บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2551

มุ้งเล็ก"พปช."รวมพลัง เตือนภัย"รัฐบาล พปช." ท้าทายภาวะผู้นำ"สมัคร"

วิเคราะห์


วันที่ 28 มกราคม 2551 เป็นวันดีเดย์ที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดหมายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

คาดหมายกันว่านายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย

เหตุที่ต้อง "คาดหมาย" ก็เพราะ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นอิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย

นั่นหมายความว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ควรจะรู้ผลกันในวันที่ลงมติ

ไม่อาจจะใช้มติพรรค ประกาศตัวนายกรัฐมนตรีก่อนวันลงมติ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดโอกาสให้เช่นนั้น

ดังนั้น จึงต้องรอจนถึงวันที่ 28 มกราคม ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรนัดหมาย

และคาดว่า การลงมติเลือกนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีคงจะผ่านฉลุย

ทั้งนี้เพราะก่อนวันนัดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ได้ปรากฏข่าวการตกลงโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีของรัฐบาลพรรคพลังประชาชนว่า "ลงตัวแล้ว"

ตามข้อมูลคอลัมน์ "เคียงข่าว" หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2551 สรุปการแบ่งโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีของแต่ละพรรค สรุปได้ ดังนี้

รัฐบาลใหม่มี 315 เสียง ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน 233 เสียง พรรคชาติไทย 37 เสียง พรรคเพื่อแผ่นดิน 24 เสียง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 เสียง พรรคมัชฌิมาธิปไตย 7 เสียง พรรคประชาราช 5 เสียง

รัฐบาลใหม่มีรัฐมนตรีได้ 35 คน ไม่นับนายกรัฐมนตรี

ใช้สูตรคำนวณแบ่งสรรโควต้ารัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์ที่นิยมกันโดยทั่วไป คือเอาจำนวนรัฐมนตรี (35 คน) ไปหารจำนวนเสียงของรัฐบาล (315 คน) จะเท่ากับโควต้าการได้เก้าอี้รัฐมนตรี

นั่นคือ เมื่อเอา 35 ไปหาร 315 จะได้จำนวน 9

หมายถึง ตำแหน่งรัฐมนตรี 1 คนต่อจำนวน ส.ส. 9 คน

คอลัมน์ "เคียงข่าว" ยังได้สรุปจำนวนตัวเลขรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคที่มีการตกลงกันแล้ว ดังนี้

พรรคชาติไทย ขอ 5 ที่นั่ง จาก ส.ส. 37 คน หรือ 1 ต่อ 7 คน

พรรคเพื่อแผ่นดิน ขอ 4 ที่นั่ง จาก ส.ส. 24 คน หรือ 1 ต่อ 6 คน

พรรครวมใจไทยฯ ขอ 2 ที่นั่ง จาก ส.ส. 9 คน หรือ 1 ต่อ 4.5 คน

พรรคมัชฌิมาธิปไตย ขอ 2 ที่นั่ง จาก ส.ส. 7 คน หรือ 1 ต่อ 3.5 คน

พรรคประชาราช ขอ 1 ที่นั่ง จาก ส.ส. 5 คน หรือ 1 ต่อ 5 คน

ส่วนพรรคพลังประชาชน ได้ 21 ที่นั่ง จาก ส.ส. 233 คน หรือคิดเป็น 1 ต่อ 11 คน

นี่เท่ากับว่า พรรคพลังประชาชนเสียเปรียบพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล เพราะแทนที่จะได้ ส.ส.มากกว่า 21 ที่นั่ง กลับต้องแบ่งให้กับพรรคการเมืองอื่นไป

เท่ากับว่าตัวแทนของพรรคพลังประชาชนที่ไปเจรจาต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาล ยอม "อ่อนข้อ" ให้กับพรรคร่วมรัฐบาล

และการยอมอ่อนข้อนี้เองที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์การชุมนุมทางการเมืองตามมา เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานของพรรคพลังประชาชนจำนวน 80 คน นัดชุมนุมรับประทานอาหารกันที่ร้านอาหารบัว โดยมีข่าวว่านายเนวิน ชิดชอบ เป็นเจ้าภาพ

การนัดชุมนุมกันครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับข่าวความไม่พอใจของ ส.ส.ภาคเหนือ และภาคอีสาน ต่อผลการเจรจาตำแหน่งรัฐมนตรี

แม้รูปลักษณ์ภายนอกการร่วมรับประทานอาหารกันอาจจะเป็นเพียงเรื่องปกติธรรมดา

หากแต่ในทางการเมืองแล้ว ถือว่าผู้ที่สามารถรวบรวม ส.ส. มาชุมนุมพร้อมกันได้ถึง 80 คน นับว่าไม่ธรรมดา

นี่ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมพลังภายในพรรคที่น่าจับตามองไม่น้อย

นี่ย่อมส่งสัญญาณให้พรรคพลังประชาชนระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นภายใน

และย่อมสะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า พรรคพลังประชาชนมิได้เผชิญหน้ากับการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ยังเผชิญหน้ากับการต่อรองภายในพรรคตัวเองด้วย

และผู้ที่ต้องรับบทบาทในการถ่วงดุลอำนาจเพื่อต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาล และมุ้งเล็กภายในพรรคพลังประชาชน คงหนีไม่พ้นนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน

อย่างไรก็ตาม ขณะที่เกิดปัญหาที่ต้องตัดสินใจขึ้น แม้ตามฐานะตำแหน่งแล้ว นายสมัครในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชนจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ

แต่ทุกครั้งที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับการตัดสินใจของพรรค กระแสข่าวมักจะพาดพิงไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า เมื่อพรรคพลังประชาชนมีปัญหา หรือเมื่อรัฐบาลพรรคพลังประชาชนมีปัญหา ผู้ที่ตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่แท้จริงคือใคร

คือนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เนืองๆ

หากผู้ตัดสินใจแก้ปัญหาคือนายสมัคร ปัญหาทุกอย่างก็จะได้รับการแก้ไขให้คลี่คลายลง

แต่หากผู้ตัดสินใจแก้ปัญหาคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังกระแสข่าวที่พาดพิงถึง

ปัญหาย่อมเกิดขึ้นแก่ตัวนายสมัครอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ก็ในเมื่อนายสมัคร ไม่ใช่ "คำตอบสุดท้าย" ในการแก้ไขปัญหา คู่กรณีที่ก่อปัญหาย่อมต้องพยายามจะมุ่งไปติดต่อผู้แก้ไขปัญหา "ตัวจริง"

เท่ากับว่านายสมัคร ซึ่งมีอำนาจ กลับไม่ใช่ผู้แก้ไขปัญหา "ตัวจริง"

แต่ผู้แก้ไขปัญหาตัวจริง กลับไร้อำนาจ

ลักษณะเช่นนี้ย่อมกระทบต่อภาวะผู้นำของนายสมัคร สุนทรเวช อย่างแน่นอน

แม้วันนี้ นายสมัคร สุนทรเวช จะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน

แม้วันนี้ นายสมัคร สุนทรเวช จะได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่หากนายสมัคร ไม่ใช่ "คำตอบสุดท้าย" ในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง

คำกล่าวและคำมั่นสัญญาของนายสมัครจะได้รับความเชื่อมั่นได้อย่างไร

นี่คือสิ่งที่ท้าทายภาวะผู้นำของ "สมัคร สุนทรเวช"

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker