค่าสัมปทานในปีที่ 3(2541) จำนวน 300 ล้าน ขาดทุนมาตลอด จะเอาที่ไหนจ่ายก็ขอผ่อนผันกับรัฐบาลในสมัยนั้น คือรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยมีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็น รมต. สำนักนายกฯ กำกับดูแล สปน. โดยทำหนังสือขอขยายเวลา ชำระค่าตอบแทนแก่รัฐตั้งแต่เริ่มเลย ตามเอกสารตั้งแต่ปี 2540

หนังสือขอขยายระยะเวลาการชำระค่าตอบแทน ITV078/2540
ขอขยายระยะเวลาการชำระค่าตอบแทนตามสัญญาเข้าร่วมงาน ITV183/2540
ขอยืนยันขยายระยะเวลาการชำระค่าตอบแทนตามสัญญาเข้าร่วมงาน ITV053/2541
ขอยืนยันขยายระยะเวลาการชำระค่าตอบแทนตามสัญญาเข้าร่วมงานครั้งที่ 2 ITV068/2541
การขอขยายระยะเวลาชำระค่าตอนแทน ITV094/41
อีกหลายฉบับ... เพื่อขอไปทาง สปน. ซึ่งก็ผ่อนผันให้ ตามที่ขอ

มติ ครม. รัฐบาลชวน
เรื่อง บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด ขอขยายระยะเวลาชำระค่าตอบแทนตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ในกรณีที่คู่สัญญาเห็นพ้องต้องกันว่าควรแก้ไขสัญญา ก็ให้ยกร่างสัญญาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยนำกฎหมายว่าด้วยเอกชนร่วมทุนกับรัฐมาอนุโลมใช้เท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ในชั้นนี้ โดยขอแก้ไขระยะเวลาการชำระยืดออกไป เพราะจ่ายไม่ไหว ขาดทุนบักโกรกมาตลอด พยายามไประดมทุนในตลาด แต่เข้าไม่ได้เพราะเจ๊ง

แม้ว่าจะจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว แต่ผลประกอบการขาดทุนทำให้ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเป็นบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ไม่สามารถจะเข้าไประดมทุน เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้

ปี 2542
บริษัทสยาม อินโฟเทนเมนท์ ทำหนังสือขอชดเชยความเสียหายจากการที่รัฐทำผิดตามสัญญา โดยขอจ่ายค่าสัมปทานให้เท่ากับหรือใกล้เคียงช่อง 7 สี และอ้างว่าได้รับผลกระทบจากกรณีที่สปน.อนุญาตให้สถานีช่อง 11 และยูบีซีหารายได้จากโฆษณา

ปี 2543
ตลาดหลักทรัพย์ผ่อนปรนให้บริษัทที่ไม่มีผลกำไรยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่ปีนี้ไอทีวีมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง มีหนี้สิน 4,900 ล้านบาท ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการ จึงต้องหาผู้ร่วมทุนเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องก่อนการเสนอขายหุ้นให้ประชาชน ในตลาดหลักทรัพย์

ปี 2543
เพื่อแก้ปัญหาหนี้เน่า และปัญหาขาดทุน ขาดเงินดำเนินกิจการ เพราะธนาคารไทยพาณิชย์แบกรับไม่ไหว รับหุ้นมาเป็นหลักประกัน มาล้นหน้าตักแล้ว ก็ไม่รู้จะเอาหุ้นไว้ทำไม จึงหาทางปลด NPL ครับ ชินคอร์ปก็เข้ามาทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นในเดือน ธ.ค. 2543 มีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถือ 55.12 % บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 39% และผู้ถือหุ้นเดิม 5.88% การที่กลุ่มชินเข้ามามีสัดส่วนหุ้นที่มากทำให้เป็นที่พิพากษ์วิจารณ์ในขณะนั้นว่าการดำเนินการของไอทีวีจะขัดกับเจตนารมณ์เดิมของการทำสัญญา

เนชั่นเริ่มแตกคอกับไทยพาณิชย์ก็ตอนนี้ เพราะจะทิ้งหุ้นแล้ว ไม่เอาแล้วขอถอนสมอ ก่อนที่จะย่อยยับมากกว่านี้ โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างไทยพาณิชย์ที่จม ถมเท่าไหร่ก็ไม่พอกับ ไอทีวี

หลังจากที่มีการเพิ่มทุน แตกหุ้นเพิ่มทุน เนชั่นก็ถอนออกไป ชินคอร์ปก็จัดการบริหารหนี้เน่าใหม่ เดิมที่มีการเรียกค่าเสียหายเมื่อปี 2542 จากผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมจากรัฐ แต่ไม่ได้ผล บริษัทชินคอร์ปร้องขอค่าเสียหายอีกครั้งในเดือน ก.ย.2545 และยื่นหนังสือขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการมาพิจารณาเรื่องนี้ รวมทั้งเรียกร้องเพิ่มอีกข้อหนึ่งคือ ขอแก้สัญญาให้มีรายการบันเทิงมากขึ้น

30 ม.ค.2547
คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ให้สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีชดเชยค่าเสียหายดังนี้


1. ชำระเงินคืนแก่บริษัท จำนวน 20 ล้านบาท
2. ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจากเดิมปีละ 1,000 ล้านบาท เหลือ 230 ล้านบาท โดยไม่ต้องชำระเงินขั้นต่ำในส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีอีก
3. ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนจากร้อยละ 44 เหลือร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายและภาษีอากร โดยเปรียบเทียบกับเงินประกันผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำปีละ 230 ล้านบาท จำนวนใดมากกว่าให้ชำระตามจำนวนนั้น ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2545 เป็นต้นไปจนสิ้นสุดสัญญา
4. ให้สปน.คืนเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่บริษัทได้ชำระเกินจากข้อ 3. จำนวน 570 ล้านบาท

และ 5.ให้บริษัทสามารถออกอากาศไพรม์ไทม์ คือ ระหว่างเวลา 19.00-21.30 น. โดยไม่ถูกจำกัดประเภทของรายการ ทั้งนี้ โดยเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ในสัดส่วนเวลาทั้งหมดเพียง 50%

ศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ


สปน. จึงยื่นร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำชี้ขาดทั้งหมดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทดังกล่าว

10 พ.ค.2549 ศาลปกครองครองกลางชี้ว่าคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ส่งผลให้

1. สปน.ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสัมปทาน 570 ล้านบาท และอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจชี้ขาดให้ปรับลดเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาร่วมงาน
2. ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ 20 ล้านบาท จากกรณีที่ปล่อยให้สถานียูเอชเอฟอื่นมีโฆษณา
3. สัดส่วนการนำเสนอข่าวสารจะต้องเป็นไปตาม เจตนารมณ์เดิมคือสาระร้อยละ 70 บันเทิงร้อยละ 30 โดยไอทีวีมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

จึงมีผลมาให้เกิดการปรับกันขนานใหญ่ จากเดิมที่มันปรับ ยึด ไอทีวีได้ตั้งนานแล้ว ก็เรื้อรังมาจนถึงวันนี้ เพื่อให้สัญญาสิ้นสุดลง ก็ต้องยกเลิกสัญญา โดยการอ้างการทำผิดสัญญาสัมปทานในที่สุด เพราะยังไงมันก็จ่ายไม่ไหวบนเงื่อนไขแบบนี้ของสัญญา ใครมาทำต่อบนสัญญานี้ ยังไงก็ทำไม่ได้ ปัญหาก็มีต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ พอจะแก้ก็ว่าช่วยเอกชน การแก้สัญญาจึงเป็นไปไม่ได้ ปิดประตูการแก้ปัญหาอย่างสันติ มันก็ต้องจบลงแบบนี้ เลิกก็เลิก ไม่ได้เสียหายอะไร

คนที่เสียหายคือรัฐเท่านั้นเอง ที่ต้องมารับภาระบริหารในฐานะเจ้าของคนใหม่ แทนที่จะออมชอมกินผลตอบแทนปีละเป็นพันล้านหรือกินค่าปรับปีละหลายร้อยล้านบาทต่อปี ตอนนี้ต้องใช้เงินภาษีมาอุ้มสถานีปีละหลายพันล้านแทน

เฮ้อ เผด็จการโง่แล้วอยากบริหารงานแผ่นดินอีก
จาก Thai E-News

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker