บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2551

มติ จาก "คมช." คือ อำมาตยาธิปไตย แห่ง รัฐประหาร

หลังจาก ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ไปประชุมร่วมกันแล้วมีมติออกมาว่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมควรเป็นทหาร เป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมธนารักษ์ ไปประชุมร่วมกันแล้วมีมติออกมาว่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควรเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง เป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมที่ดิน ไปประชุมร่วมกันแล้วมีมติออกมาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควรเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
บรรยากาศทางการเมืองของไทยคงดูไม่จืด
คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ แล้วจะต้องมีพรรคการเมืองไปทำไม แล้วจะต้องมีการเลือกตั้งไปทำไม
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จะไม่เป็นเรื่องเสียเวลาเปล่าหรอกหรือ
คำถามเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน พลันที่โฆษกคมช. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกมาแถลงยาวเหยียดในเรื่อง "มติ" จากที่ประชุมของคมช. เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 เกี่ยวกับการกำหนดสเป๊กของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เพราะว่าประธานคมช. พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ
เพราะว่าเลขาธิการคมช. พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม
เพราะว่าผู้ช่วยเลขาธิการคมช. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก
เพราะว่าสมาชิกคมช. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
เพราะว่าสมาชิกคมช. พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ
เมื่อใดที่คนระดับ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ มาประชุมร่วมกันและมีมติอันสะท้อนความเห็นร่วมเสนอสู่สาธารณะ
ย่อมเป็นเรื่อง
เป็นเรื่องหากข้าราชการระดับสูงของแต่ละกระทรวงจะเกิดโรค "ลัทธิเอาอย่าง" และกำหนดสเป๊กรัฐมนตรีกระทรวงของตนออกมาเหมือนกับที่ "คมช." ได้เสนอออกมาแล้วบ้าง
ตอนที่มีการหารือในที่ประชุมคมช.บรรดาสมาชิกคมช.คงไม่ได้คิดอะไรให้ซับซ้อน เพียงแต่ต้องการกำหนดสเป๊กรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน 1 ในการตัดสินใจของพรรคพลังประชาชนเท่านั้น
แต่ท่านเหล่านี้ลืมนึกไปว่า "กาละ" ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว
นั่นก็คือ คมช.มิได้อยู่ในสถานการณ์ที่เพิ่งแปรเปลี่ยนจากคปค.มาเป็น คมช. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549
ตรงกันข้าม นี่เป็นสถานการณ์ในวันที่ 22 มกราคม 2551
เป็นสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป สมัย 23 ธันวาคม 2550 ได้ผ่านพ้นมาแล้วด้วยความคึกคัก
เป็นความคึกคักที่ประชาชนเลือกคนของพรรคพลังประชาชนมามากถึง 233 คน
จำนวนส.ส.ที่พรรคพลังประชาชนได้มาโดยการเลือกของประชาชนนั้นเองคือฉันทานุมัติที่ประชาชนมอบให้พรรคพลังประชาชนมาบริหารราชการแผ่นดินตามที่ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้
ตรงนี้ต่างหากที่เหล่าคมช.ทั้งหลายขาดความสำเหนียก
เมื่อขาดความสำเหนียกก็ย่อมจะทำอะไรเร่อร่าออกมาอันเท่ากับเป็นการฟ้องให้เห็นถึงอาการของความเข้าใจผิดอย่างเด่นชัด
หากคมช.สามารถทำเช่นนั้นได้แล้วทำไมจะต้องมีการเลือกตั้งของประชาชนเล่า
เพราะบทบาทของคมช.คือเงาสะท้อนแห่งความคิดอำมาตยาธิปไตย คือเงาสะท้อนความคิดที่ติดอยู่กับความเคยชินในระบบราชการ มองไม่เห็นถึงสิทธิและเสียงของประชาชน
ตรงนี้แหละคือพลังแฝงที่ดำรงอยู่ภายหลังสถานการณ์ "รัฐประหาร"


/////////////////////////////////

คอลัมน์ หักทองขวาง...จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker