บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2551

ผู้รับใช้เผด็จการ ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้พิพากษา

คนแรก คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล ย้ายฟากจากเลขาธิการศาลฎีกา มาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อรับใช้และสนองงานให้แก่คณะรัฐประหาร มีบทบาทโดดเด่นอย่างยิ่งในฐานะรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นมือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่มีข้อสรุปตรงกันจากทุกวงการแล้วว่า เป็น รัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อย่อยสลายความแข็งแกร่งของพรรคการเมือง และทำให้ประเทศไทยได้รัฐบาลที่อ่อนแอมาบริหารประเทศ

นายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นมือกฎหมาย ทำหน้าที่แนะนำแนวทางการปฏิบัติที่ขัดกฎหมายแต่ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ให้แก่ คมช. ได้เป็นอย่างดี และเป็น ผู้ผลักดันมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ ให้ออกมาคุ้มครองการกระทำผิดของ คมช. ว่าแม้จะขัดกฎหมาย แต่ก็ไม่ต้องรับโทษ และไม่มีใครมากล่าวหาฟ้องร้อง คมช. ได้ กล่าวให้ชัดก็คือ นายจรัญ คือผู้เสกคาถาให้ คมช. เป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายทั้งหลายทั้งปวง

นายจรัญ ถือเป็น หัวแถวของขบวนการตุลาการภิวัตน์ ที่มีบทบาทแจ่มชัดและเปิดเผยยิ่งนัก ในการ โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ และได้เข้า ร่วมงานฉลองชัยชนะของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร นายสุริยะใส กตะศิลา และกลุ่มผู้แอบอ้างยกย่องตนเองเป็นหญิงสูงศักดิ์อีกกลุ่มใหญ่

คนที่สองคือ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คนปัจจุบัน ซึ่งมีอดีตเป็นถึงประธานศาลฎีกา เป็นประมุขของฝ่ายตุลาการ ซึ่ง เป็นยุคสมัยที่สถาบันตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงอำนาจการเมือง และการรัฐประหาร จนทำให้มีคำถามและข้อสงสัยเกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม และจุดยืนของสถาบันตุลาการ ที่ต้องเป็นอิสระและเป็นกลาง ดังกระหึ่มอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมอยู่ในรัฐบาลเผด็จการ ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นมา ทันทีเมื่อพ้นจากตำแหน่งประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่บุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของฝ่ายตุลาการ จะรับตำแหน่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร

หลังการรัฐประหาร มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการกระทรวงยุติธรรมแบบล้างบาง เอาคนเก่าออกหมด ตั้งคนใหม่ที่ คมช. ไว้วางใจเข้าไปแทนทั้งแผง มีเป้าหมายเพื่อจะเร่งรัดกระบวนการดำเนินคดีต่างๆ ตามที่ต้องการ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ในฐานะอดีตประธานศาลฎีกา นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ เป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นผู้พยุงภาพลักษณ์ของรัฐบาลเผด็จการได้เป็นอย่างดี และมีหน้าที่ให้คำแนะนำข้อกฎหมาย และชี้นำสังคม ประชาชน ให้คิดตามไปในแนวทางที่ คมช. ต้องการ เป็นเวลา 1 ปีเศษ แต่สุดท้าย ผลการเลือกตั้งก็ฟ้องให้เห็นแล้วว่า ประชาชนไม่ได้เชื่อไปตามที่นายชาญชัยชี้นำให้เชื่อ และ คมช. ต้องการให้ทำตาม

คำถามข้อต่อไปของผมก็คือว่า หากท่านมั่นใจว่าท่านทำในสิ่งที่ถูกต้อง ท่านไม่ได้รังแก กลั่นแกล้งใคร เหตุใดจึงต้องดิ้นรนหาทางกลับไปสวมเสื้อครุยผู้พิพากษาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ท่านเป็นคนถอดทิ้งเอง เพื่อจะเข้ามารับตำแหน่งใหม่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรับใช้คณะรัฐประหารและรัฐบาลเผด็จการ

หากมองกันในเชิงสัญลักษณ์ วันที่ท่านถอดครุยผู้พิพากษาทิ้งแล้วมาสวมชุดปลัดกระทรวง มาใส่ชุดรัฐมนตรีนั้น ในสายตาของผม ใช่หมายความว่า ท่านตัดสินใจที่จะเลิกทำหน้าที่ผู้พิพากษาภายใต้พระปรมาภิไธยแห่งองค์พระมหากษัตริย์ เพราะต้องการทำงานภายใต้คำสั่งของคณะรัฐประหารและรัฐบาลเผด็จการ หรือไม่

เมื่อท่านตัดสินใจมารับใช้คณะรัฐประหาร ทำงานในนามของรัฐบาลเผด็จการแล้ว ยังสมควรที่จะกลับไปเป็นผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์อีกหรือ?

คณะรัฐประหาร คือ ผู้ทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คณะรัฐประหาร คือ ผู้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ในแผ่นดินนี้

คณะรัฐประหาร คือ ผู้ไม่ยอมรับกฎหมาย เข้าสู่การมีอำนาจรัฐด้วยการกระทำผิดกฎหมายสูงสุดของประเทศ

บุคคลผู้รับใช้คณะรัฐประหาร จึงย่อมจะถูกมองและเข้าใจได้ว่าเป็นผู้เห็นดีเห็นงามกับการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และสนับสนุนการเข้าสู่อำนาจรัฐ การเป็นผู้มีอำนาจรัฐปกครองแผ่นดิน ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

บุคคลที่มีพฤติกรรมเสมือนว่าสนับสนุนผู้กระทำความผิด ดังเช่นที่ นายจรัญและนายชาญชัยสนับสนุนคณะรัฐประหารเยี่ยงนี้ เหมาะสมแล้วหรือที่จะสวมครุยผู้พิพากษา และปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ความไม่ไว้วางใจ ไม่มั่นใจของประชาชนที่มีต่อบุคคลผู้สวมครุยผู้พิพากษา และปฏิบัติหน้าที่อำนวยความยุติธรรม ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ รังแต่จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา ความเที่ยงธรรมของสถาบันตุลาการ ศาล ถูกตั้งข้อสงสัยไปด้วย

สิทธิในการยื่นคำร้องกลับเป็นผู้พิพากษา เป็นสิทธิของนายจรัญและนายชาญชัย แต่การที่ทั้งสองท่านจะได้กลับไปสวมครุยเป็นผู้พิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการยุติธรรม

จึงขึ้นอยู่กับว่า ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการยุติธรรม หรือ กต. จะยอมรับผู้รับใช้คณะรัฐประหาร ผู้สนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย เข้าเป็นผู้พิพากษาหรือไม่

ผมเชื่อว่าประชาชนทุกคนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และไม่เห็นด้วยกับขบวนการตุลาการภิวัตน์ กำลังจับตามองการตัดสินของ กต. อยู่อย่างไม่กะพริบตา


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker