บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล "มาตรา 112 : ผลพวงรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 "

ที่มา ประชาไท

"ในการบัญญัติกฎหมายนั้น ผู้บัญญัติกฎหมายย่อมจะบัญญัติขึ้นเพื่อแก้ไขเหตุการณ์อันใดอันหนึ่ง หรือเพื่อสนับสนุนส่งเสริมสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าเราจะศึกษาจากประวัติศาสตร์แล้ว ก็จะเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายและช่วยเราเข้าใจกฎหมายนั้นดีขึ้น" ดร.หยุด แสงอุทัย [1]

การปลุกกระแส "กำจัดพวกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ผ่านสื่อมวลชน (ไทยโพสต์, ดาวสยาม เป็นต้น) และตามล่า ไล่จับกุม หรือกระทั่งทารุณกรรมอย่างป่าเถื่อน อย่างต่อเนื่องและถึงจุดขีดสุดในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สมัยรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช, กองกำลังอนุรักษ์นิยมบุกสังหารหมู่ ผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ อาจจำแนกฝ่ายอนุรักษ์นิยมบ้าคลั่งได้ 2 พวก คือ 1.พวกมีเครื่องแบบ เช่น ลูกเสือชาวบ้าน (สังเกตจาก "ผ้าพันคอพระราชทาน") , 2.พวกไม่มีเครื่องแบบ เช่น กระทิงแดง (สังเกตจากบุุคลิกท่าทาง) โดยกระทำบังอาจลักษณะทารุณกรรมผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ (ประชาชน) เช่น ฆ่าตอกลิ่มทะลุอก เผาทั้งเป็น แขวนคอแล้วประทุษร้ายศพ [2] และตำรวจพลร่ม ตำรวจตระเวนชายแดน ในภายหลัง

ในยุครัฐบาลเสนีย์ ปราโมช มีการจับกุมผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ เบ็ดเสร็จ 3.154 คน ในฐานความผิดต่างๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามคำกล่าวอ้างในภายหลังโดยแถลงการณ์ของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร [3]

เวลา 19.10 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519, สงัด ชลออยู่ และสมุน (ของมัน) ดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ลงตามแผนที่วางสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า [โดยดู "ส่วนที่3" ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง] ได้ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ พร้อมประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ

เราจะพิจารณา คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 ซึ่งในระยะเวลาสั้นๆ จะหยิบยกเฉพาะข้อ1. ซึ่งโยงไปได้หลายเรื่อง ดังนี้

ในข้อ 1. ตามคำสั่งฯ แบ่งเป็นสองส่วน คือ

1.การกระทำความผิดอาญที่ระบุท้ายบัญชีของคำสั่งฯนี้ ซึ่งปกติอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม คณะรัฐประหารให้โอนคดีมายังเขตอำนาจศาลทหาร

คดีเยอะๆ แบบนี้ พวกเขาทำอย่างไร? เป็นปัญหาทางธุรการ ซึ่งแก้ไขโดยวิธี "เพิ่มหมวกอีกใบ" ให้ศาลและอัยการ ซะ (เป็น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ด้วย, ศาลทหารด้วย)

2.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามบัญชีท้ายประกาศฯ

หนึ่งในนั้นคือ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา อยู่ใน ข้อ1

ผลของการโอนคดีให้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร

ก.ตีความถอยกลับ

กำหนดตัวบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาทหาร [4] ในมาตรา 5 ทวิ วรรคหนึ่ง "บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามกฎหมาย..."

มาตรา 5 ทวิ วรรคท้าย "ในกรณีที่มิใช่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 107 ถึงมาตรา 129 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ถ้าได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษและผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก แต่ถ้าผู้นั้นยังไม่พ้นโทษ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้"

หมายความว่า กรณีกระทำความผิดเกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์ 1.แม้ศาลต่างประเทศพิพากษาถึงที่สุดแล้ว สามารถนำมาฟ้องซ้ำได้ (?), 2.ตัดดุลยพินิจลงโทษน้อยกว่าหรือไม่ลงโทษเลย

ข.คุ้มครองทั้งพระบรมราชตระกูลไม่ว่ารัชกาลใดๆ ระวางความผิดทั้งตามประมวลกฎหมายอาญา (ธรรมดา) และ ประมวลกฎหมายอาญาทหาร โดยไม่ถือเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกัน

มาตรา 28 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายอาญาทหาร "อนึ่งถ้าธงที่มันสบประมาทนั้น เป็นธงเครื่องหมายสำหรับพระเกียรติยศของสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหสีก็ดี มกุฎราชกุมาร หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระราชโอรสพระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลใดๆ ก็ดี ท่านไม่ประสงค์จะให้เอาความในมาตรานี้ไปใช้ลบล้างอาญา ที่ท่านได้บัญญัติไว้สำหรับความผิดฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายและหมิ่นประมาท ดังได้กล่าวไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะอาญาสำหรับพระราชอาณาจักรสยามมาตรา 98 หรือมาตรา 100 นั้น"

ค.จำเลยคดี มาตรา 112 ห้ามแต่งทนาย

มาตรา 55 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติ่ม ตามมาตรา 3 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2511 [5]

ง.ห้ามอุทธรณ์ฎีกาในคดีอาญา ในสถานการณ์ไม่ปกติ (เช่น ประกาศกฎอัยการศึก)

มาตรา 61 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 [6]

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ในจุดนี้อาจคลายข้อสงสัย ที่ เราเห็นคดีความผิดมาตรา 112 ในยุครัฐประหาร 2519 ถึงยุคเปรม , ทั้งๆที่จำเลยเป็นพลเรือน เช่น คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ คดีหมายเลขดำที่ 35, 36, 37/ 2527 ศาลทหารกรุงเทพ ระหว่าง พนักงานอัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับพวก จำเลย ซึ่งคุณสุนัย จุลพงศธร เป็นทนายความจำเลย (ในสถานการณ์ปกติ) [7]

ต่อมา วันที่ 21 ตุลาคม 2519 , คณะรัฐประหาร เพิ่มโทษบทบัญญัติมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ1 โดยปรับโทษจากเดิม "จำคุกไม่เกินเจ็ดปี" [8] เพิ่มขึ้นเป็น "จำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" [9]

อัตราโทษนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

กล่าวได้ว่า "มาตรา 112" ประมวลกฎหมายอาญา ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นหนึ่งใน "ผลพวง" ของรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ ภายใต้บริบท "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กันชุกชุม" จากมาตรการ กีดกันหนักขึ้นเรื่อยๆ บีบฝ่ายต่อต้าน ขณะเดียวกัน บงการฝ่ายบ้าเลือดคลั่งเป็นสุนัข ให้ฆ่าห้ำหั่นกันอย่างป่าเถื่อนดั่งที่ปรากฎในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

รัฐบาลที่ยอมตนมุ่งกำราบประชาชน "จับเข้าคุก มาตรา112" ก็ต้องถูกมอดไหม้ (เสนีย์ ปราโมช, และชุดถัดๆมา , ชุด อภิสิทธิ์ , และรัฐบาลชุดนี้) ไปตามๆ กัน ในสถานะ "แพะ/จำเลย" ของ "ข้าฯ" คนใหม่ เช่น คำแถลงการณ์ของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ดังกล่าวข้างต้น.

เชิงอรรถ

  1. หยุด แสงอุทัย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประกายพรึก. 2548. หน้า 57.
  2. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก. 2544. หน้า 182.
  3. อ้างแล้วในเชิงอรรถ 2, หน้า 177.
  4. โดยดู ประมวลกฎหมายอาญาทหาร : http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb07/%bb07-20-9999-update.pdf
  5. โดยดู พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2511 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2511/A/123/1.PDF
  6. โดยดู พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/A/083/1415.PDF
  7. โดยดู สุนัย จุลพงศธร. บันทึกทนายความ : เบื้องหลังคดี ส.ศิวรักษ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สันติภาพ. 2528
  8. โดยดู พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 : http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb06/%bb06-20-2518-a0003u.pdf
  9. โดยดู ประมวลกฎหมายอาญา : http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb06/%bb06-20-9999-update.pdf

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker