ผมว่าสิ่งหนึ่งที่จะนำประเทศเข้าสู่ภาวะปกติหลุดพ้นจากวิกฤติแห่งความขัดแย้งได้ ก็คือ ระบบยุติธรรม ตราบใดที่ทุกคนทุกฝ่าย ทุกสถาบัน ยึดระบบยุติธรรม ยึดกฎเกณฑ์กติกาเป็นหลัก
จะเกิดความชอบธรรมและเป็นธรรมขึ้นในสังคม
ถ้าบ้านเมืองใดไม่มีขื่อแป หรือ ระบบยุติธรรมอ่อนแอ มีอำนาจอื่นเข้ามาครอบงำ ก็จะเกิดวิกฤติเต็มไปด้วยความขัดแย้ง บ้านเมืองลุกเป็นไฟ วันนี้คนไทย ประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องหันมาพึ่งและยึดเหนี่ยวระบบยุติธรรม เพื่อให้ชาติสิ้นวิกฤติเสียที
เพราะฉะนั้น ผมอยากจะนำคำปราศรัยของ คุณวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ที่ได้กล่าวเอาไว้กับผู้เข้ารับการอบรมผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงเมื่อเร็วๆนี้ จะได้เห็นจุดยืนการทำงาน ของศาลสถิตยุติธรรมที่ชัดเจน เป็นศาลที่ประชาชนเข้าถึง ถูกต้อง ประหยัด และเป็นธรรม
“ข้อมูลความคิดใหม่ๆในกระบวนการยุติธรรม ทั้งจากแหล่งความรู้ข้อมูลภายในและจากต่างประเทศ เพื่อให้เราสามารถบรรลุถึงการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมที่มีคุณภาพทั้งระบบ เพื่อเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เราปรารถนา ไม่เพียงแต่โปร่งใสเท่านั้น แต่จะต้องมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม สมเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ อย่างแท้จริง”
“กระบวนการยุติธรรมในขั้นแรก ต้องให้ความคุ้มครองแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องสงสัยในสิทธิส่วนบุคคลของคนคนนั้น รวมถึงการปกป้องไม่ให้สื่อมวลชนจูงใจหรือสร้างมิติมหาชนในทางใดทางหนึ่ง ก่อนที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลยุติธรรม การสืบสวนสอบสวนกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานนั้นจะต้องมีความชอบธรรม การฟ้องคดีต้องให้โอกาสจำเลยสู้คดีอย่างเต็มที่ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐในกรณีที่จำเลยประสงค์”
“ผมขออัญเชิญพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษา ของสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 ดังนี้”
“กฎหมายทั้งปวงนั้นเราบัญญัติขึ้น เพื่อใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษาความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือใช้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติปฏิบัติของมหาชนสถานหนึ่งกับใช้เป็น แผนแม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤติปฏิบัตินั้นๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงธรรม อีกสถานหนึ่งโดยที่กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรที่จะถือว่ามีความสำคัญไปกว่าความยุติธรรม หากควรถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้นดูจะไม่เป็นการพอเพียง จึงต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ”
“ท่านทั้งหลายมีหน้าที่โดยตรงที่จะสร้างความถูกต้อง ความชอบธรรมให้กับสังคม ท่านต้องใช้กฎหมายและภาวะหน้าที่ของท่านที่มีอยู่ เพื่อบรรลุสิ่งสำคัญที่สุดของวิชาชีพของพวกท่านทุกคน นั่นคือ ความยุติธรรม”.
“หมัดเหล็ก”
คอลัมน์ คาบลูกคาบดอก