จำได้ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลขิงแก่และ กกต.ต่างก็ดีอกดีใจจนออก นอกหน้าที่ประชาชนคนไทยพากันตื่นตัว ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันถล่มทลายเมื่อปลายปี 50 รวมถึงมีการใช้สิทธิโหวตลงประชามติรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากกว่า 20 ล้านเสียง
หลายคนในรัฐบาลขิงแก่ รวมถึงบิ๊กใน คมช.บางคนถึงกับคุยโตว่า แม้เป็นยุคเผด็จการแต่ประชาชนตื่นตัวไปใช้สิทธิมากกว่ายุคประชาธิปไตยเสียอีก แต่หารู้ไม่ว่า เหตุที่ประชาชนตื่นตัว อาจเป็นเพราะเกลียดเผด็จการก็เลยแห่ไปใช้สิทธิทวงคืนประชาธิปไตยให้กลับมาไวๆก็ได้
วันนี้ ผมขอหยิบยกเรื่องการสมัคร ส.ว.แบบเขตจังหวัด ภายใต้ กติกาใหม่เอี่ยมของรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.ปี 50 มาถกกันในวงกว้าง เหตุก็เพราะกฎเหล็กที่มีมากมาย ทำให้บรรยากาศของการสมัคร ส.ว. ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างเงียบเหงาวังเวง บางจังหวัดก็สมัครกันเพียงรายเดียว บางจังหวัดก็แค่สองราย
ไม่น่าเชื่อว่า ยุคที่เผด็จการคุยนักคุยหนาว่า ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง แต่ความตื่นตัวของประชาชนในการสมัคร ส.ว.กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ผมได้ฟังคำชี้แจงจาก กกต.ก็อ้างว่า เพราะมีกฎเหล็กเพื่อป้องกันข้อครหาสภาผัวเมีย รัฐธรรมนูญก็เลยบัญญัติข้อห้ามเอาไว้ มากมาย
ผลก็คือ เป็นการทำลายความตื่นตัวของประชาชนไปโดยปริยาย
หากพิจารณาอย่างรอบคอบ จะพบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนความผิดพลาดบกพร่องของผู้เกี่ยวข้องหลายประการ เริ่มจากคนเขียนรัฐธรรมนูญที่ใช้จินตนาการในลักษณะสวนทางกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังเป็นการใช้ทัศนะแบบมองโลกด้านเดียวมาเขียนรัฐธรรมนูญอีกด้วย
เชื่อว่า สมมุติฐานของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ คงคิดผิดๆว่า มีคนจำนวนมากต้องการสมัคร ส.ว. แต่สู้อิทธิพลของนักการเมืองระดับชาติรวมถึงบรรดาญาติพี่น้องคนใกล้ชิดไม่ได้ ก็เลยวางกฎเหล็กให้เข้มข้นเพื่อเล่นงานนักการเมืองระดับชาติ เปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเล่นการเมือง
แต่ประทานโทษ แนวคิดทั้งหมดกลายเป็นเรื่องฝันกลางวันดีๆนี่เอง เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีนิสัยรักสงบ ไม่นิยมใช้ชีวิตผาดโผนด้วยการเล่นการเมือง แม้แต่ลูกหลานนักการเมือง หรือญาติสนิทนักการเมือง ก็ไม่ได้สนใจ แต่ที่ต้องเข้าไปเล่นการเมืองก็เพราะเหตุผลอื่น เช่น ปกป้องและขยายธุรกิจของครอบครัว
ประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ต้องการเล่นการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณชนจริงๆ จึงมีอยู่จำนวนน้อยมาก
และนี่ก็คือความเป็นจริงที่สวนทางกับจิตนาการของ ผู้เขียนรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง
ต่อมาก็เกิดข้อผิดพลาดบกพร่องต่อเนื่องขึ้นมาอีก เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต.รวมทั้งรัฐบาลขิงแก่ มัวแต่เอาใจใส่แต่การรณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิลงประชามติ และเลือกตั้งปลายปี 50 แต่หารู้ไม่ว่า การรณรงค์ให้เลือดใหม่ๆ ไหลถ่ายเทเข้าสู่วงการเมือง โดยเฉพาะวุฒิสภา ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกับการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ เลือกตั้งเช่นกัน
มิหนำซ้ำ สื่อมวลชนที่คอยตรวจสอบ สังเกตการณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองอย่างผมก็บกพร่องต่อ หน้าที่ไม่ฉุกคิดตักเตือนกันแต่เนิ่นๆ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับระบอบประชาธิปไตย
ฉะนั้น เหตุการณ์ทั้งหมด จึงผิดด้วยกันทุกฝ่าย โทษใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้
แต่ก็ยังไม่สายเกินไป ยังไง กกต.ควรทำเป็นบันทึกเก็บไว้ เพื่อส่งมอบให้ กกต.รุ่นต่อๆ ไปนำไปศึกษาไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยขึ้นมาอีก
บางครั้งการยอมรับความจริงและด่าตัวเองเมื่อทำผิดพลาด ก็ทำให้รู้สึกดีเหมือนกัน ไม่ใช่คิดแต่จะเอาดีเข้าตัวเอาชั่วให้คนอื่นร่ำไป ผมว่าทำแบบนี้ ไม่ว่าใครก็มั่นใจได้ว่า ยังสามารถทำงานอย่างตรงไปตรงมาไม่เข้าใครออกใครได้ต่อไป.
"เห่าดง"
คอลัมน์ กล้าได้กล้าเสีย