บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552

ทิ้งนมถุงเอา-กล่อง ยื่นอ้อยเข้าปากช้าง

ที่มา ไทยรัฐ

มติคณะรัฐมนตรีแก้ปัญหานมโรงเรียน ด้วย 2 วิธีการสำคัญ...1. ยกเลิกระบบโซนนิ่ง หรือแบ่งเขตประมูลขายนมโรงเรียน

2. ให้ซื้อนมกล่อง หรือนมยูเอชทีเป็นหลัก

เป็นหลักแบบไม่ธรรมดา มติ ครม.เขียนให้อ่านแล้วสับสนเข้าใจยาก คล้ายตั้งใจจะซุกกล่องนม ด้วยมีรายการเขียนระบุไว้ให้ซื้อนมกล่องไว้หลายที่หลายลักษณะ เหมือนกลัวคนจะรู้ว่า ครม.ให้สิทธิซื้อนมกล่องได้ทั้งโครงการ

ผลักนมถุง นมพาสเจอไรส์ ที่เป็นเจ้าตลาดนมโรงเรียนเดิมออกจากวงจรไปเลย อ้างเหตุผล นมถุงมีปัญหารอยรั่ว บูดเน่า ทำให้เกิดความเสียหายมากถึง 2%...เป็นใบเบิกทางให้นมกล่องยึดหัวหาดนมโรงเรียน ในภาวะที่เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจบ้านเราซบเซา

ผู้คนประหยัดไม่ใช้เงิน ซื้อนมดื่มน้อยลง ตลาดทั่วไปยอดขายนมกล่องหด...มีแต่นมโรงเรียน ตลาดเดียวที่โตวันโตคืน ยอดขายไม่มีตก

ปีที่แล้ว ยอดนักเรียนได้สิทธิดื่มนม อนุบาลถึง ป.4 อยู่ที่ 5.3 ล้านคน คูณด้วย 230 วัน 1,219 ล้านชิ้น

ปีนี้ยอดพุ่งปรี๊ด ให้ดื่มกันตั้งแต่อนุบาลยัน ป.6 จำนวนเด็กเพิ่มเป็น 7.1 ล้านคน แล้วเพิ่มจำนวนวัน ให้ดื่ม 260 วันอีก ยอดจำหน่ายอยู่ที่ 1,846 ล้านชิ้น

ตลาดนมโรงเรียน...ยอดสั่งซื้อเพิ่มถึง 51%

ยิ่งถ้าเขียนมติ ครม. ขีดเส้นให้คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการนมโรงเรียน...ตีความสามารถซื้อเป็นนมกล่องได้ทั้งหมด โดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ขัดมติคณะรัฐมนตรี

คิดเล่นๆ แค่กำไรค่ากล่องอย่างเดียว ไม่รวมนม ไม่ต้องมากขอแค่กล่องละ 20 สตางค์...300 กว่าล้าน จะหนีไปที่ไหน

เลยมีคำถามตามมาว่า มติ ครม.ที่ออกมามีเป้าหมายเพื่ออะไรกันแน่...

ตั้งใจจะช่วยเด็กได้ดื่มนมดี มีคุณภาพจริงแท้แค่ไหน

เนื่องจากการเปลี่ยนมาใช้นมกล่องแทนนมถุง ไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะบอกได้ นมจะไม่บูดเน่า ไม่ต่ำมาตรฐาน

เพราะการดำเนินโครงการนมโรงเรียนติดต่อกันมากว่า 10 ปี นมถุง นมกล่อง มีปัญหาบูดเน่าไม่แพ้กันมาทุกยุคสมัย

ที่สำคัญการแก้ปัญหานมโรงเรียนโดยใช้นมกล่องเป็นตัวตั้งแก้ ปัญหานมบูดเน่าแบบเดียวกันนี้ รัฐบาลไทยก็ทำมาแล้ว เมื่อปี 2538

รัฐบาลยุคนั้น ให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ค.ส.) เจ้าเดิมเจ้าเก่านี่แหละ จัดการซื้อนมกล่องไปแจกเด็กแทนนมถุง นมพาสเจอไรส์ที่เก็บได้ไม่นาน

แต่ก็ยังมีปัญหานมบูดนมเน่า นมเป็นหนอน เป็นก้อน นมหมดอายุมาให้เด็กดื่มอยู่ดี...แถมยังหนักกว่านมบูดนมเน่ายุคใช้นมถุงซะอีก

แม้กระทั่งล่าสุด นับตั้งแต่เกิดปัญหานมโรงเรียนขึ้นที่ ร.ร.ปากเลข จ.ชุมพร เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นข่าวดังเรื่องนมโรงเรียนบูดเน่าติดต่อกันมา 1 เดือนเต็ม...ปรากฏว่า นมกล่องมีปัญหาบูดเน่ามากกว่านมถุง

ความจริงแล้วปัญหานมกล่อง นมถุงจะบูดจะเน่า ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ถุงหรือกล่อง แต่อยู่ที่กระบวนการผลิต การขนส่ง การจัดเก็บ

นมกล่องที่บอกว่า เก็บได้นาน 6 เดือน ผลิตไม่ดี ขนส่งไม่ถูกต้อง เก็บไม่ดี การบูดเน่าก่อนหมดอายุก็เกิดขึ้นได้ง่ายมาก นมถุงก็เหมือนกันที่บอกว่าเก็บได้นานแค่ 2 อาทิตย์ ถ้าการผลิตดี เก็บรักษาดี สามารถเก็บได้นานถึง 1 เดือนเหมือนกัน

ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเบื้องต้นของนมและภาชนะบรรจุนม

นมถุง หรือนมพาสเจอไรส์ เป็นนมที่ใช้กรรมวิธีในการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน 73 ํC เป็นเวลานาน 15 วินาที สามารถเก็บได้นานถึง 2 อาทิตย์ แต่ต้องเก็บในที่เย็นอุณหภูมิประมาณ 8-10 ํC

แต่จะเก็บได้นาน สั้นกว่านี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่านมที่ส่งมายังโรงงานมีจุลินทรีย์ปนเปื้อนมากแค่ไหน ถ้ามีจุลินทรีย์ปนเปื้อนมาก บูดเน่าเร็ว จะเก็บได้ไม่นานอาจจะเหลือแค่ 1 สัปดาห์

การเก็บรักษานั้นนมพาสเจอไรส์ไม่ค่อยยุ่งยาก เนื่องจากเก็บได้ไม่นาน การเก็บรักษาจึงมีการระมัดระวัง ต้องแช่น้ำแข็งตลอดเวลา

สิ่งที่จะทำให้บูดเน่า ส่วนใหญ่จะมีอยู่แค่ 2 เรื่อง...แช่น้ำแข็งไม่ดี น้ำแข็งละลายหมด กับเวลาเอาถุงนมออกมาจากถังน้ำแข็ง ครูต้องรีบตัดถุง แจกให้เด็กดื่มภายในครึ่งชั่วโมง เพราะถ้าทิ้งไว้นานกว่านั้น นมจะบูด

สำหรับนมกล่อง นมยูเอชทีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงกว่าพาสเจอไรส์...ฆ่าเชื้อด้วยความร้อน 130 ํC นาน 3 วินาที สามารถเก็บได้นาน 6 เดือน

จะเก็บได้นานขนาดนั้นจริงหรือเปล่า ก็เหมือนนมพาสเจอไรส์ ขึ้นอยู่กับน้ำนมที่นำมาผลิตมีจุลินทรีย์ปนเปื้อนมากแค่ไหน มีมากก็เก็บได้ไม่นาน

แต่การบูดเน่าในขั้นนี้ ไม่ค่อยเกิดขึ้นเพราะเครื่องจักรมีระบบอัตโนมัติ ที่มีการตรวจเช็กการฆ่าเชื้อตลอดเวลา ฆ่าเชื้อได้ไม่สมบูรณ์ก็จะมีการดูดส่งกลับไปฆ่าเชื้อใหม่ เว้นแต่โรงงานนั้นไม่ค่อยใส่ใจตรวจเช็กบำรุงรักษาเครื่องจักร

สิ่งที่ทำให้นมยูเอชทีมีอัตราบูดเน่าได้ง่าย...มาจากความเชื่อว่าเก็บได้นาน 6 เดือน โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น การขนส่งการเก็บรักษาเลยขาดการระมัดระวัง

นมกล่องขนส่งไม่ดี วางซ้อนเกิน 6 ชั้นกล่อง กล่องนมจะแตกนมรั่ว การบูดเน่า หนอนขึ้นจะมีให้เห็นภายใน 1 อาทิตย์

ระหว่างขนส่งมีการโยนทำให้กล่องแตกนมรั่ว เก็บไม่ดีถูกหนู มด แมลงมักกัดกล่องเป็นรู นมรั่วแค่กล่องเดียว สามารถทำให้นมบูดได้ยกลอตเลยทีเดียว

เพราะกล่องนมยูเอชที เป็นกล่องแบบป้องกันน้ำนมรั่วออก ไม่ได้ป้องกันน้ำซึมเข้า...นมรั่วจากกล่องกล่องเดียว สามารถไหลซึมเข้ากล่องอื่นได้ทางตะเข็บกล่อง นมที่รั่วออกมาเน่า ซึมเข้าไปทำให้กล่องอื่นเน่าทั้งหมด

เก็บรักษาในห้องที่ถูกแดดส่อง ห้องร้อนเกินไป อุณหภูมิสูงกว่า 40 ํC จะบูดเร็ว เก็บได้ไม่ถึง 6 เดือน

ปัญหานมกล่องยังมีอีกอย่าง ที่ถูกมองข้าม...ขยะ

ที่ผ่านมาโรงเรียนมีปัญหาเรื่องขยะมาก ขยะกล่องนมกำจัดยาก เผาทำลายจะส่งกลิ่นเหม็นมาก นมถุงถึงจะมีปัญหา แต่ก็น้อยกว่าเพราะมีขนาดเล็กและบางกว่า

ที่สำคัญนมพาสเจอไรส์เก็บได้ไม่นาน คนขายต้องมาส่งบ่อย มาทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ทางโรงเรียนเลยแก้ปัญหาเก็บถุงนมไว้ ส่งให้ทางผู้ขายนำไปกำจัดเอง แต่นมกล่องทำอย่างนี้ไม่ได้

เพราะเก็บนาน 6 เดือน มาส่งครั้งเดียวก็หายไปหลายเดือน เลยสร้างปัญหามลภาวะให้กับโรงเรียน

ในเมื่อนมกล่องมีปัญหามากกว่านมถุง ไหนยังมีปัญหาเรื่องราคา ที่แพงกว่าถุงประมาณ 1.20 บาทต่อหน่วย

ให้เด็ก 7.1 ล้านคน ดื่ม 260 วัน...คุ้มหรือไม่ที่ต้องใช้เงินแพงขึ้น 2,200 ล้าน แค่เพื่อให้ได้กล่องมาเป็นขยะเพิ่มขึ้น

ในขณะที่เคยมีงานศึกษาวิจัยอยู่แล้วว่า ถ้าให้โครงการนมโรงเรียนให้ เด็กได้ดื่มนมถุงขนาด 200 ซีซี จะช่วยประหยัดเงินให้ได้ถึง 20 สต.ต่อคน ต่อวัน...วิธีนี้ช่วยประหยัดเงินได้ 369 ล้านบาท

และถ้าซื้อนมถุงขนาด 10 ลิตร มาส่งคูลเลอร์รินใส่แก้วแบ่งแจกให้เด็กดื่ม...จะช่วยประหยัดเงินได้ถึง 60 สต.ต่อคนต่อวัน

วิธีนี้ช่วยประหยัดเงิน 1,107 ล้านบาทต่อปี

เด็กได้ดื่มนมครบ เหลือเงินคืนเยอะ ขยะมีน้อยลง แถมเกษตรกรยังมีรายได้เลี้ยงวัวขายนมให้โรงงานผลิตนมพาสเจอไรส์ ที่มีอยู่ถึง 60 โรงงาน

ดีกว่าซื้อแต่นมกล่องที่มีผู้ผลิตแค่ 15 โรงงาน เด็กได้ดื่มนมเท่ากัน แต่แพงก็แพง ขยะก็เยอะ...แต่เชื่อเถอะ สังคมไทยเสียค่าโง่ เชื่อเขาโหมปั้นข่าว จนอ้อยเข้าปากช้างแล้ว

ยากจะเอาคืนได้...นอกจาก...(คิดกันเอง)

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker