บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551

ว่าด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ในขณะที่ใครหลายคนตั้งคำถามว่า คนอย่าง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีประสบการณ์ด้านการเงินการคลัง มาก่อน

ผมกลับตั้งคำถามกับใครหลายคนว่า ทำไมคนอย่าง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้ ในเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลายคนในอดีต ไม่ได้มีคุณสมบัติดีเด่นกว่านพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ผมตั้งคำถามกับใครหลายคนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่อยากได้เป็นอย่างไร คำตอบโดยรวมๆ ก็คือว่า ต้องเป็นคนที่อยู่ในแวดวงการเงินการคลังการธนาคาร หรือ เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

ผมตั้งคำถามให้ใครบางคนตอบสเปกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการ และคาดหมาย คือ

อดีตนายแบงก์ หัวหน้าดรีมทีมเศรษฐกิจ อย่าง นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ใช่หรือไม่ ?

อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก อย่าง นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ใช้ได้ไหม ?

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดีพอไหม ?

อดีตประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ อย่าง นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ จะถูกใจไหม ?

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อย่าง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ไปรอดไหม ?

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อย่าง นายวีรพงษ์ รามางกูร เชื่อมั่นไหม ?

อดีตประธานทีดีอาร์ไอ อย่าง นายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ อยากได้อีกสักรอบไหม ?

อดีตรองนายกรัฐมนตรี อย่าง นายอำนวย วีรวรรณ ยังน่าสนใจไหม ?

คนเหล่านี้เคยเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจในรัฐบาลที่ผ่านมา ครบถ้วนทุกคนแล้ว บ้างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บ้างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บ้างเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม บ้างเป็นรองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ยังมีอีกหลายชื่อ หลายคนที่ผมพอจะคิดออกและพยายามนึกถึงผลงานที่แต่ละท่านแต่ละคนฝากไว้ให้แก่ประเทศไทย หลังจากที่ท่านพ้นตำแหน่งไปแล้ว

ไม่น่าเชื่อว่า แต่ละชื่อที่ผมนึกได้ ผมกลับนึกถึงผลงานที่แต่ละท่านทำไว้ไม่แม่นยำนัก เห็นภาพไม่แจ่มชัดนัก แต่ผมจำชื่อเสียงของท่านได้แม่นยำ ไม่รู้ลืม เหมือนกับว่าตัวตนของท่านยิ่งใหญ่กว่างานที่ทำไว้ เหมือนกับว่าผมก็เป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อความคิด ติดยึดความเชื่อเช่นเดียวกับคนทั่วไปว่า เมื่อพูดถึงมืออาชีพด้านเศรษฐกิจ ที่พอจะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ ก็อยู่ในแวดวงอันจำกัดเพียงไม่กี่ชื่อนี้เท่านั้น

ความเชื่อเช่นนี้ติดตัวผมมานานแสนนาน นานจนเรียกได้ว่าตกเป็นเหยื่อของผู้ที่สร้างความเชื่อเช่นนี้ให้แก่ผม ได้อย่างหัวปักหัวปำ กว่าจะถอนตัวขึ้นมาเป็นตัวของตัวเองได้ ก็ต่อเมื่อได้มานั่งพิจารณาย้อนเหตุการณ์ว่าแต่ละท่านแต่ละคนทำอะไรไว้บ้างนั่นล่ะ ผมจึงได้คิดใหม่ว่า ชื่อเสียง และ ความเชื่อ ตลอดจน สถานะ “กูรู” ที่สังคมยกย่องมอบให้แต่ละคนแต่ละท่าน ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันความสำเร็จ และผลงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแต่อย่างใด

เหมือนกับโฆษณาชี้ชวนซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างๆ ที่จะพูดเร็วปรื๋อราวกับกลัวว่าประชาชนจะฟังทัน ในตอนท้ายของสปอตโฆษณาว่า “ผลประกอบการในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต”

เช่นเดียวกันกับชื่อและชั้นของมืออาชีพ หรือเทคโนแครต ที่สังคมเชื่อถือว่ามีความเหมาะสมและมีฝีมือฉกาจฉกรรจ์มากพอที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ ที่ผลงานในอดีต ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของงานในอนาคต หากได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง

ลองไล่เรียงกันมาตั้งแต่....

1.อดีตนายแบงก์ที่ประสบความสำเร็จได้เป็นนายธนาคารยอดเยี่ยม อย่างนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ หัวหน้าดรีมทีมเศรษฐกิจ ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศหลงเชื่อคำโฆษณากันเป็นตุเป็นตะว่า ต้องเป็นคนพวกนี้ล่ะ จึงจะกอบกู้ประเทศที่กำลังประสบวิกฤติต้มยำกุ้งได้ แต่เอาเข้าจริง ก็ได้เห็นกันถ้วนหน้าแล้วว่า นอกจากจะไม่ได้ช่วยบรรเทาพิษภัยของต้มยำกุ้ง ได้อย่างที่คุยโม้ไว้ แต่ยังไม่สามารถรับมือกับค่าเงินบาท ที่ร่วงลงมาจนถึง 55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งผู้นำเข้า และผู้ส่งออก เจ๊งกันระเนระนาด ที่เคยเป็นหนี้ 100 ล้านบาท ก่อนดรีมทีมเศรษฐกิจของประชาธิปัตย์เข้ามา ก็กลายเป็น 200 ล้านบาททันที เมื่อดรีมทีมพ้นวาระจากไป เรื่องนี้ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เจ้าพ่อทีพีไอ ยืนยันได้ดีว่าหนี้แสนล้านบาท มาจากการบริหารงานของรัฐบาลไหน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชื่ออะไร

นับจากหมดวาระรัฐบาลชวน หลีกภัย ไปพร้อมกับการถูกประชาชนจับได้ไล่ทันว่าดรีมทีมเศรษฐกิจ เป็นเพียงเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ใช่เรื่องจริงตามที่ประชาชนรอคอยและตั้งความหวัง กอบกู้เศรษฐกิจไม่ได้ นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ก็หนีหน้าหายไปจากแวดวงการเมือง และถูกลืมหายไปจากความทรงจำของประชาชนในเวลาอันรวดเร็ว

อดีตนายแบงก์ยอดเยี่ยมอย่างที่ประชาชนเฝ้าหวังว่าจะเป็นผู้กอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจของชาติ อย่างนายธารินทร์ พิสูจน์ฝีมือแล้วว่าแม้เขาจะไม่สามารถทำให้ทุกคนรวยเสมอกันได้ แต่สามารถทำให้ทุกคนจนเท่าเทียมกันได้ ทั้งเจ้านาย และ ลูกน้อง หลายบริษัท ต้องเปลี่ยนอาชีพจากพนักงานบริษัท มาเปิดท้ายขายของกันครึ่งค่อนประเทศ ซึ่งเป็นผลงานที่ดรีมทีมเศรษฐกิจทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า ในยามคิดถึงกัน

ไม่เพียงแต่กอบกู้วิกฤติไม่ได้เท่านั้น หากแต่ยังมีการสืบค้นลงลึกในเวลาต่อมาว่าวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดจากประเทศไทย แล้วขยายผลทำให้ปวดแสบปวดร้อนไปหลายประเทศทั่วโลก เกิดจากการเปิดเสรีทางการเงิน หรือ BIBF ของนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลชวน 1 โดยไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบ ส่งผลให้คนไทยเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของโลก ใช้เงินมือเติบ ก่อหนี้ในอนาคต โดยไม่มีแผนการชำระหนี้ที่ดีพอ เพราะมาตรการทางการเงินของรัฐบาล ที่เสนอโดยมืออาชีพอย่างนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ นั่นเอง

2. อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในดรีมทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผลงานที่นายศุภชัย ฝากไว้ให้คนไทยได้ดูต่างหน้าก่อนบินไปรับจ้างฝรั่งบริหารองค์การการค้าโลก ก็คือ กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ ที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ต้องจำไปจนวันตาย และ กฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่บางคนบอกว่าปิดกั้น แต่บางคนบอกว่าเปิดกว้าง การเข้ามาของผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกต่างชาติ และได้รับเงื่อนไขทางกฎหมายแพร่ขยายบกระจายตัวไปทั่วประเทศ ก็เกิดขึ้นในยุคที่นายศุภชัย พานิช ภักดิ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นี้เอง

ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก ขนาดกลาง ห้างภูธร นอนรอความตายไปทีละรายๆ จนในที่สุดทุกวันนี้ธุรกิจค้าปลีกไทย ตกอยู่ใต้อิทธิพลของต่างชาติแบบเบ็ดเสร็จไปแล้ว ก็เป็นฝีมือที่ศุภชัย พานิชภักดิ์ ฝากไว้ให้ดูต่างหน้า

ด้วยฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่เข้ามารับภาระกอบกู้บ้านเมืองจากพิษต้มยำกุ้ง ที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทิ้งไว้ นายศุภชัย ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั่งดูประเทศไทยล่มสลายไปต่อหน้าต่อหน้าในหม้อต้มยำกุ้ง

นักลงทุนในตลาดหุ้นยิงตัวตายประชดหุ้นราคาตกต่ำก็ยุคนี้

นักธุรกิจจำนวนมาก ปิดบริษัท ไปทำไร่ไถนา ก็ยุคนี้

พนักงานบริษัท กระโดดตึกฆ่าตัวตาย เพราะรับสภาพตกงานไม่ได้ ก็ยุคนี้

นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นคนขายไข่ปิ้ง ไก่ย่าง ก็ยุคนี้

หากถามว่า นายศุภชัย พานิชภักดิ์ มีฝีมือแค่ไหน ผลงานที่ปรากฎออกมาสมกับที่ประชาชนฝากความหวังไว้ในฐานะ “กูรู” ในฐานะมืออาชีพ ด้านการเงินการคลัง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหรือไม่ ก็ต้องดูผลงานของรัฐบาล ชวน หลีกภัย สมัยที่สอง ว่า ประชาชนเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขมากกว่ากัน

หลังจากสิ้นภารกิจจากรัฐบาลชวน 2 นายศุภชัย ไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ก็ต้องถามกันแบบเปิดเผยไปเลยว่า 2 ปีที่เป็นผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก นายศุภชัย ทำอะไรให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และ เวทีการค้าระดับโลก บ้าง ที่เราได้ยิน ได้เห็นจากข่าวโทรทัศน์ มีแต่สินค้าไทยถูกกีดกันในหลายๆ ประเทศ ทั้ง ไก่ กุ้ง ตลอดจนสินค้าเกษตร พืชผักผลไม้

จนกระทั่งนายกฯทักษิณ ชินวัตร ต้องรับบทนักเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินสายขายสินค้าไทยไปทั่วโลก การค้าของไทย จึงเริ่มกระเตื้องขึ้น เพราะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำทีมการค้า ด้วยตนเอง

3. อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่เข้ามาเป็นความหวังให้กับประชาชน ในยุคเผด็จการครองเมือง กับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และจากไปในเวลาอันรวดเร็ว เพียงแค่ไม่ถึง 4 เดือน พร้อมๆ กับการทิ้งหนี้ก้อนใหญ่ไว้ให้กับคนไทย ต้องตามชดใช้ เป็นเงินมากกว่า 3 แสนล้านบาท จากการตัดสินใจของคนเพียงแค่ 2 คน คือ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กำหนดมาตรการกันสำรอง 30% เงินตราต่างประเทศ ที่นำเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่งผลให้ตลาดหุ้นตกอย่างรุนแรง และ นักธุรกิจจต่างชาติ ชะลอการลงทุน บางรายตื่นตระหนกตกใจจนถึงกับถอนการลงทุนออกไปเลย

มาตรการกันสำรอง 30% ที่ประกาศออกมาจากผู้ว่าการธปท. โดยการสนับสนุนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัวนั้น ไม่ได้ผลแม้แต่น้อย และขณะนี้ค่าเงินบาทก็ยังคงแข็งตัวกว่าเมื่อครั้งที่ประกาศมาตรการกันสำรอง 30 % ด้วยซ้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการประกาศมาตรการดังกล่าว เป็นความผิดพลาดของม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่ทำให้ประเทศไทยเสียหาย และก่อหนี้ให้แก่ประเทศไทย มากกว่า 300,000 ล้านบาท โดยที่คนไทยทุกคนต้องร่วมกันชดใช้หนี้ที่ไม่ได้ก่อ แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ไม่ต้องรับผิดชอบจากการทำให้ประเทศชาติเสียหายมากมายขนาดนี้

ในขณะที่ประเทศชาติเสียหาย แต่กลับมีบุคคลใกล้ชิดผู้มีอำนาจรัฐในขณะนั้น ได้ประ โยชน์จากการล่วงรู้ข้อมูลภายใน และเก็งกำไรกับค่าเงินบาท และราคาหุ้น ได้เงินไปไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท เรื่องนี้ นักลงทุนในตลาดหุ้นรู้กันดีว่าใครได้กำไร เช่นเดียวกับนักค้าเงินตราระหว่างประเทศ ก็พูดกันให้แซ่ดว่าลูกชายใคร ได้เงินจากการเก็งกำไรอัตราแลก เปลี่ยน ไปหลายร้อยล้านบาท

หลังจากล้มเหลวไม่เป็นท่ากับมาตรการกันสำรอง 30 % ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็ฉวยโอกาสลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างความขัดแย้งทางการเมือง และทำตัวเป็นพระเอก แฉเรื่องราวไม่ชอบมาพากลในคณะรัฐบาล ให้ประชาชนฟัง โดยไม่พูดถึงเรื่องการทำงานที่ล้มเหลว ของตนเองแม้แต่คำเดียว

พฤติกรรมของม.ร.ว.ปรีดิยาธร ไม่แตกต่างจากคนที่ทำงานผิดพลาด แล้วหนีหน้า ไม่กล้ารับผิดชอบ เพราะเขาไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่ต้องตอบคำถามประชาชน เช่นผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นเอง

4. อดีตประธานกรรมการธนาคากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อย่าง นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ของรัฐบาลนี้ เป็นรัฐมนตรีขาประจำของรัฐบาลเผด็จการ แบบไม่เคยพลาด หลังปฏิวัติรัฐประหารครั้งใด รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาจากอำนาจเผด็จการ จะต้องเรียกโฆสิต มาเป็นรัฐมนตรี ทุกครั้งไป ตั้งแต่ยุครสช. มาจนถึงคมช. เรียกว่าเป็นบุคคลในสายตา และมีเสน่ห์ต่อเผด็จการทหารทุกยุคทุกสมัย

การเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ของ โฆสิต เป็นเพราะ ป๋า สนับสนุน และโฆสิต เข้ามาอยู่กับธนาคารกรุงเทพ ในวันที่ธนาคารกรุงเทพ เป็นปึกแผ่นมั่นคงอยู่แล้ว มิใช่ผู้ที่เข้ามาช่วยสร้างธนาคารกรุงเทพ ให้เติบโตขึ้นมาเช่นทุกวันนี้

โฆสิต เคยเป็นรองเลขาธิการสภาพัฒน์ ยุคป๋าเปรม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการมืออาชีพ ที่รู้ใจป๋าดีที่สุด อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจดีว่า “เผด็จการ” ต้องการอะไร และเป็นที่ชอบใจของเหล่า “เผด็จการ” ในยุคต่อๆ มา

1 ปีกับ 4 เดือน ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรม ของรัฐบาลชุดปัจจุยันที่กำลังจะถึงวาระสุดท้ายอยู่รอมร่อ โฆสิต มีผลงานอะไรให้ได้จดจำกันบ้าง ใครบอกได้ มีรางวัลให้ 100 บาท (จะได้นำมาเป็นชข้อมูลเขียนหนังสือ) ผมนึกไม่ออกจริงๆ

ไม่ใช่เพียงแต่นึกไม่ออกว่ามีผลงานอะไรบ้าง บางทีผมก็ลืมไปด้วยว่ารัฐบาลชุดนี้มีมือเศรษฐกิจที่สื่อมวลชนยกย่องว่าเป็นมือเซียน มืออาชีพในการบริหารเศรษฐกิจ เพราะว่าความตกต่ำ ความพินาศฉิบหายของเศรษฐกิจไทย ในห้วงเวลา 1 ปีเศษที่ผ่านมา มันไม่เหมือนกับว่าเรากำลังว่าจ้างมืออาชีพด้านเศรษฐกิจที่สื่อมวลชนชื่นชมยกย่อง และสังคมธุรกิจเห็นว่าเป็นสุดยอดของนักบริหารเศรษฐกิจ มาทำงานแก้ไขปัญหาอยู่เลย

ตรงกันข้าม เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทุกวงการ ทั้งสื่อมวลชน และนักธุรกิจทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทุกรายสาขา ต่างพากันส่ายหน้า สั่นหัว และทุกข์ระทมกับสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำที่เหมือนกับว่า ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ยังไงยังงั้นเลย

คำพูดที่ดังระงมไปทั่วทุกวงสนทนาของนักธุรกิจเมื่อปีที่แล้วที่ บอกว่า “ปีนี้ (2550)เผาหลอก ปีหน้า(2551)เผาจริง” เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เรามีมืออาชีพด้านการบริหารเศรษฐกิจ อย่าง โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ กูรูการเงินการคลังคนหนึ่ง ที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศนี้ เป็นผู้บริหาร เป็นกัปตันทีม ได้อย่างไร

หากวัดจากเสียงสะท้อนสภาพเศรษฐกิจไทย ที่ออกมาในรอบ 1 ปีเศษที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ไม่ใช่ของจริง แต่เป็นของปลอม ที่ย้อมแมวขาย นั่นเอง

ถ้า โฆสิต มีฝีมือจริง บริหารเศรษฐกิจได้ดีจริง เราคงไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับการหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ มารับใช้ประเทศ เช่นทุกวันนี้

ต้องกล่าวหาว่าปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่หนักหนาเช่นทุกวันนี้ ก็เพราะเราได้มืออาชีพแบบของปลอม มาเป็นผู้บริหารยาวนานกว่า 1 ปีเศษที่ผ่านมา

5. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อย่างนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่วันนี้ตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีภาพลักษณ์สวยหรูดูดีเหลือเกินในสายตาของสื่อมวลชน และเป็นชื่อที่ลอยมาตามลมหล่นบนหน้าหนังสือพิมพ์ ทุกครั้งที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลเลือกตั้ง ว่าได้รับการทาบทามให้มาเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาล

เรื่องแบบนี้ ต้องไปถามพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาลที่มีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า 1 ปีบนเก้าอี้รัฐมนตรีพาณิชย์ นายณรงค์ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ของจริง” หรือ “ของปลอม”

ในฐานะ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุด หรือ ซีอีโอ ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ นายณรงค์ชัย ไม่ได้ให้ข้อมูลแก่รัฐบาลพล.อ.ชวลิต เลยว่าสถานการณ์บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สถานการณ์ด้านการเงิน เป็นอย่างไรบ้าง จนกระทั่งวาระสุดท้ายของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต มาเยือนนั่นเอง ประชาชนทั้งประเทศ จึงได้รู้ว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ ที่มีนายณรงค์ชัย เป็นผู้บริหาร มาหลายปี ก่อนจะดีดตัวมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กับรัฐบาลพรรคความหวังใหม่ เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ก่อหนี้เสียให้แก่ประเทศไทยจำนวนมากมาย จนถูกสั่งปิดกิจการ

หลังจากพล.อ.ชวลิต ประกาศนโยบายลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ระดับ 27 บาทต่อดอลลาร์ หล่นไปอยู่ที่ 50 บาทต่อดอลลาร์ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน นายณรงค์ชัย เป็นคนที่บอกให้นักข่าว ใช้คำว่า “ลอยตัวค่าเงินบาท” แทน “ลดค่าเงินบาท” และบอกว่าการลอยตัว แปลว่าอาจจะขึ้นก็ได้ ลงก็ได้ เพื่อให้ความหวังแก่ประชาชน ให้แตกตื่นตกใจกับอันตราแลกเปลี่ยน แต่ปรากฎว่าเงินบาทมีแต่ไหลลงไม่เคยขึ้นแม่แต่วันเดียว ส่งผลให้นักธุรกิจที่เชื่อนายณรงค์ชัย พากันเจ๊งกันมากขึ้นกว่าเดิม

ในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายณรงค์ชัย หายหน้าไปนานหลังจากแพ้พิษต้มยำกุ้ง และไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อการล่มสลายของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต เลยแม้แต่น้อย

นายณรงค์ชัย เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน ทำงานต่อ เนื่องมากว่า 1 ปี มีอะไรที่ควรค่าแก่การจดจำบ้าง มีอะไรที่จะอวดอ้างกับประชาชนได้บ้างว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการให้คำปรึกษาของตนเอง หากคิดออกแล้ว กรุณาตอบให้ประชา ชนชื่นใจด้วย

6. อดีตรองนายกรัฐมนตรี อย่างนายวีรพงษ์ รามางกูร “ลูกโกร่งสุดที่รักของป๋าเปรม” และมีความสนิทสนมกับสื่อเครือมติชน มากที่สุด เป็นทั้งวิทยากรอบรมนักข่าว เป็นทั้งคอลัมนิสต์ให้กับมติชน อันน่าจะเป็นที่มาของการปล่อยข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน เพียงฉบับเดียวว่า “พรรคพลังประชาชนทาบทาม วีรพงษ์ เป็นรมว.คลัง และ วีรพงษ์ ตอบรับแล้ว” ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น หนังสือพิมพ์มติชน เสนอข่าวว่า “พรรคพลังประชาชนทาบทามวีรพงษ์ เป็นรมว.คลัง แต่วีรพงษ์ ไม่รับ”

หลังจากมีข่าวว่า “วีรพงษ์ ไม่รับ” จึงมีข่าวออกมาจากพรรคพลังประชาชน ว่า “หมอสุรพงษ์ รับเป็นรมว.คลัง แล้ว” เป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์มติชน เสนอข่าวแบบไม่เห็นด้วยกับ “หมอสุรพงษ์ เป็นรมว.คลัง” และ ตามด้วยข่าว “นักธุรกิจไม่เชื่อมั่น” จนมาจบที่ “วีรพงษ์รับการทาบทาม เป็นรมว.คลัง”

ทางเดินของข่าวในลักษณะนี้ อธิบายความเป็นข่าวในข่าว หรือ อ่านนัยยะระหว่างบรรทัดของข่าวที่หนังสือพิมพ์มติชน นำเสนอได้ว่า

“นายวีรพงษ์ รามางกูร อยากเป็นรมว.คลัง แต่เกรงว่าจะไม่มีราคาค่างวดมากนัก หากตอบรับทันทีที่ได้รับเชิญในครั้งแรก จึงปฏิเสธไป เพื่อให้พรรคพลังประชาชนมาคุกเข่าร้องขอความช่วยเหลืออีกครั้ง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อพรรคพลังประชาชน เชื่อมั่นว่าหมอสุรพงษ์ เป็นรมว.คลัง ได้ จึงไม่ย้อนกลับไปทาบทามอีกครั้ง ส่งผลให้ต้องเสนอข่าวเองว่า ตอบรับแล้ว ยินดีที่จะเป็นรมว.คลัง แล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีใครขอร้องเป็นครั้งที่สอง ”

ถามว่าทำไมชื่อของนายวีรพงษ์ รามางกูร จึงลอยมาทุกครั้งเมื่อจะตั้งรัฐบาลทุกชุด และจะต้องได้รับการคาดหวังว่าจะลงตัวที่เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทุกครั้งไป ทั้งๆ ที่นายวีรพงษ์ เป็นรัฐศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงานอันโดดเด่นของนายวีรพงษ์ ที่กลายมาเป็นตำนนานดร.โกร่ง เล่ามาไม่รู้จบ มีอยู่เพียงเรื่องเดียว คือ เป็นผู้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังการประกาศลดค่าเงินบาท สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2527

แต่สถานการณ์ในขณะนั้นไม่ซับซ้อนและยุ่งยากมากเท่าขณะนี้ ที่หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้เอกชน ไม่ใช่หนี้ราชการ และปริมาณหนี้ก็มีจำนวนมหาศาล โดยรัฐเข้าไปแทรกแซง มากไม่ได้เท่ากับในสมัยพล.อ.เปรม เนื่องจากกติกาการเงินของโลกเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

ความสามารถอันเอกอุของ นายวีรพงษ์ ดูเหมือนว่าจะหยุดยั้งไว้เฉพาะรัฐบาลพล.อ.เปรม เท่านั้น เพราะในเวลาต่อมาเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายวีรพงษ์ ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งและกอบกู้ภาวะเศรษบกิจที่ตกต่ำของประเทศไทย ได้เลย จนกระทั่งพล.อ.ชวลิต ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี เพื่อรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

ว่ากันว่าบางเสี้ยวของการทำงานในฐานะมืออาชีพ นายวีรพงษ์ เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับนายอัดนัน คาช็อกกี และ นายราเกซ สักเสนา 2 พ่อมดการเงินคนสำคัญที่ถล่มธนาคากรรุงเทพพานิชยการ จนขาดทุนมหาศาล ต้องปิดกิจการไปในที่สุด แต่ไม่เป็นที่ยืนยันว่าเกี่ยวข้องกันในฐานะใด ซึ่งเรื่องนี้คนที่รู้เรื่องดี ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อยืนยันได้ คือ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง

ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาเดียวกับเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ผลงานในอดีตของนายวีรพงษ์ จึงไม่ใช่เครื่องรับประกันความสำเร็จในอนาคต หากมาเป็นรมว.คลัง อีกครั้งในยุคนี้

7. อดีตประธานสถาบันการวิจัยการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ อย่างนายฉลอง ภพ สุงสังกรกาญจน์ ที่มานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้กับรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งมาพร้อมกับความคาดหวังของนักธุรกิจ และประชาชนจำนวนมาก ในฐานะ “กูรู” คนหนึ่ง คนเก่งที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย แต่กำลังจะจากไปพร้อมกับทิ้งความผิดหวังให้แก่นักธุรกิจ และประชาชน ไว้ดูต่างหน้า ยามคิดถึง

เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา นายฉลองภพ ไม่ได้ทำอะไรให้ประชาชนเชื่อมั่นกับเศรษฐกิจของประเทศ และมีความหวังกับการทำงานของรัฐบาล แม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับทำให้ประชาชนหมดหวัง และเลิกหวังกับรัฐบาลนี้ ไปตั้งแต่ก่อนทีรัฐบาลจะหมดอายุ

นายฉลองภพ เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง ในฐานะนักวิชาการ ที่ได้รับความเชื่อถือจากนักธุรกิจ นักวิชาการ และประชาชน อย่างมาก เมื่อนำเสนอบทวิพากษ์วิจารณ์ แนวคิดแนวทางการทำงานที่แหลมคมให้แก่รัฐบาลหลายยุคหลายสมัย แต่เมื่อถึงเวลา มีโอกาสได้เข้ามาทำงานเอง หรือ มาลงมือปปฏิบัติ ไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียว กลับไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สร้างความประทับใจใดๆ ไว้เลย นับแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย

หากนายฉลองภพ ทำงานได้ดีในฐานะรมว.คลัง เช่นเดียวกับการพูด การวิจารณ์ในฐานะประธานทีดีอาร์ไอ หรือ พูดง่ายๆ มีฝีมือเท่ากับฝีปาก เศรษฐกิจไทย ก็คงไม่ตกต่ำจนหาทางแก้ไขไม่เจอเช่นทุกวันนี้

การที่เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย ก็เพราะการทำงานที่ไม่มีประสิทธิ ภาพของนายฉลองภพ นั่นเอง

1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย เสียเวลาไปกับนายฉลองภพ โดยไม่คุ้มค่าเลย เมื่อเปรียบ เทียบกับความคาดหวังของประชาชนทั้งประเทศ ที่หลงเชื่อว่านายฉลองภพ คือผู้บริหารเศรษฐกิจ ที่จะมากอบกู้ชาติบ้านเมืองเหมือนกับอัศวินขี่ม้าขาว

8. อดีตรองนายกรัฐมนตรี อย่างนายอำนวย วีรวรรณ ซึ่งเคยได้รับการยกย่องให้เป็น“ซาร์เศรษฐกิจ” คนที่สองต่อจากนายบุญชู โรจนเสถียร ก็เคยเป็นความหวังให้แก่คนไทย ในเรื่องการกอบกู้เศรษฐกิจ นับแต่รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา มาจนถึง รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่กลับกลายเป็นว่านายอำนวย นำประเทศไทย เข้าสู่สงครามเงินบาท และพ่ายแพ้ย่อยยับ จนต้องเข้าสู่โปรแกรมไอเอ็มเอฟ เป็นความทรงจำที่ไม่มีวันลืมเลือนของคนไทยทั้งประเทศ ว่าชีวิตมีความทุกข์ยากเพียงใดภายใต้เงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ กว่าจะลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ก็ต่อเมื่อนายกฯทักษิณ ชินวัตร มาปลดปล่อยคืนความเป็นไทให้แก่เศรษฐกิจไทย ไม่ต้องอยู่ใต้ข้อกำหนดของไอเอ็มเอฟ อีกต่อไป

นายอำนวย วีรวรรณ จากไปพร้อมกับทิ้งหนี้อันเกิดจากการทำสงครามเงินบาท ไว้ให้แก่ประเทศไทยกว่า 1,000,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องชดใช้ แต่คนไทยทั้งประเทศ ที่ไม่ได้รู้เห็นกับการก่อหนี้ก้อนนี้ ต้องชดใช้ร่วมกัน

ทั้ง 8 ตัวอย่างนี้ คือ “กูรู” คือ “มืออาชีพ” คือ “เทคโนแครต” ที่สังคมไทย โดยเฉพาะสื่อมวลชน นักธุรกิจ และ นักวิชาการ ยกย่องว่าคือสุดยอดฝีมือด้านการบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทย ชนิดหาตัวจับยาก และทุกวันนี้ก็ยังจับตัวยาก เพราะแต่ละคน แต่ละท่าน หลบเร้นซ่อนกายอยู่ในที่ตั้ง หลังจากที่ก่อความเสียหายให้แก่ประเทศไทย ไว้มากมายดังที่ยกมากล่าวอ้างให้เห็นกันแล้ว

บางคนยังอยาก บางคนเข็ดขยาด บางคนอยากๆ แหยงๆ

แต่สำหรับผม บอกตรงๆ ว่ากลัวเหลือเกินกับ บรรดา “กูรู” ที่สังคมยกย่องเกินจริง จนกลายเป็นภาพลวงตา และ ภาพติดตาว่าเรามีบุคคลที่จะเป็นผู้บริหารด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้เพียงเท่านี้ มีจำนวนจำกัดมากๆ แม้จะทำงานผิดพลาดให้ชาติเสียหายไปบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับสภาพ และสนับสนุนให้โอกาสอีกครั้ง และ อีกครั้ง ๆๆๆๆๆ

ผมอยากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “กูรู” เหล่านี้เมื่อมาทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรี ก็เหมือนเราใช้บัตรเครดิต วันไหนล้มเหลว ก็หนีไปโดยไม่รับผิดชอบ หนี้สินที่เกิดจากการรูดบัตรเครดิต ประชาชนต้องร่วมกันชดใช้ทุกทีไป

จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อเราอยากใช้บัตรเครดิต เชื่อถือในชื่อเสียง และเครดิตของเขา มากเกินไป ก็ต้องยอมรับสภาพที่ต้องชดใช้หนี้พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดจากบัตรเครดิต

ในขณะที่สมัยรัฐบาลนายกฯทักษิณ ชินวัตร เหมือนกับเราใช้บัตรเดบิต คือเป็นบัตรเงินสด ทันทีที่รัฐบาลทักษิณ เริ่มต้นทำงาน ประชาชนก็ได้เงินสดมาใช้ ทำธุรกิจสร้างเนื้อสร้างตัว แล้วทยอยผ่อนชำระคืน ลืมตาอ้าปากได้ ถึงแม้จะเป็นหนี้ ก็เป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายของตัวเอง ไม่ใช่หนี้ที่เกิดขึ้นจากการก่อหนี้ของผู้อื่น

ลองมองย้อนกลับไปรัฐบาลนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่ทุกคนได้ประจักษ์ผลงานด้านการบริหารเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากพิษไข้ต้มยำกุ้ง และฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็ว กลายเป็นดาวรุ่งแห่งภูมิภาค อย่างย่าทึ่ง ทุกคนต่างก็รู้กันดีว่า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และ ตัวจักรที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจที่ตายคามือดรีมทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ ให้กลับคืนมามีชีวิตได้ ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ จบปริญญาเอกด้านอาชญวิทยา ไม่เคยได้รับการยกย่องให้เป็นกูรู ไม่เคยถูกเรียกว่าเป็นมืออาชีพด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ เพียงแต่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการบริหารธุรกิจของตัวเอง

แต่ด้วยความตั้งใจดี ความเอาใจใส่ และความใฝ่ศึกษา จากปัญหาจริง ของจริง และการมีทีมงานที่ดี ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการบริหารเศรษฐกิจไทย จนได้รับการกล่าวขาน ชื่นชม และลอกเลียนแบบแนวทางการทำงานแบบ ทักษิโณมิกส์ ไปใช้ในหลายประเทศ

วันนี้ หากจะเปลี่ยนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผมเชื่อว่าด้วยความตั้งใจดี เป็นทุนเริ่มต้น ด้วยคำปรามาส ที่จะแปรเปลี่ยนมาเป็นแรงขับดันให้ทำงานหนักขึ้น ด้วยทีมงานที่พร้อมพรั่งเหมือนเดิมเกือบ 100 % สมัยรัฐบาลทักษิณ คอยสนับสนุน ผมเชื่อว่า นพ.สุรพงษ์ จะทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนก่อนๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คอยให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาด้วยแล้ว ผมเชื่อว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ดีที่สุดคนหนึ่งได้ไม่ยากนัก และจะเป็นรัฐมนตรีี่ใช้ผลงานหักปากกาเซียนจากทุกสำนักสื่อ และปิดปากนักวิชา การทุกสำนักการศึกษา ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ปรามาสได้สนิท

ผมมองเห็น “สิ่งหนึ่ง” ที่นพ.สุรพงษ์ มีเหมือนกับ นายกฯทักษิณ ก็คือ ความตั้งใจดีต่อประเทศชาติ และความจริงใจต่อประชาชน

นักการเมืองทุกคนหากมีสิ่งนี้ ไม่ว่าจะทำงานในหน้าที่ตำแหน่งใด ก็จะประสบความ สำเร็จมากกว่าล้มเหลว

เกือบลืมไป จำได้ไหมว่า เราเคยมีนายบรรหาร ศิลปอาชา และ นายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาแล้ว และ ทั้งสองท่านก็ทำหน้าที่ได้ดี ไม่มีเรื่องราวความเสียหายให้บันทึกไว้เหมือนบรรดา “กูรู” ทั้งหลายที่ผมยกมาเป็นตัวอย่าง

เพราะฉะนั้น หากนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีข้อจำกัด หรือ ข้อด้อยที่ตรงไหน เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตรัฐมนตรีคนก่อนๆ

อาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำไป เพราะ รัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมจะรับผิดชอบต่อความต้องการ และความคาดหวังของประชาชน อย่างจริงใจ มากกว่ารัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการ

ขอเพียงแต่นำความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ขอเพียงนำความทุกข์เข็ญของประชาชนเป็นเครื่องเตือนใจ

ขอเพียงแต่ไม่ลืมที่มาของตนเอง

ขอเพียงแต่มีความกล้าหาญและจริงใจที่จะทำเพื่อประชาชน

ผมก็เชื่อว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี จะทำหน้าที่ได้ดีในทุกตำแหน่ง รวมทั้งรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง ที่ทุกคนมองว่า “เป็นไม่ได้”

แต่ผมเชื่อว่า “คุณทำได้”

ประดาบ

จาก hi-thaksin

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker