'งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา' รูดม่านอำลา 'รัฐบาลขิงแก่' สำรวจความ มือเติบ 17 เดือนกับตัวเลขงบประมาณที่ถูกใช้จ่ายในผลงานที่เด่นชัดที่ สุดทางเศรษฐกิจ ที่สะท้อนภาพการเติบโตของตลาดเงิน
ตลาดทุน และตัวเลขจีดีพีของประเทศ ที่กลายเป็นผลงานไม่ได้เติบตามการใช้จ่ายที่ผ่านมา ก่อนการเข้ามาของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งพร้อมๆ กับการหายไปของเงินเกือบ 2.5 ล้านล้านบาท
'สยามธุรกิจ' สำรวจความน่าสนใจของตัวเลขบางส่วน ที่มีผลสะท้อนถึงผลงานของ 'รัฐบาลขิงแก่'ในภาพรวม นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2549 ที่เข้ารับตำแหน่ง ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายในการอำลาเก้าอี้
สถานการณ์ชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2549 ในยุครัฐบาล 'พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร' ที่ต่อเนื่องมาจนถึง การรัฐประหาร 19 กันยายน ก่อนการเข้าสู่การบริหารของ 'รัฐบาลขิงแก่' กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะต้อง มีการจัดทำงบประมาณประจำปี 2550 ในแบบขาดดุล
และเป็นการตัดสินในขั้นสุดท้ายหลังเพิ่มเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ในการจัดทำงบประมาณปี 2550 แบบขาดดุลในวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 1.42 ล้านล้านบาท และรายจ่ายที่ 1.52 ล้านล้านบาท
ทั้งด้วยเหตุผลในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ ที่เริ่มจะถดถอย และชดเชยกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่กำลังจะขาดหายไปเนื่องจากถูกช็อกด้วยการ 'รัฐประหาร'
โดยเฉพาะแรงสะดุ้งสะเทือนที่มาจากตลาดหุ้นตลาดทุนไทย ที่ก่อนหน้ารัฐประหาร มีแนวโน้มที่จะวิ่งหาตัวเลขดัชนีถึง 800 จุด ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
เวลาของ 'รัฐบาลขิงแก่' ตลอด 17 เดือนกับการใช้ง่ายเงินงบประมาณปี 2550 ที่ต้องบวกรวมเข้างบประมาณปี 2551 อีกครึ่งปี ที่ตั้งไว้ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท นับจากครึ่งเทอมของปีงบประมาณ 2551 เท่ากับตัวเลขประมาณ 8 แสนล้านบาท บวกเข้ากับงบประมาณที่ใช้ไปในปี 2550 อีกประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท กลายเป็นตัวเลขมหาศาลถึง 2.3 ล้านล้านบาท
จาก 1 ตุลาคม จนกระทั่งถึงปัจจุบัน การใช้จ่ายเงินก้อนโตเกือบ 2.5 ล้านล้านบาทโดย 'รัฐบาลขิงแก่' เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลงานทางเศรษฐกิจ มีผลงานออกมาในมุมไหน?
วัดจากตัวเลขจีดีพีในปี 2549 ที่ในไตรมาสสุดท้ายของปี อยู่ที่ 4.3 % หลังการรัฐประหาร ตัวเลขจีดีพีปี 2550 โตขึ้น 4.8 % เมื่อเทียบกับปี 2549 และก่อนอำลารัฐบาลขิงแก่ในปี 2550 ตั้งเป้าตัวเลขจีดีพีกันไว้ 4.3- 4.8 % และอาจจะต้องมีการปรับเป้าใหม่ด้วยปัจจัยความผันผวนของค่าเงินบาท
เท่ากับการบริหารในเรื่องของผลิตภัณฑ์มวลรวมนับแต่การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลขิงแก่ เพียงแค่ปีเศษ ด้วยงบประมาณกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ไม่สามารถดันจีดีพีให้โตได้
เมื่อสำรวจผลงานรัฐบาลขิงแก่ในเชิงของการเติบด้วยตัวเลขจีดีพี มักจะถูกสะท้อนภาพกลับมาให้เห็นถึงการบริหารงานภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่เน้นการเจริญเติบโตด้วยจีดีพี
แต่อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเงินเกือบ 2.5 ล้านล้านบาท น่าที่จะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่าตัวเลขที่สะท้อนออกมา!!!
นอกเหนือจากตัวเลขจีดีพี ที่เป็นตัวชี้วัดถึงผลงานที่ผ่านของ 'รัฐบาลขิงแก่' ที่สวนทางกับการใช้งบประมาณก้อนโตเกือบ 2.5 ล้านล้านบาท แล้ว !!
ดัชนีชี้วัดที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหุ้น ที่ก็มีความน่าสนใจในข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างปี 2549 -ปัจจุบัน
ตัวเลขที่สำคัญและน่าสนใจตัวหนึ่ง คือมูลค่าตลาดรวมการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ MARKET CAP ซึ่งก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีตัวเลขอยู่ที่ 5.04 ล้านล้านบาท หลังการรัฐประหารและการเข้ามาของรัฐบาลขิงแก่ ตัวเลข ณ สิ้นปี 2549 อยู่ที่ 5.04 ล้านล้านบาท และตัวเลขการเติบโต ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ 6.63 ล้านล้านบาท หากมองจาก MARKET CAP การเติบโตของตลาดหุ้น เปรียบเทียบได้ว่า “รัฐบาลสุรยุทธ์” บริหาร MARKET CAP ตลาดหุ้นโตได้เพียง 1.59 ล้านล้านบาท
หากสำรวจจากมูลค่าการซื้อ-ขาย เฉลี่ยต่อวัน นับตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งอยู่ที่ 1.64 หมื่นล้านบาท ในปี 2549 อยู่ที่ 1.62 หมื่นล้านบาท และในปี 2550 เหลือเพียง 1.27 หมื่นล้านบาท หรือเท่ากับว่า มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในยุคของ 'รัฐบาลขิงแก่' หดหายไปวันละ เกือบ 3,500 ล้านบาทต่อวัน
ตัวเลขงบประมาณปี 2551 ที่จะมียอดรวม 1.6 ล้านล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 68,000 ล้านบาทหรือ 4.4% และครึ่งปีงบประมาณ 2551 ที่เท่ากับ 0.5 % จำนวนเงินกว่า 8 แสนล้านบาท กลายเป็นตัวเลขใหม่ที่เข้ามาบวกรวมการใช้งบประมาณตลอดปี 2551 อีก 1.5 ล้านล้านบาท มีจำนวนเงินสูงถึงเกือบ2.5 ล้านล้านบาท และกับผลงานจากผู้ใช้เงินคือ 'รัฐบาลขิงแก่' ที่สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านตัวเลขจีดีพีและตัวเลขจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำลังจะบอกอะไรบางอย่าง
และตัวเลขที่สำคัญก่อนการจากไปของรัฐบาลขิงแก่ที่จะลืมไม่ได้ คือตัวเลขการแทรกแซงค่าเงินบาท และตัวเลขการอ่อนค่าของเงินตราสำรองระหว่างประเทศที่เป็นถือครองเป็นดอลลาร์ ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการที่นำเสนอโดยสื่อฯ มีมากถึง 1.7 แสนล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ยอมรับว่าผลการการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างหนักตลอดปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ถึง 1.7 แสนล้านบาท
ขณะที่การประเมินกันเบื้องต้นของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จากธันวาคมปี 2549 ถึงตุลาคมปี 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขาดทุนจากการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาททั้งสิ้น 3.5 - 4.0 แสนล้านบาทนั้น โดยคิดจากค่าเงิน ณ เดือนธ.ค.49 อัตราแลกเปลี่ยนที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เดือนต.ค.50 อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่ามาอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
เฉพาะในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน ที่หากข้อมูลจากการเปิดเผยของสื่อฯ เป็นจริง เท่ากับ 'รัฐบาลขิงแก่' บริหารเงิน 2.3 ล้านล้านบาท เฉพาะในส่วนที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องเสียไปฟรีๆ ถึงเกือบ 1 ใน 5 ของงบประมาณที่รัฐบาลขิงแก่ใช้ทั้งหมด 2.3 ล้านล้านบาท
ผลงานทั้ง 3 ส่วน ทั้งในด้านตลาดเงิน ตลาดทุน และในด้านตัวเลขจีดีพี เป็นผลงานที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการจากไปของ 'รัฐบาลขิงแก่'
กลายเป็นการปิดฉากตำนานอันเฉื่อยแฉะที่หลายๆ คนเรียกว่าเกียร์ว่าง ซึ่งหากมองผ่านผลงานทั้ง 3 ด้านนี่แล้ว การรูดม่านปิดฉาก 'รัฐบาลขิงแก่' ในเร็ววันนี้อาจะไม่ใช่แค่เกียร์ว่าง แต่แทบจะกลายเป็นเกียร์ถอยหลังที่ไร้ทิศทาง 17 ตุลาคม 2549 -ปัจจุบัน กับเงินของประเทศกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ประชาชนคงต้องหาคำตอบเอาเองว่า 17 เดือนที่ผ่านมากับรัฐบาลรัฐประหารของพล.อ.สุรยุทธ์ ประเทศและประชาชนได้อะไรกลับมาหลังต้องเสียเงินไปถึง 2.3 ล้านล้านบาท